ความเหลื่อมล้ำในสังคมที่เกิดจากนโยบายรัฐ (จบ)

ความเหลื่อมล้ำในสังคมที่เกิดจากนโยบายรัฐ (จบ)

การดำเนินการของรัฐบาลที่ออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในขณะนี้ นับได้ว่าเป็นการดำเนินการที่ตรงจุดมากสุด

ตั้งแต่ที่เคยมีมาตรการต่างๆในอดีต

การลงทะเบียนคนจนจะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนการช่วยเหลือคนจนผู้มีรายได้น้อยตั้งแต่เกิดจนตาย ทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้นอีกระดับหนึ่ง และเมื่อคุณภาพชีวิตดีขึ้น ภาระของสังคมก็จะลดลง งานของรัฐที่เคยมีค่าใช้จ่ายมหาศาลจากการป้องกันและปราบปรามปัญหาสังคมก็น่าจะลดลง

ในขณะเดียวกัน รัฐก็ต้องพยายามออกมาตรการเชิงป้องกันมากขึ้น อย่ารอให้ปัญหาเกิดขึ้นก่อนแล้วจึงเข้าไปแก้ไข การกระทำความผิดทั้งทางแพ่งทางอาญาที่เกิดขึ้นจำนวนมากนี้เชื่อว่าส่วนใหญ่เกิดจากสภาวะบีบคั้นทางสังคมที่ทำให้ไม่มีทางเลือกมากนัก จึงหันไปกระทำความผิดเพียงเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด แต่ผลนั้นกระทบกว้างไกลกับสังคมโดยรวม การแก้ปัญหาความยากจนโดยตรงเป็นการแก้ปัญหา และป้องกันการลุกลามของปัญหาจากรากเหง้าที่ตรงจุดที่สุด

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายอย่างที่รัฐต้องหันมามองว่าประชาชนในประเทศ ยังมีความเหลื่อมล้ำกันมากจากโครงการช่วยเหลือของรัฐ นโยบายรัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นกองทุนหมู่บ้าน และอีกหลายๆกองทุนก็ดี นโยบายรัฐในการให้นักเรียนนักศึกษาได้มีสิทธิกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาโดยไม่ได้พิจารณาฐานะทางเศรษฐกิจของแต่ละครอบครัวอย่างแท้จริงก็ดี โครงการนโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ทำให้ทุกคนมีสิทธิใช้บริการรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลรัฐฟรีทุกคน

ทั้งๆที่จำนวนมากมีฐานะทางครอบครัวดี หรือแม้กระทั่งโครงการบำนาญคนชรา ที่แจกเงินทุกคนที่มีอายุถึงเกณฑ์ที่จะได้รับเงิน โดยไม่ได้คำนึงถึงฐานะที่แตกต่างกันของผู้ได้รับสิทธิเช่นว่านั้นก็ดี เหล่านี้เป็นตัวอย่างของโครงการภาครัฐที่ช่วยสร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้นในสังคม

ถามว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

คำตอบก็คือ การที่รัฐเข้าไปนั้น บางครั้งเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น หลายหมู่บ้านมีศักยภาพที่จะเดินหน้าได้ด้วยตนเอง หลายกองทุนมีสมาชิกกองทุนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีช่วยตัวเองได้อยู่แล้ว ครอบครัวนักเรียนนักศึกษาจำนวนมากมีฐานะดีพอที่จะช่วยตัวเองและไม่เป็นภาระสังคม ผู้ชราทั้งประเทศก็ไม่ได้เป็นคนยากจนทั้งหมดที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ คนที่ใช้บริการประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือโครงการบัตรทองสามสิบบาทรักษาทุกโรคก็ไม่ได้เป็นคนที่ช่วยตัวเองไม่ได้ทั้งหมด

คำถามจึงกลับมายังรัฐว่า เมื่อพวกเขาเหล่านั้น ไม่ได้ตกอยู่ในสถานะที่ต้องการความช่วยเหลือ เพราะมีฐานะครอบครัวดีพอที่จะช่วยตัวเองได้อยู่แล้ว การที่รัฐเข้าไปเพิ่มเงินในกระเป๋าพวกเขาจึงไม่เป็นประโยชน์มากนัก การที่คาดหวังว่าถ้าเขามีเงินในกระเป๋ามากขึ้น จะทำให้เกิดการใช้จ่ายมากขึ้น เกิดการหมุนเวียนในตลาดมากขึ้นนั้น อาจไม่เป็นจริงทั้งหมดและอาจไม่เป็นจริงเลยก็ได้ แต่ผลที่เกิดขึ้นอาจนำไปสู่การใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นของฐานะ ที่รัฐผู้แจกเงินก็ควบคุมอะไรไม่ได้

สิ่งเหล่านี้จึงไม่ได้ลดช่องว่างระหว่างคนมีกับคนไม่มี เพราะทั้งคนมีและคนไม่มีก็ได้เพิ่มขึ้นเหมือนกันทั้งๆที่มีความจำเป็นต่างกัน แต่คนมีสามารถเอาส่วนเกินที่ได้รับจากรัฐไปทำประโยชน์หาดอกผลให้เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่คนไม่มี ได้แค่จุนเจือชีวิตให้อยู่รอด นโยบายแบบนี้ของรัฐจึงทำให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้นไปอีก

รัฐต้องหันกลับมาทบทวน ไม่ใช่ทุกหมู่บ้านจะต้องได้เงินสนับสนุนกองทุนหมู่บ้าน ไม่ใช่นักเรียนนักศึกษาทุกคนต้องได้รับเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ไม่ใช่ผู้ชราทุกคนที่อายุครบ 60 ปีต้องได้รับเงินบำนาญคนชรา ไม่ใช่ทุกคนที่รับการรักษาจากโรงพยาบาลรัฐจะต้องได้รับบริการฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

รัฐจะต้องแก้ปัญหาโดยตั้งคำถามใหม่ว่าเขาเหล่านั้นอยู่ในสถานะที่รัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือสนับสนุนหรือไม่ ถ้าเขาอยู่ในสถานะที่พึ่งตัวเองได้ รัฐก็ต้องให้เขาสร้างตัวด้วยความรู้ความสามารถของเขา ถ้าพวกเขาเติบโตด้วยตัวเองมากขึ้นเท่าไร ภาระรับผิดชอบให้การช่วยเหลือของรัฐก็น่าจะยิ่งลดลง และมีเงินมากพอที่จะไปช่วยคนยากคนจนคนที่ขาดแคลนจริงๆมากขึ้นเท่านั้น

ดีใจที่นโยบายประเภทเหมารวม ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำของรัฐบาลชุดก่อนๆ ไม่ถูกนำมาสานต่อหลายโครงการ แต่ยังมีอีกมากมายหลายนโยบายที่รัฐยังไม่ได้เข้าไปแก้

การขึ้นทะเบียนคนจนครั้งนี้น่าจะเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในนโยบายภาครัฐที่สำคัญ

เพราะ มิฉนั้น รัฐคงปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐเองนั่นแหล่ะที่ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำเสียเอง