ปัจจัยลบกดดันน้ำมันรอบด้าน

ปัจจัยลบกดดันน้ำมันรอบด้าน

ปัจจัยลบกดดันน้ำมันรอบด้าน

ช่วงต้นเดือน ก.พ. ปีนี้ ผมเขียนบทความใน Top Down SPACE ในชื่อตอน Inflation เมื่อมันมา มันจะมาเร็วกว่าที่ทุกคนคิด โดยหนึ่งในสัญญาณที่ผมมองว่า มีโอกาสที่เงินเฟ้อจะเริ่มขยับตัวขึ้นในปี 2017 นี้ ก็คือ การที่ราคาน้ำมันที่เริ่มขยับขึ้นจากฐานต่ำ ต้นปี 2016 ราคาน้ำมันอยู่ที่ 26 ดอลลาร์ มา ณ ตอนนี้ ราคาน้ำมัน Crude Oil เทรดอยู่เหนือระดับ 50 ดอลลาร์ ในช่วง 1-2 เดือนแรกของปีนี้

แต่จนถึงตอนนี้ ทุกท่านก็คงทราบกันแล้วว่า ราคาน้ำมันถูกเทขายลงมาที่ ราวๆ 42-43 ดอลลาร์ ซึ่งประเด็นหลักๆ มาจากตลาดเริ่มไม่เชื่อมั่นว่า ข้อตกลงตรึงกำลังการผลิตระหว่าง OPEC และ non-OPEC จะทำได้จริงและตรึงกำลังการผลิตได้จริง ถึงแม้จะมีการขยายระยะเวลาตรึงกำลังการผลิตออกไปถึงปีหน้าก็ตาม

กำลังการผลิตนอกกลุ่ม OPEC ก็ยังเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในสหรัฐ จากตัวเลขแท่นขุดเจาะรายสัปดาห์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แทบทุกสัปดาห์ตั้งแต่ย่างเข้าไป 2017 เป็นต้นมา รวมถึงการเดินกำลังการผลิต Shale Oil และ Shale Gas ที่สะท้อนว่า ต้นทุนการผลิตของเทคโนโลยีนี้ เข้ามาใกล้จุดที่สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตน้ำดิบได้แล้ว

อาจมีนักลงทุนหลายท่านสงสัยว่า แล้วอย่างนี้ ซาอุฯ และประเทศสมาชิก OPEC จะสู้รบปรบมือกับคู่แข่งนอก OPEC ได้อย่างไร ตรึงกันเอง แต่ข้างนอกก็แย่งกันเพิ่มกำลังการผลิต

จริงๆ เป้าหมายของซาอุฯในตอนแรกที่เพิ่มกำลังการผลิตและกดราคาน้ำมันให้ต่ำ ก็เพราะหวังว่าผู้ผลิตที่ต้นทุนสูง จะล้มหายตายจากออกจากตลาดออกไป แต่ผลคือ ทำให้ประเทศสมาชิก OPEC หลายแห่ง ประสบปัญหาด้วย เพราะต้องอย่าลืมว่า ไม่ใช่สมาชิกทั้ง 14 ประเทศ จะต้นทุนต่ำทั้งหมดนะครับ

ถ้ามองแค่ภาพเรื่องอุปสงค์ อุปทานต่อน้ำมันดิบ ก็อาจจะเห็นแค่มุมหนึ่ง แต่ภาพใหญ่กว่านั้น ราคาน้ำมันก็โดนกดดันอยู่มาอย่างต่อเนื่องจากการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาด หรือ Clean Energy

อย่างกรณี โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ซึ่งต้นทุนการผลิตเคยอยู่ที่ระดับ 300 ดอลลาร์ต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง ในปี 2010 ตัวเลขในปี 2015 พบว่า ต้นทุนการผลิตเหลือเพียง 120 ดอลลาร์ต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง ในปี 2015 ลดได้มากกว่า 60% ทีเดียว ทำให้มีเม็ดเงินลงทุนเข้าไปลงทุนในธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานทางเลือกอื่นๆ อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2015 นะครับ

จริงๆ พลังงานสะอาดนี้ ก็มีการพูดถึงมาแล้วหลายปีนะครับว่าอนาคตสดใส แต่เทคโนโลยีที่จะมาเป็นคู่แข่งพลังงานน้ำมันจริงๆ ก็คือ Power Storage หรือ ตัวเก็บประจุไฟฟ้า นั้นเอง เพราะตัวเก็บประจุไฟฟ้า หรือ Power Storage จะทำให้การใช้พลังงานสะอาดมีเสถียรภาพมากขึ้น ยกตัวอย่าง ถ้าใช้พลังงานแสงอาทิตย์ แต่ไม่มีตัวเก็บประจุ ก็แปลว่า เราจะใช้ไฟฟ้าได้แค่ตอนช่วงกลางวันเท่านั้น ดังนั้น เทคโนโลยี Power Storage จึงถือว่ามีความสำคัญ และเป็นจุดเปลี่ยนอีกหนึ่งอย่างที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตพลังงานสะอาดต่ำลงไปอีก และเข้าถึงคนจำนวนมากขึ้นกว่าปัจจุบันไปอีก

จะเห็นว่า ราคาน้ำมันดิบ ถูกกดดันจากปัจจัยระยะสั้น และระยะยาวพอสมควร และสิ่งที่จะกระตุ้นให้นวัตกรรมทางพลังงานนั้นถูกพัฒนาได้เร็วขึ้น นั้นก็คือ ต้นทุนราคาพลังงานแบบเดิมที่ราคาแพง และเหมือนทาง OPEC ก็เห็นประเด็นนี้นะครับ ถ้าปล่อยให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแพงเกินไป ด้วยการตรึงกำลังการผลิตให้นานขึ้น หรือ มากขึ้น จะเกิดผลกระทบ 3 ทางคือ 1. สูญเสียส่วนแบ่งในการผลิตให้แก่ประเทศนอกกลุ่ม OPEC ซึ่งหลักๆ ก็คือ สหรัฐ และ 2. คือ เหล่าพลังงานทางเลือกจะมีตัวเร่งในการผลิตนวัตกรรมและลดต้นทุนการผลิตที่เร็วขึ้นด้วย 3. รายได้ของประเทศสมาชิกก็จะลดลง มีความเสี่ยงด้านฐานะการเงินมากขึ้นไปอีก

ดังนั้น ความเห็นส่วนตัว ผมจึงมองว่า ราคาน้ำมัน เคลื่อนไหวไปไกลจากราคาปัจจุบันถือว่าเป็นไปได้ยาก ยิ่งหากใครลงทุนในกองทุนรวมน้ำมัน หรือ หุ้นที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน ที่ระดับราคาน้ำมัน ณ ตอนที่ลงทุนสูงกว่า 100 ดอลลาร์ แทบจะเรียกได้ว่า โอกาสคืนทุน เลือนรางมากๆ เลยทีเดียวครับ

ทางออกของกลุ่มประเทศ OPEC ก็คือ จะหารายได้ทางอื่นนอกเหนือจากการขายน้ำมันได้อย่างไร ส่วนทางออกของประเทศไทยคือ ยุทธศาสตร์พลังงาน เราจะจัดหา และพึ่งพาแหล่งพลังงานใด ที่มีความมั่นคงในระยะยาวอย่างแท้จริงแก่คนไทยนะครับ