ข้อควรระวังเกี่ยวกับธุรกรรมสินเชื่อ 'ฟินเทค' ในประเทศไทย

ข้อควรระวังเกี่ยวกับธุรกรรมสินเชื่อ 'ฟินเทค' ในประเทศไทย

ธุรกรรมฟินเทค หมายถึงธุรกรรมทางการเงินที่มีการนำเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้

 เพื่อช่วยสนับสนุน หรือทดแทนธุรกรรมการเงิน ผ่านระบบสถาบันการเงินแบบเดิม และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ขาดเงิน และผู้มีเงินเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในแง่ที่มีความสะดวกรวดเร็ว ในขณะที่มีต้นทุนของการดำเนินงานต่ำลง 

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ฟินเทคได้รับความสนใจเป็นอันมาก และถูกนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายในตลาดการเงินทั่วโลก เป็นการเปลี่ยนบทบาทของสถาบันการเงินแบบดั้งเดิม จากที่เคยทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมผู้มีและผู้ขาดเงินทุน ไปสู่ระบบที่ผู้มีและผู้ขาดเงินทุนติดต่อกันได้โดยตรงมากขึ้น ตลาดการเงินของไทยก็มิได้เป็นข้อยกเว้น ปริมาณธุรกรรมที่ทำผ่านฟินเทคของไทยได้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา 

อย่างไรก็ตาม การที่ไทยก้าวทันโลกาภิวัฒน์เช่นนี้ ก็ไม่ได้ส่อความหมายไปในทางที่ดีเสมอไป ตัวอย่างเช่น การเปิดเสรีทางการเงินเพื่อเพิ่มแรงแข่งขันในตลาดการเงินของไทยในช่วงครึ่งแรกของทศวรรษที่ 2530 ได้นำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ดังนั้น เราจึงควรพิจารณาสาเหตุหลักของวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” อีกครั้ง ว่าควรคำนึงถึงและให้ความสำคัญแก่ตัวแปรหรือปัจจัยใดเพียงไร

บทเรียนในอดีต

จุดประสงค์ของการเปิดเสรีทางการเงินที่รัฐได้ดำเนินการระหว่างปี 2531 ถึง 2539 คือ เพื่อเพิ่มแรงแข่งขันให้แก่ตลาดการเงินภายในประเทศ เพิ่มความคล่องตัวให้แก่สถาบันการเงินเพื่อต่อสู้กับแนวโน้มของตลาดโลกได้ และเพิ่มบทบาทของไทยที่จะเป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาค รัฐจึงได้ผ่อนคลายข้อจำกัดทางด้านปริวรรตเงินตรา อัตราดอกเบี้ย และข้อจำกัดอื่นๆ รวมถึงการประกอบธุรกิจใหม่ๆ การเปิดเสรีทางการเงินนี้ดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และกระตุ้นทั้งการลงทุน การเก็งกำไร และส่วนขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 

ในขณะเดียวกันสินเชื่อที่ขยายตัวมากเกินเหตุและไม่รอบคอบ ก็นำไปสู่ความเสี่ยงที่สูงเกินควรและคุณภาพสินทรัพย์ที่ลดลง ความช่วยเหลือที่ธนาคารชาติให้แก่สถาบันการเงินที่ประสบปัญหายิ่งเพิ่มความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจมหภาค ในที่สุดความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ เสื่อมถอยลงก็กระตุ้นให้เงินทุนไหลออกจากประเทศเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งทางการต้องปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัว ซึ่งนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเงินที่รุนแรงทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ 

ภาวะวิกฤติในกลางปี 2540 นั้น เป็นผลจากข้อผิดพลาดที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การอนุญาตให้เงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้าออกอย่างเสรี แต่ไม่ปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปตามภาวะตลาด สถาบันการเงินรวมทั้งหน่วยงานเอกชนยังไม่พร้อมต่อการเปิดเสรีทางการเงิน และการกำกับสถาบันการเงินยังหละหลวมเกินไป ข้อผิดพลาดเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของความสอดคล้องทางด้านนโยบาย ของรัฐ ความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และความเชื่อมั่นของนักลงทุน ประสบการณ์ของไทยในปี 2540 นี้คงช่วยเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบ (analogue) ให้แก่การวิเคราะห์ฟินเทคได้ในหลายแง่มุม

ดาบสองคม

จุดเด่นที่คงจูงใจให้หลายฝ่ายเข้าข้างสินเชื่อจากฟินเทค (เช่น ประเภท P2P) คือ ฟินเทคเปิดโอกาสให้คนที่มีรายได้ต่ำ สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายกว่า และมากกว่าที่เคยได้รับจากสถาบันการเงินที่อยู่ในรูปแบบเก่า นอกจากนั้น สินเชื่อจากแหล่งใหม่ๆ เหล่านี้ยังมีเงื่อนไขที่ผ่อนปรนและยืดหยุ่นกว่าอีกด้วย 

แต่ข้อดีเหล่านั้นก็สามารถก่อความเสี่ยงหรือผลเสียได้หลายประการเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ความสะดวกรวดเร็วที่ฟินเทคสามารถให้บริการแก่ลูกค้าได้เป็นแรงกระตุ้น แรงหนึ่งที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ลดจำนวนสาขาของตนลง เพื่อลดต้นทุนการบริหารงานและพยายามเข้าไปร่วมงานกับฟินเทคแทน แต่การปิดสาขาของธนาคารพาณิชย์ก็ขัดกับ ความพยายามของรัฐที่จะกระจายบริการทางการเงินไปให้ทั่วทุกเขตของประเทศ 

