การวิจัยร่วม ไทย-เวียดนาม

การวิจัยร่วม ไทย-เวียดนาม

กว่า 10 ปีที่โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

 ดำเนินการให้ทุนปริญญาเอก แก่นักศึกษาประเทศเพื่อนบ้านภายใต้ “โครงการไตรภาคี” ระหว่าง สกว. กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยและสถานเอกอัครราชทูตสวีเดน ซึ่งกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียน 

ประกอบกับประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน คปก.จึงเล็งเห็นความสำคัญด้านการเชื่อมโยงด้านการศึกษาในภูมิภาค เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนนักวิจัย และองค์ความรู้ อันจะนำมาซึ่งเทคโนโลยีที่ใช้พัฒนาด้านต่าง ๆ ของอาเซียน จนเกิดยุทธศาสตร์ที่ 2 “อาเซียน” ในการดำเนินงานของ คปก. ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2560-2579) ภายใต้ความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

คปก. เปิดรับสมัครทุนปริญญาเอกสำหรับนักศึกษาอาเซียน (คปก.-อาเซียน) เป็นครั้งแรกในปี 2560 ซึ่งนักศึกษาสามารถเลือกหลักสูตร มหาวิทยาลัย รวมถึงอาจารย์ที่ปรึกษาที่มีศักยภาพสูงตามเกณฑ์ คปก. ได้เอง ทุนดังกล่าวช่วยยกระดับหลักสูตรปริญญาเอกในประเทศไทยให้เป็นหลักสูตรนานาชาติที่มีมาตรฐานทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ 

ซึ่ง คปก.ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ทุนแก่นักศึกษาอาเซียนที่ศึกษาอยู่ในประเทศไทย และต่างประเทศ โดยประเทศแรกคือสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักศึกษาและคณาจารย์เป็นอย่างดี

ล่าสุด . ดร.อาทิวรรณ โชติพฤกษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ คปก. ได้นำคณะเจ้าหน้าที่เดินทางไปประชาสัมพันธ์ทุน คปก.-อาเซียน ณ เมืองฮานอย และเมืองโฮจิมินห์ซิตี้ ประเทศเวียดนาม โดยได้ร่วมหารือกับ Hanoi University of Science and Technology (HUST)และ Ministry of Science and Technology (MOST) รวมถึง Ho Chi Minh City University of Technology (HCMUT) เกี่ยวกับความร่วมมือในการให้ทุนแก่นักศึกษาชาวเวียดนาม ภายใต้ยุทธศาสตร์ คปก.-อาเซียน ตลอดจนประชาสัมพันธ์ทุนปริญญาเอกไตรภาคีร่วมกับ TICA และสวีเดน แก่ผู้บริหาร คณาจารย์ และนักศึกษาที่สนใจ ซึ่งมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งจะช่วยประชาสัมพันธ์ทุนดังกล่าวแก่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่อไป 

อีกทั้งยังเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับประเทศไทยในระยะสั้น (3-4 เดือน) หรือศึกษาระดับปริญญาโท ซึ่งอาจเป็นกระบวนการเริ่มต้นที่น่าจะได้รับความสนใจจากนักศึกษาจำนวนมากที่กำลังศึกษาระดับปริญญาตรีในขณะนี้ 

นอกจากนี้ HUST ยังเปิดให้เข้าเยี่ยมชมหน่วยวิจัยใน School of Environmental Science and Technology (INEST) และ INAPRO โดย INEST จะเน้นการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมทางน้ำ และการผลิตสาหร่ายเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์และพลังงานทางเลือก ขณะที่ INAPRO ได้รับทุนสนับสนุนหลักจากประเทศเยอรมนี มีเครื่องมือวิจัยที่ทันสมัย และเป็นหน่วยวิจัยที่ขยายจากการวิจัยขั้นพื้นฐานมาเป็นระดับอุตสาหกรรมขนาดเล็ก 

โดยงานวิจัยหลักเน้นการแปรรูปผลไม้ พัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการผลิตผลไม้อบแห้ง รวมถึงการเผยแพร่องค์ความรู้ดังกล่าวให้แก่เกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อย ปัจจุบัน INAPRO เน้นการพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรหลักของเวียดนาม เช่น ลิ้นจี่ น้ำผึ้ง เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และวางแนวทางจะผลิตเวชสำอางอื่น ๆ ด้วย

