การพัฒนาในเอเชีย : ถึงเวลา 'คิดให้ใหญ่' แล้วหรือยัง

การพัฒนาในเอเชีย : ถึงเวลา 'คิดให้ใหญ่' แล้วหรือยัง

การเติบโตอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และการลดความยากจนมากกว่าสองทศวรรษ ทำให้เอเชียกลายเป็นภูมิภาคที่มีรายได้ ระดับปานกลางใหญ่ที่สุด

 ความเจริญรุ่งเรืองที่กำลังทะยานสูงขึ้นทำให้รัฐบาลต่างๆ ในภูมิภาคต้อง ‘คิดให้ใหญ่’ เกี่ยวกับการพัฒนา เหมือนอย่างเช่นที่จีนกำลังทำอยู่ผ่านความคิดริเริ่มเส้นทางสายไหม ‘วัน โรด วัน เบลท์’

การที่เอเชียมีสถานะเป็นภูมิภาคที่มีรายได้ระดับปานกลางมีส่วนสำคัญอย่างมากทำให้เป็นทั้งแหล่งเงินทุนที่ใหญ่ขึ้น (ด้านอุปทาน) และในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ต้องการเงินทุน (ด้านอุปสงค์) สำหรับโครงการการพัฒนาต่างๆ อย่างมากด้วยเช่นกัน จากสถานการณ์ดังกล่าวนี้จะทำให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคจะต้องเพิ่มความพยายามในการลดปัญหาความยากจนและสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบยั่งยืนและเข้มแข็งเพื่อประโยชน์โดยรวม

ในด้านอุปทาน ระดับรายได้ของแต่ละประเทศที่สูงขึ้นทำให้เงินออมภายในประเทศขยับสูงขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลต่างๆ ในภูมิภาคสามารถดูดซับเงินทุนและเข้าถึงสินเชื่อเชิงพาณิชย์สำหรับการลงทุนเพื่อการพัฒนาได้ 

นอกจากนั้น รัฐบาลต่างๆ ยังมีทางเลือกมากขึ้นในการใช้จ่ายเงินลงทุนผ่านผู้จัดหาแหล่งเงินทุนที่กำเนิดขึ้นใหม่ ผู้บริจาคเงินหน้าใหม่ รวมถึงธนาคารเพื่อการพัฒนา 2 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย ซึ่งจีนได้เป็นผู้นำในการจัดตั้ง และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่ของกลุ่มประเทศ บริกส์ กำลังกลายเป็นผู้เล่นใหม่ในเวทีของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งก่อนหน้านั้น ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี และธนาคารโลกมีบทบาทหลักในการให้กู้เพื่อการพัฒนาในภูมิภาค

ในด้านอุปสงค์ เอเชียซึ่งกำลังเติบโตเป็นผู้มีรายได้ระดับปานกลางได้เรียกร้องให้มีการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคที่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น การบริการสาธารณะที่ดีขึ้น โครงการประกันสังคมที่ครอบคลุมมากขึ้น รวมทั้งมีธรรมาภิบาลที่ดีและสิ่งแวดล้อมที่สะอาด

ในขณะที่อุปสงค์ดังกล่าวจะเพิ่มปริมาณสูงขึ้น ความท้าทายด้านการพัฒนาต่างๆ ก็ยิ่งทวีความซับซ้อนและต้องการการจัดการมากไปกว่าโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาแบบเดิมๆ ดังเช่นทศวรรษที่ผ่านๆ มา

การพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ซึ่งช่วยกระตุ้นการเติบโตและลดความยากจน จะยังคงเป็นหนึ่งในลำดับการพัฒนาที่สำคัญที่สุด และในขณะที่การจัดหาแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นจะช่วยทำให้ช่องว่างในเอเชียด้านคมนาคมขนส่ง พลังงาน การสื่อสารคมนาคม และโครงสร้างพื้นฐานแคบลง แต่ภูมิภาคยังไม่สามารถเชื่อมช่องว่างนั้นได้แนบสนิท 

เอดีบีได้ประมาณการว่าภูมิภาคต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานประมาณ 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี เพื่อรักษาระดับการเติบโตที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคได้ใช้จ่ายเพียงแค่ครึ่งของการประมาณการดังกล่าวเท่านั้น ในปี 2015 ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและแปซิฟิกได้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานรวมกันทั้งหมด 881 พันล้านเหรียญสหรัฐ

