เสรีภาพกับความรับผิดชอบสื่อในศตวรรษที่ 21 (จบ) :

เสรีภาพกับความรับผิดชอบสื่อในศตวรรษที่ 21 (จบ) :

ให้ประชาชนช่วยกำกับสื่อ

ตลอดหลายตอนที่ผ่านมาผู้เขียนพยายามเสนอว่า กลไกกำกับสื่อไม่ได้มีแต่เครื่องมือทื่อๆ อย่าง “กฎหมาย” เท่านั้น และที่จริงก็ไม่ควรใช้กฎหมายเป็นหลักด้วยซ้ำถ้าอยากยกระดับจรรยาบรรณสื่อให้ดีขึ้น (คือไม่ใช่เรื่องการกระทำที่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว) เพราะกฎหมายสุ่มเสี่ยงที่จะกระทบกับความเป็นอิสระของสื่อ และเราก็ได้เห็นตัวอย่างนับไม่ถ้วนของการที่กฎหมายถูกใช้ในการปิดปากและกลั่นแกล้งสื่อ เลยไปถึงคนธรรมดาที่ไม่ใช่สื่อมืออาชีพ

กลไกอื่นนอกเหนือจากกฎหมายที่เราน่าจะขบคิดกันมากขึ้น เพื่อยกระดับการกำกับสื่อ ผลักดันให้สื่อมีจรรยาบรรณมากขึ้น ได้แก่ กลไกการกำกับดูแลร่วมกัน (co-regulation), กลไกการกำกับดูแลกันเอง (self-regulation) โค้ดคอมพิวเตอร์ (code) และการกำกับโดยธรรมเนียมปฏิบัติทางสังคม (norms)

ผู้เขียนพูดถึงกลไกกำกับสื่อทั้งหมดพอสังเขปไปแล้ว วันนี้อยากพูดถึงกลไกสุดท้ายคือ “ธรรมเนียมปฏิบัติ” หรือ social norms ซึ่งถ้าทำดีๆ ก็อาจมีประสิทธิภาพสูง เนื่องจากอาศัย “พลังรวมหมู่” ของประชาชนในการกำกับ

ในฐานะคนเสพสื่อ เราบ่นกันไม่เว้นแต่ละวันเรื่องสื่อไร้จรรยาบรรณ ตั้งแต่การลอกข่าวคนอื่นโดยไม่ให้เครดิต เจตนาพาดหัวข่าวแบบบิดเบือนเพื่อ ‘เสี้ยม’ และก่อให้เกิดความเข้าใจผิด การลิดรอนสิทธิความเป็นส่วนตัวของแหล่งข่าวจนน่าเกลียด การตั้งใจกุเรื่องเท็จหรือ “ข่าวปลอม” ซึ่งไม่มีมูลความจริงใดๆ เลย ไม่นับปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย

เรามักจะบ่นเรื่องสื่อกันในกรุ๊ปไลน์ (Line แชทยอดนิยมที่คนไทยใช้มากที่สุด) เฟซบุ๊ค พันทิป โซเชียลมีเดียอื่นๆ และระหว่างที่คุยกันบนโต๊ะอาหาร แต่ถ้าเราจะยกระดับ “เสียงบ่น” ให้มีอิทธิพลต่อสื่อ ผลักดันให้สื่อปรับปรุงจรรยาบรรณของตัวเองจริงๆ ไม่ใช่น้ำเซาะทรายหรือเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา เราก็จะต้องออกแบบ “กลไก” ที่รวบรวมและจัดการ “เสียงบ่น” ของประชาชนให้มีพลังมากกว่าเดิม

ในแง่นี้ ผู้เขียนอยากเสนอไอเดียสั้นๆ สี่ไอเดียที่คิดว่า ควรจะมีใครทำ ถ้าทำแล้วจะช่วยสร้างแรงผลักดันให้สื่อไทยมีจรรยาบรรณดีขึ้น และผู้เขียนยินดีช่วยทุกทางที่ทำได้ ถ้ามีใครอยากทำขึ้นมาจริงๆ