ส่วนที่ HCMUT คปก. ได้ร่วมหารือกับคณาจารย์ ผู้บริหาร และมีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับนักศึกษาที่สนใจอย่างใกล้ชิด แม้นักศึกษาส่วนใหญ่จะไม่คุ้นเคยกับทุน คปก. นัก แต่ก็ให้ความสนใจและสอบถามเกี่ยวกับทุนอย่างมาก นอกจากนี้ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย และให้ลิ้มลองอาหารในโรงอาหาร ซึ่งนักศึกษาและอาจารย์รับประทานเป็นประจำ ทำให้ คปก. มองเห็นแนวทางในการร่วมมือกับ HCMUT ในอนาคตได้

ในโอกาสนี้ คปก. ยังได้เดินทางไปหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในการให้ทุนปริญญาเอกกับ Department of International Cooperation, MOST ซึ่งเคยมีความร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย ทั้งด้านการเกษตร เทคโนโลยีวัสดุศาสตร์ เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว แต่การติดต่อและความร่วมมือในระยะกว่า 5 ปี ที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากประเทศไทยเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยครั้ง 

อย่างไรก็ตาม MOST และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย เล็งเห็นถึงความสัมพันธ์ในความร่วมมือดังกล่าวจึงได้ร่างบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนนักวิจัยไทยและเวียดนามเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามภายในระยะเวลาอันใกล้

ปัจจุบัน MOST มีบักทึกข้อตกลงกับประเทศต่าง ๆ ราว 40 ประเทศ และอยู่ระหว่างการคัดเลือกโครงการเพื่อรับทุน joint research program ภายใต้การสนับสนุนของ MOST จีน ญี่ปุ่น และเยอรมนี รวม 3 ประเภท คือ (1) การวิจัยพื้นฐาน ให้ทุนโครงการวิจัยขนาดเล็กร่วมกับ NAFOSTED 

(2) การวิจัยและพัฒนา ให้ทุนวิจัยร่วมกับอุตสาหกรรม บริหารงานโดย Department of International Cooperation, MOST โดยให้ทุนประมาณ 1 ปี แก่นักวิจัยของทั้งสองฝ่ายที่มีบันทึกข้อตกลงร่วมกัน 

และ (3) การวิจัยนวัตกรรม ผ่านทุน “Nation Technology Innovation Fund” รวมทั้งสนับสนุนทุนการศึกษาระดับปริญญาโทและเอกทุกสาขา รวม 911 ทุน และทุนพัฒนาบุคลากรภายในองค์กรอีก 2,395 ทุน โดยมีงบประมาณฝึกอบรมปีละ 150,000-200,000 เหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ MOST ได้แสดงความประสงค์ที่จะร่วมมือกับ สกว. ในการสนับสนุนการวิจัยร่วมระหว่างนักวิจัยไทยและเวียดนาม การแลกเปลี่ยนนักวิจัยและบุคลากรระยะสั้น รวมถึงการจัดประชุมวิชาการร่วมกัน โดยเสนอความเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือ 2 แนวทาง คือ 

1) การลงนามร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าจะครอบคลุมถึงการสนับสนุนความร่วมมือระหว่าง MOST และ สกว. ด้วย 

และ 2) การทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับ สกว. ซึ่งทั้งสองแนวทางจะช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของทั้งสองประเทศด้วย

การประชาสัมพันธ์ทุน คปก.-อาเซียนในครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเวียดนาม แต่ คปก. ยังได้เรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรม อีกทั้งความต้องการด้านความรู้และเทคโนโลยีของชาวเวียดนาม ซึ่งจะนำไปสู่ความเชื่อมโยงกับนักวิจัยไทย เพื่อช่วยเหลือในด้านที่เวียดนามยังขาดแคลน และกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือใหม่ ๆ ระหว่างนักวิจัยและมหาวิทยาลัยไทยกับเวียดนามด้วย

...................................

ลันธริมา พรมมิ

เจ้าหน้าที่บริหารโครงการ คปก.