เหตุที่ไม่สามารถลงทุนโครงสร้างพื้นฐานได้เต็มที่ เนื่องจากโครงการการพัฒนาต่างๆ ยังไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะสามารถดึงเงินลงทุนจากภาคเอกชนได้ ดังจะเห็นได้จากการดำเนินโครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนล่าช้าในหลายประเทศของเอเชีย

บทบาทดั้งเดิมของธนาคารเพื่อการพัฒนาที่มุ่งเน้นไปที่การจัดสรรเงินทุนให้แก่ลูกค้าภาครัฐกำลังเปลี่ยนไป แทนที่จะจัดสรรเงินทุนเหมือนแต่ก่อน ธนาคารเหล่านี้จะต้องใช้เงินทุนของตนเพื่อให้แน่ใจว่าเงินออมของภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะถูกใช้ลงทุนภายในเอเชียให้ได้ประโยชน์สูงสุดแทนที่จะใช้สำหรับภายนอกภูมิภาค 

ทั้งนี้ เพื่อรักษาบทบาทที่สอดคล้องกับบริบทของภูมิภาค ผู้ให้กู้ยืม(ที่มีอยู่แล้ว)จะต้องทำหน้าที่หนักมากขึ้นในการระดมเงินทุนสำหรับการพัฒนาจากภาคเอกชน เช่น การช่วยเตรียมความพร้อมการร่วมทุนที่มีศักยภาพ และการหาวิธีจัดการแก้ปัญหาความซับซ้อนในการพัฒนาที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยใช้เงินทุนของตนที่มีอยู่ กอรปกับองค์ความรู้และประสบการณ์ที่กว้างขวาง บทเรียนจากการประเมิณโครงการ และวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดที่ได้มีการบันทึกไว้มาช่วยในการดำเนินการดังกล่าว

ทั้งองค์ความรู้และเงินทุนจำนวนมากเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่าประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียจะไม่ติดกับดักสถานะรายได้ปานกลาง แนวคิดเชิงเศรษฐศาสตร์นี้ไม่อาจโต้แย้งได้ว่าเมื่อประเทศต่างๆ สามารถก้าวขึ้นเป็นประเทศรายได้ระดับกลางประเทศเหล่านั้นอาจติดอยู่ในสถานะระดับนี้ เนื่องจากไม่สามารถแข่งกับประเทศที่มีค่าจ้างและรายรับต่ำ หรือประเทศที่ประชากรมีทักษะขั้นสูงและรายรับสูงได้

ธนาคารโลกจัดให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง นั่นหมายความว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าทายและทะเยอทะยานดังที่กล่าวไป การวิจัยและประสบการณ์ของประเทศไทยสามารถนำสู่หนทางที่จะช่วยให้ประเทศก้าวข้ามจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลางได้ โดยปัจจัยที่นำไปสู่หนทางการก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เป็นมิตร แหล่งพลังงานที่พร้อมและราคาเหมาะสม นวัตกรรม หน่วยงานรัฐที่เข้มแข็ง และการปกครองโดยหลักธรรมภิบาล

ขณะนี้ได้มีความคืบหน้าในการเตรียมรับมือกับความท้าทายเหล่านี้แล้ว แต่ยังคงมีประเด็นสำคัญสำหรับเอเชียที่รัฐบาลและหุ้นส่วนการพัฒนายังต้องทำความเข้าใจมากขึ้นอีก การคิดให้ใหญ่ขึ้น แนวการพัฒนาในระยะยาว และการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน สิ่งเหล่านี้จะทำให้ประเทศในภูมิภาคเผชิญกับความท้าทายดังกล่าวได้

..............................................

เอดีบี ร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดงานสัมนา เพื่อการเรียนรู้ร่วมกันกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2560 ในประเทศไทย ในหัวข้อ ความท้าทายและโอกาสของประเทศรายได้ปานกลางในเอเชีย

..............................................

Marvin Taylor-Dormond

ผู้อำนวยการแผนกการประเมิณผลอิสระ ประจำสำนักงานใหญ่เอดีบี