ผู้เขียนจะอธิบายแต่ละไอเดียให้ชัดที่สุด ตั้งแต่แนวคิด ประโยชน์ และวิธีทำงาน ประเด็นเดียวที่จะไม่พูดถึง คือ แบบจำลองทางธุรกิจ (business model) เนื่องจากมีรายละเอียดมาก ผู้เขียนเชื่อว่าคนที่สนใจหยิบไอเดียเหล่านี้ไปใช้น่าจะสามารถศึกษาเรื่องวิธีหารายได้และความยั่งยืนทางการเงิน เพราะเชื่อว่าในเมื่อไอเดียเหล่านี้ตอบโจทย์สังคม ก็น่าจะมีวิธีสร้างมูลค่าได้

1. เว็บ/แอพแฉ “สื่อขี้ขโมย”

แนวคิด ฐานข้อมูลที่รวบรวมกรณี “ขโมยข่าว” ของสื่อต่างๆ ในไทย (ลอกเนื้อข่าวของคนอื่นมาใช้เอง โดยไม่ให้เครดิตต้นทาง) แบ่งตามค่ายสื่อ พร้อมข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ (เช่น screen capture) โดยอาจแบ่งเป็นระดับต่างๆ ตามระดับความ “น่าเกลียด” ของการลอก เช่น ลอก 100% = น่าเกลียดสุด ลอก 80% แล้วดัดแปลงบางส่วนเป็นสำนวนตัวเอง = น่าเกลียดรองลงมา เป็นต้น

กรณีขโมยข่าวทุกชนิดทุกช่องทางควรเปิดให้ประชาชนคนเสพสื่อแจ้งเข้ามา ผ่านเพจเฟซบุ๊ค อีเมล ฯลฯ

นอกเหนือจากเป็นฐานข้อมูลเผยแพร่กรณี “ขโมยข่าว” แล้ว เว็บหรือแอพนี้ควรติดตาม “การแก้ไข” ของสื่อที่ขโมยข่าวด้วย เช่น เมื่อถูก “แฉ” แล้ว สื่อนั้นๆ มีการแก้ไขเนื้อข่าว ให้เครดิตต้นทาง พร้อมทั้งตีพิมพ์ข้อความขอโทษหรือไม่ ภายในเวลากี่วัน เพื่อร่วมผลักดันให้สื่อแสดงความรับผิดชอบ

พอครบปีก็อาจจัดงานแจกรางวัล เช่น “สื่อขี้ขโมยแห่งปี” (ค่ายที่มีการรายงานเข้ามาว่า “ขโมยข่าว” มากที่สุด) และ “สื่อสำนึกผิดเร็วสุดแห่งปี” ( จากสถิติตลอดปีที่รวบรวมได้ และเชิญชวนให้สื่อและสมาคมสื่อต่างๆ มาทำข่าว

ประโยชน์ : ประชาชนได้รับรู้อย่างต่อเนื่องว่าสื่อค่ายไหนมีนิสัย “ขี้ขโมย” ขนาดไหน มีส่วนร่วมในการรายงานกรณีเหล่านี้ให้เป็นฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ ตลอดจนสร้างแรงผลักดันให้สื่อเลิกขโมยข่าวของคนอื่น

ถ้าเรามีฐานข้อมูลนี้ นักวิชาการสื่อหรือใครก็ตามที่สนใจเรื่องจรรยาบรรณสื่อ ก็สามารถเข้ามาใช้ข้อมูลของฐานข้อมูลนี้ในการทำวิจัย หรือการศึกษาต่างๆ ได้ แทนที่จะอาศัยการคิดไปเอง หรือหลักฐานแวดล้อม “เขาว่ากันว่า” แบบที่ผ่านๆ มา

