ปรับครม.พลเรือน 'ทางลง'รัฐบาลคสช.?

ปรับครม.พลเรือน  'ทางลง'รัฐบาลคสช.?

กระแสข่าวการปรับครม.“ประยุทธ์5” คึกคักมาเป็นระยะตั้งแต่ครบรอบ 3 ปีรัฐประหารเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

ข่าววงในบอกว่าการปรับครม.จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนส.ค.ในวาระครบ 3 ปีคณะรัฐมนตรี ตามที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งครม.ประยุทธ์ 1 เมื่อวันที่ 30 ส.ค.2557

แต่ขณะเดียวกันเพื่อความต่อเนื่องของงานสำคัญในบ้านเมือง การปรับครม.จึงอาจเกิดขึ้นหลังพระราชพิธี” ในเดือนต.ค.2560

ข่าวบอกว่าอย่างน้อย 1 ตำแหน่งที่จะมีการ“ปรับออก” คือพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อเปิดทางให้ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ส่งคนเข้ามาบริหารกระทรวง

แต่ฟังแล้วดูไม่ค่อยน่าเชื่อนัก เพราะยังไม่เห็นเหตุผลที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะปรับเอาเพื่อนร่วมรุ่นตท.12 และจปร.23 คนนี้ออกจากตำแหน่ง

โดยเฉพาะการปรับออกด้วยเหตุผลดังที่ว่ายิ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะเท่ากับเป็นเหมือนการไม่ไว้หน้า

เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า พล.อ.ฉัตรชัย และรองนายกฯสมคิด คิดต่างขั้ว มองต่างมุมอยู่พอสมควร

อีกทั้งถ้าจำกันได้ในการปรับครม.หลายตำแหน่ง เมื่อกลางเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว ก็ปรากฏชื่อ พล.อ.ฉัตรชัย แบบเดียวกันนี้ แต่สุดท้ายก็ยังอยู่ยงคงกระพันในตำแหน่งเดิม

ขณะเดียวกันอีกเหตุผลที่ถูกเอ่ยถึงและพอรับฟังได้ ก็คือการปรับครม.ให้ดูเป็นรัฐบาลพลเรือน เพื่อให้ภาพลักษณ์การทำงานช่วง 10 เดือนสุดท้ายดูละมุนมากขึ้น

เรื่องนี้มีเหตุผลสนับสนุนจากผลสำรวจความเห็นประชาชนเมื่อเดือนส.ค.2559 ในคราวครบ 2 ปีครม.มีเสียงหนุนให้ปรับครม.เศรษฐกิจ เพราะไม่มีผลงาน ขณะเดียวกันก็มีความเห็นสนับสนุนให้ลดสัดส่วนทหารในคณะรัฐมนตรี

แต่อย่างไรตามการปรับครม.ที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ คงไม่สามารถปรับรัฐมนตรีสายทหารออกได้ทั้งหมด เพราะทุกวันนี้เท่าที่นับนิ้วดู จากคณะรัฐมนตรี 34 คน มีรัฐมนตรีสายทหารอยู่มากถึง 14 ตำแหน่ง

ที่สำคัญอดไม่ได้ที่จะมีการตั้งข้อสังเกตและมีคำถามถึงเหตุผล ในการสร้างบรรยากาศในช่วงท้ายของรัฐบาล ว่าเพื่อเป็นการเตรียมทางลง หรือเพื่อปูทางสู่ถนนการเมืองอย่างไรหรือไม่ ?