นอกเหนือจากผลกระทบที่กล่าวข้างต้น สินเชื่อฟินเทคอาจส่งผลเสียในเชิงมหภาค หรือเศรษฐกิจส่วนรวมด้วย เนื่องจากสินเชื่อเหล่านี้เพิ่มกำลังซื้อให้แก่ประชากร (โดยเฉพาะผู้มีรายได้ต่ำ) การขยายตัวของสินเชื่อฟินเทคอาจมีส่วนผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ลดส่วนเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกับต่างประเทศ และเพิ่มระดับอัตราส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลผลิตประชาชาติ ผลกระทบทั้งสามแง่มุมนี้อาจจะอยู่ในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับที่ทางฝ่ายรัฐต้องการ

เนื่องจากสินเชื่อฟินเทคสามารถก่อผลเสียได้หลายประการเช่นเดียวกับผลดี รัฐจึงควรพิจารณาใช้บางมาตรการควบคุมความเสี่ยงที่สินเชื่อฟินเทคอาจก่อปัญหาได้ทั้งในแง่ จุลภาค และมหภาค

ในกรณีที่บริษัทฟินเทคเข้าพึ่งแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศ บริษัทจำเป็นต้องรักษาดุลยภาพในฐานะเงินตราต่างประเทศทั้งสิ้นของตน (covered foreign exchange exposure) ข้อบังคับนี้จะก่อความปลอดภัยให้แก่บริษัทฟินเทคเองในโลกที่อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนอยู่ตลอดเวลาดังเช่นปัจจุบัน ประสบการณ์ของธนาคารต่างชาติ (ที่ขาดทุนน้อยกว่าธนาคารไทยเป็นอันมาก) ในปี 2540 ยืนยันว่าดุลยภาพที่กล่าวถึงนี้ จะช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน

ให้บริษัทฟินเทคร่วมกันจัดตั้งศูนย์กลางจัดอันดับความน่าเชื่อถือของลูกค้าและกำหนดเงื่อนไขบังคับให้ผู้ที่ต้องการขอสินเชื่อจากบริษัทฟินเทคต้องผ่านการจัดอันดับโดยศูนย์กลางฯ นี้ก่อนที่แต่ละบริษัทฟินเทคจะตัดสินใจอย่างอิสระว่าจะให้กู้หรือไม่และเท่าใด ศูนย์กลางฯ นี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าให้ถูกต้องยิ่งขึ้น นอกจากนั้น บริษัทฟินเทคก็ควรแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้ามากขึ้นผ่านบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร หรือ NCB)

จำกัดการปล่อยสินเชื่อของบริษัทฟินเทคใน 2 แง่ คือ (4.1) อัตราดอกเบี้ย ไม่ควรเกินขอบเขตที่รัฐกำหนดสำหรับสถาบันการเงินอื่นๆ เช่น ธนาคารพาณิชย์ และ Non-bank (4.2) บริษัทฟินเทคต้องกระจายประเภทธุรกิจของลูกค้าเพื่อลดความเสี่ยงให้แก่ทั้งบริษัท ฟินเทคเอง และแก่ประเทศชาติในส่วนรวมด้วย

รัฐควรให้ความรู้อย่างละเอียดรอบคอบแก่สาธารณชน เพื่อเข้าใจถึงกลไกและ ข้อผูกพันต่างๆ ที่บริษัทฟินเทคสามารถทำได้และอาจเสนอมาจูงใจ ทั้งนี้ เป็นเพราะประชากรที่มีรายได้ต่ำมักไม่ทราบ (เพราะไม่สามารถเข้า) ถึงสินเชื่อและเงื่อนไขจากสถาบันการเงินประเภทต่างๆ ในระบบ

บางฝ่ายอาจสนับสนุนบริษัทฟินเทค เพราะบริษัทเหล่านี้มักเปิดช่องทางให้ผู้มี รายได้น้อยเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายและมากกว่าธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุน (แม้เงื่อนไขของสินเชื่อจะเข้มงวดกว่า) 

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันรัฐก็ได้เสนอสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนให้แก่ผู้มีรายได้น้อยและ SMEs แล้วผ่านหลายช่องทาง (เช่น ธ.ก.ส., ธ.ออมสิน, นาโนไฟแนนซ์, พิโกไฟแนนซ์) ดังนั้น รัฐจึงควรพิจารณาควบคุมการจัดตั้งและดำเนินธุรกิจสินเชื่อของบริษัท ฟินเทคอย่างรอบคอบ ทั้งในแง่ประเภทและปริมาณสินเชื่อ รวมถึงเงื่อนไขภาระหนี้และอายุชำระคืน เพราะรัฐให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งแก่การป้องกันไม่ให้หนี้ภาคครัวเรือนขยายตัวมากเกินควรเมื่อเทียบกับรายได้ประชาชาติ

โดยสรุป รัฐจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากธุรกิจสินเชื่อฟินเทคผ่านช่องทางที่เสนอข้างต้นได้ แต่ก็จะต้องพึ่งการกำกับ ตรวจสอบ และดูแลธุรกิจฟินเทคอย่างใกล้ชิด รอบคอบ และสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของบางภาคธุรกิจและครัวเรือนที่อาจมีแนวโน้มถดถอยลง มิเช่นนั้นแล้ว สินเชื่อฟินเทคอาจก่อปัญหาหรือภาวะวิกฤติ ดังเช่นที่หนี้นอกระบบ แชร์ลูกโซ่ และสภาวะฟองสบู่ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต 

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ หากการก้าวทันโลกาภิวัตน์จะนำไปสู่ “ชื่อเสีย” มากกว่า “ชื่อเสียง” ก็อาจจะไม่คุ้มสำหรับประเทศไทยที่จะพยายามก้าวให้ทันโลกาภิวัตน์เสมอไป

.....................

ปกรณ์ วิชยานนท์