การออกแบบเว็บหรือแอพนี้ สามารถใช้โค้ดให้มีบทบาทได้ด้วย เช่น โค้ด bot ให้ “วิ่ง” ไปตามเว็บสื่อต่างๆ (หรือขอความร่วมมือจาก Google ในฐานะ “สารบัญ” ของเน็ต) เพื่อประมวลผลอัตโนมัติออกมาว่า เนื้อหาของสื่อค่ายไหนเหมือนกันบ้าง โดยใช้ข้อมูล timestamp (วัน-เวลาตีพิมพ์) ของเว็บต่างๆ ในการค้นหาว่าสื่อค่ายไหนเป็น “ต้นทาง” ที่แท้จริง แล้วค่อยมาดูว่า บรรดาค่ายอื่นที่ลอกเนื้อหาไปนั้นค่ายไหน “ลอก” เฉยๆ (คือให้เครดิตต้นทาง) ค่ายไหนเข้าข่าย “ขโมย” (ไม่ให้เครดิตต้นทาง)

อย่างไรก็ดี การใช้โค้ดช่วยการหาตัวสื่อขี้ขโมย ควรเป็นส่วนเดียวเท่านั้นในการทำงานของเว็บ/แอพในไอเดียนี้ เนื่องจากสื่อหลายค่ายวันนี้ค่อนข้าง “เนียน” ในการขโมยข่าว คือไม่ได้ลอกเนื้อหามาตรงๆ ทั้งดุ้น แต่มีการดัดแปลงบางส่วนก่อน ดังนั้น bot วิ่งหาข่าวจึงต้องฉลาดกว่าการหาเนื้อหาที่เหมือนกัน 100% และต้องเปิดให้ประชาชนคนอ่านข่าวได้มีส่วนร่วมด้วย

ตัวอย่างที่ใกล้เคียง https://www.plagiarismtoday.com/, https://www.copyscape.com/, www.grammarly.com , http://www.ithenticate.com/

2. Hall of Shame สื่อไร้จรรยาบรรณ

แนวคิด : คล้ายกับไอเดียเว็บ/แอพในข้อ 1. แต่เน้นสื่อที่ทำผิดจรรยาบรรณข้ออื่นๆ เช่น ละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว พาดหัวบิดเบือน เป็นต้น

ประโยชน์ : คล้ายข้อ 1.

วิธีทำงาน : เว็บ/แอพนี้ควรพยายามจำกัดอคติของคนทำเว็บ (เช่น เลือกที่รักมักที่ชัง มีแนวโน้มจะเชื่อว่าสื่อที่เชียร์ฝ่ายที่ฉันชอบคือ “สื่อคุณภาพ” สื่อที่เชียร์ฝ่ายที่ฉันเกลียดคือ “สื่อไร้คุณภาพ” ทุกเรื่องทุกกรณี ทั้งที่ความจริงอาจไม่ใช่) ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ ด้วยการกำหนดและเลือก “ประเภท” ของปัญหาการขาดจรรยาบรรณของสื่อสำหรับเว็บ/แอพนี้ ให้จำกัดอยู่เฉพาะประเด็นที่สามารถเป็นภววิสัย (objective) ได้มากที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาอคติของคนทำเว็บหรือประชาชนคนรายงาน

3. รู้ทันข่าวลือ/ข่าวลวง

แนวคิด เว็บไซต์และแอพ และควรตั้งเป็นบัญชีผู้ใช้ในไลน์ ตั้งทีมเฉพาะกิจมาสืบเสาะสอบสวนให้ได้ข้อเท็จจริงว่า ฟอร์เวิร์ดเมลและ “ข่าวลือ” ต่างๆ ที่นิยมส่งกันในแชทไลน์แต่ละวันนั้น น่าจะมีส่วน “จริง” หรือ “เท็จ” มากน้อยเพียงใด โดยควรประสานกับ Naver บริษัทเจ้าของไลน์ เพื่อร่วมมือกันทำงาน

ตัวอย่างที่ใกล้เคียง http://www.snopes.com, http://bsdetector.tech/, ฟังก์ชั่นรายงาน “ข่าวปลอม” ของเฟซบุ๊ก