2ขั้วเซ็นเซอร์ทีวี 'เอเยนซี-สินค้า'รับเคราะห์

2ขั้วเซ็นเซอร์ทีวี  'เอเยนซี-สินค้า'รับเคราะห์

ความเป็นมาการเซ็นเซอร์โฆษณา เกิดขึ้นในปี 2518 ทำหน้าที่โดยคณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์

 (กบว.) เพื่อตรวจพิจารณาเนื้อหาของรายการประเภทต่างๆ เช่น รายการทั่วไปละคร ภาพยนตร์ และโฆษณา

จนเมื่อ กบว.ถูกยกเลิกในปี 2535 มาถึงปี 2537 ได้ตั้งคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ (กกช.) ขึ้นมาทำหน้าที่กำกับดูแลสถานีวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งกำหนดให้แต่ละแห่ง ควบคุมการตรวจพิจารณาเนื้อหาของรายการประเภทต่างๆ และโฆษณากันเอง 

แนวทางการพิจารณาเซ็นเซอร์โฆษณาก่อนออกอากาศทางฟรีทีวี จึงเป็นการรวมกลุ่มกำกับดูแลกันเอง ของผู้ประกอบการฟรีทีวี ที่ประกอบด้วย ช่อง 3, 5,7,9 สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย และสมาคมวิชาชีพสื่อ ทำหน้าที่เซ็นเซอร์โฆษณาทีวี ในนาม คณะกรรมการตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณา มาตั้งแต่ปี 2537 ถึงปัจจุบัน หรือกว่า 23 ปี 

สถิติงานเซ็นเซอร์โฆษณาทีวี ภายใต้คณะกรรมการฯ ก่อนมีทีวีดิจิทัล อยู่ที่ราว 8,000 ชิ้นงานต่อปี ปัจจุบันอยูที่ 18,000 ชิ้นงานต่อปี เพิ่มขึ้นจากธุรกิจเอสเอ็มอี ใช้สื่อทีวีเป็นช่องทางโฆษณามากขึ้น ส่วนงานที่ไม่ผ่านเซ็นเซอร์มีเพียงปีละ 1-2 ชิ้นเท่านั้น

การเปลี่ยนแปลงสำคัญของการเซ็นเซอร์โฆษณาล่าสุด วันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา ช่อง และช่อง 7 ที่ร่วมกันจัดตั้ง ชมรมตรวจพิจารณาภาพยนต์โฆษณาทางวิทยุโทรทัศน์ (ประเทศไทยประกาศใช้ระบบเซ็นเซอร์ชื่อ My Censor ที่ช่อง 7 ได้ลงทุนพัฒนาระบบกว่า 20 ล้านบาท มาเป็นมาตรฐานตรวจเซ็นเซอร์โฆษณา ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ โดยส่งเอกสารและชิ้นงานโฆษณาผ่านเว็บไซต์กลางช่วงเช้า คณะกรรมการชมรมฯพิจารณาช่วงบ่าย หากไม่มีปัญหาต้องแก้ไข จะดำเนินการเสร็จภายใน 1 ชั่วโมง ขณะที่ระบบเดิมเป็นการส่งเอกสารและชิ้นงานโดยบุคคล หากไม่มีปัญหาใช้เวลาพิจารณาราว 1 วัน 

การแยก ขั้ว เซ็นเซอร์โฆษณาทีวี โดยมี ช่อง 3 เป็นแกนนำ ขั้วเดิม และ My Censor ระบบใหม่นำโดย “ช่อง 7” โดยทั้ง 2 ช่องหลัก “ไม่รับรองผล” เซ็นเซอร์โฆษณาระหว่างกัน คนที่ตกที่นั่งลำบากวันนี้ กลายเป็นเอเยนซีและสินค้า

ในกรณีที่ต้องการลงโฆษณาทั้งช่อง 3 และช่อง 7  ซึ่งสัดส่วนกว่า 80% ลงโฆษณาทั้ง 2 ช่อง เอเยนซีและสินค้าต้องมีต้นทุนเพิ่ม จากการแยกชิ้นงานส่งตรวจ 2 กองเซ็นเซอร์ หากทั้ง 2 กอง มีดุลพินิจพิจารณาเนื้อหาโฆษณาที่ต่างกัน อาจต้องใช้เวลามากขึ้น หากทั้ง 2 กองสั่งแก้ไขเนื้อหาโฆษณาให้เป็นไปตามดุลพินิจกรรมการ ในแง่การแก้งานโฆษณาทีวี ต่อชิ้นมีต้นทุนเพิ่มหลักแสนบาท หากต้องแก้ทั้ง 2 ชิ้น ก็นับเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 2 เท่า

แม้วันนี้ทั้ง 2 ขั้วอำนาจฟรีทีวี ช่อง 3 และช่อง 7 ยังเป็นสื่อที่ เอเยนซีและสินค้า “ต้อง” ใช้งบโฆษณา เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มแมส

แต่ต้องยอมรับว่า ช่วงที่ผ่านมา ทั้งสื่อออนไลน์ และทีวีดิจิทัลช่องใหม่เรทติ้งดี เข้ามาเป็น “ตัวเลือก” เขย่าบัลลังก์ผู้นำฟรีทีวีพอสมควร เพราะแม้ยังคงครองตำแหน่ง ราคาโฆษณาสูงสุดไว้ได้ แต่ก็ไม่สามารถปรับราคาโฆษณาได้ หลังจากทีวีดิจิทัล เริ่มออนแอร์ และเข้ามาแย่งแชร์ผู้ชม

ในยุคที่สื่อออนไลน์ กลายเป็นสื่อทรงอิทธิพล ในฐานะ“สื่อหลัก” ที่เข้าถึงผู้บริโภค ไม่ต่างจากสื่อแมสอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่และวัยทำงาน ที่ปัจจุบันเสพสื่อออนไลน์เป็นหลัก

เมื่อทั้งตัวเลือกสื่อที่เพิ่มขึ้น และภาระต้นทุนที่ต้องแบกรับ จากจุดเริ่มต้น แยก 2 ขั้วกองเซ็นเซอร์โฆษณาทีวี ก็อาจนำไปสู่ “เลือกช่อง” ลงโฆษณา จากเดิมที่ลงโฆษณาทั้ง 2 ช่อง “ผู้นำ” เป็นส่วนใหญ่ ก็อาจเหลือ 1 ช่อง และเสริมด้วยสื่ออื่นๆ ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เช่นเดียวกัน

แต่ช่องใด จะเป็นตัวเลือก ก็ขึ้นอยู่กับ คอนเทนท์ เรทติ้ง และโจทย์การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของสินค้า ที่ปัจจุบันมีหลากหลายเซ็กเมนท์และ “ฟรีทีวี” ไม่ใช่คำตอบเดียว อีกต่อไป