ปฏิรูปตำรวจให้ได้ในชาตินี้

ปฏิรูปตำรวจให้ได้ในชาตินี้

ไม่ใช่การเสียดสีทิ่มแทงแต่เป็นคำพูดที่เกิดจาก “ความคาดหวัง” ของคนจำนวนมากในสังคมไทย

 ที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ได้เคยเรียนไปแล้วว่า ถ้าเฉพาะความเปลี่ยนแปลง (Changes)ในด้านต่างๆ น่าจะไม่เพียงพอ วันนี้เมื่อประเทศไทยจะเข้าระบบเศรษฐกิจแบบ 4.0 ทุกอย่างถ้ายังขาดตกบกพร่องน่าจะต้องถึงขั้น “แปลงโฉม (Transformation)”กันเลยทีเดียว

แต่การแปลงโฉมองค์กรตำรวจ ขอให้ใจเย็นๆ อย่าคิดไปในทางร้ายว่าจะมีการลดเกียรติภูมิศักดิ์ศรีของตำรวจ หรือมีใครจะคิดทำลายองค์กรตำรวจแต่อย่างใด ขอให้คิดถึงวิธีการแก้ปัญหาระหว่าง “องค์กรอัยการ” กับ “ศาล” ที่มีนิสิตนักศึกษาในวิชาอาชญาวิทยาที่ผมเป็นผู้สอนมานับสิบปี ได้ตั้งคำถามว่า เหตุใด อัยการ ถึงต้องมีขั้นเงินเดือนผลตอบแทน ระบบบริหารบุคคลคล้ายคลึงกับศาล 

การตอบคำถามไม่ใช่เรื่องยาก แต่จะทำให้ผู้รับคำตอบเข้าใจถึงสาระสำคัญบางทีอาจเป็นเรื่องยากกว่า สิ่งที่มักให้ความเห็นไปก็คงเป็นเรื่องคุณวุฒิทางการศึกษาของข้าราชการสายหลักทั้งสององค์กรที่เหมือนกัน ลักษณะงานที่ต้องประสานสัมพันธ์ให้เกียรติซึ่งกันและกัน รวมทั้งประวัติศาสตร์ความเป็นมาของทั้งสององค์กร เรียกว่าวิธีการแก้ปัญหาของพวกเราไม่ละเลยในส่วนที่ละเอียดอ่อนที่เป็นเรื่องของวัฒนธรรม ประเพณีการให้เกียรติและคำนึงถึงขวัญกำลังใจ อันเป็นสิ่งที่สังคมไทยและคนทางซีกโลกตะวันออกจะไม่มองข้ามสิ่งเหล่านี้ ทำให้ “ศาลกับอัยการ” ตีคู่กันมาอย่างสมศักดิ์ศรีทั้งในเรื่องระบบบริหารบุคคลและผลตอบแทนต่างๆ

เมื่อมาถึงกระบวนการปฏิรูปตำรวจ การหักด้ามพร้าด้วยเข่า หรือฟังความต่างๆ โดยไม่ต้องวิเคราะห์เจาะลึกหรือเชื่อตามๆ กันมา ยืนยันได้ว่าไม่เคยปรากฏอยู่ในการทำหน้าที่กรรมาธิการปฏิรูปตำรวจ ในยุคที่เป็นสมาชิกสภาฏิรูปแห่งชาติ (สปช)เลยแม้แต่ครั้งเดียว ยิ่งในฐานได้เคยคลุกคลีอยู่ในอนุกรรมการพัฒนาระบบบริหารบุคคลของตำรวจ (อนุ ก.ตร.) มาหลายสมัย ก็ยืนยันได้เช่นกันว่า การทำงานของ อนุ ก.ตร. ทุกชุดที่ผ่านมารับทราบและเข้าใจปัญหาข้อขัดข้องของตำรวจ ไม่มีผู้ใดมุ่งหวังทำงานเพื่อให้ได้หน้าค่าตา หรือ ทำอะไรก็ได้เพื่อสร้างชื่อโดยไม่แยแสว่าคนในองค์กรจะได้รับผลกระทบอย่างไรกันบ้าง มีการรับฟังความเห็นรอบด้าน ทั้งภาคประชาชน ทั้งตำรวจเอง รวมทั้งนำข้อมูลจากกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างปัญหาให้กับองค์กรตำรวจมาพินิจพิเคราะห์ ไม่เลือกจะเชื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด โดยการกล่าวหาแบบเหมาเข่งว่า ตำรวจเลวหรือไร้ประสิทธิภาพทั้งองค์กรนั้นถือว่า “ไม่เป็นธรรมกับตำรวจในภาพรวมอย่างยิ่ง”

เมื่อรัฐบาลกำลังจะตั้ง “คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ” ที่จะไปสอดรับคณะกรรมการที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการอยู่ก่อนแล้ว ประชาชนก็ดี นักวิชาการอย่างผมรวมทั้งผู้ที่มีมุทิตาจิตปรารถนาดีต่อองค์กรตำรวจ จึงปรารถนาอย่างยิ่งยวดที่จะเห็น “โฉมใหม่” ขององค์กรตำรวจ ที่หากทำให้ ประชาชนยอมรับนับถือและยอมที่จะเชื่อฟังในการบังคับใช้กฎหมายของตำรวจ อย่างที่คำสำคัญในภาษาอังกฤษย้ำเน้นเสมอในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจนั่นคือ จะสำเร็จได้ก็ด้วย การได้รับความยินยอมพร้อมใจของคนที่ตำรวจต้องดูแลให้บริการ “Policed by consent” ถือว่าสิ่งนี้เป็นหัวใจสำคัญมากที่สุด

วันนี้ที่บอกว่า “ตำรวจเกียร์ว่าง” ตำรวจไม่ทำงานไม่บังคับใช้กฎหมาย ก็เพราะคนจำนวนหนึ่งไม่เคารพยำเกรงอำนาจหน้าที่ของตำรวจ ถ้าลึกๆ แล้วส่วนตัวผมอยากเห็นการเน้นย้ำว่าการทำหน้าที่ของตำรวจไม่ใช่การใช้อำนาจ แต่เป็น “การให้บริการ (public services)” จะได้สร้างมุมมองใหม่ให้คนที่เข้ามาใหม่หรือคิดจะเป็นตำรวจได้เข้าใจแก่นแท้ของหน้าที่ความรับผิดชอบ แน่นอนว่าตำรวจส่วนที่ไม่ดีหรือมีข้อบกพร่องย่อมมีอยู่เหมือนคนในองค์กรอื่นๆ แต่หากจะจัดรูปกระบวนการบริหารจัดการองค์กรตำรวจกันใหม่ ให้คนเกิดความ “รักศรัทธาและเข้าใจหน้าที่ของตนเองที่มีต่อส่วนรวมได้ในวงกว้าง” การทำงานของตำรวจจะง่ายขึ้น

สิ่งที่ต้องเริ่มต้นดำเนินการเป็นสิ่งแรกจะต้องทำให้ตำรวจเป็น “ตำรวจอาชีพ (professionalism)” มิใช่เป็น “คนที่มีอาชีพตำรวจ” เราต้องให้โอกาสตำรวจเติบโตในสายอาชีพตามความถนัดของเขาให้ได้มากที่สุด ใครเก่งหรือมีใจรักในงานบริการก็ให้เขาทำไป ไม่ใช่เอาคนบู๊ล้างผลาญมารับแจ้งความ หรือเอาคนนุ่มนวลละมุนละไมไปทำงานปราบปราม เรื่องเหล่านี้เป็นหลักบริหารงานบุคคลพื้นฐานของการเลือกคนให้ตรงกับงาน ส่วนจะให้คนในสายอื่นกระโดดข้ามรั้วข้ามห้วยมาทำหน้าที่ในหน่วยงานอื่นได้ ก็ต้องผ่านกระบวนการทดสอบและประเมินผลที่ตอบสังคมได้อย่างสนิทใจ ไม่ใช่เป็นไปตามข้อกล่าวหาเดิมๆ ว่าวิ่งเต้นมา เป็นเด็กหรือเป็นคนของใคร ตรงนี้เชื่อว่าขวัญกำลังใจของตำรวจจะดีขึ้น เขาจะ รู้ทิศทางความก้าวหน้า และหากไม่ประสงค์จะอยู่ในระบบแบบนี้ ย่อมมีทางเลือกเช่น การเปิดช่องในการพัฒนาตัวของเขาด้วยพันธะสัญญาและเงื่อนไขที่ทางราชการไม่เสียประโยชน์ แต่ถ้าเขาต้องการจะพ้นไปจากองค์กร การเปิดให้มีการเยียวยาในลักษณะ early retirement ก็ควรมีเพื่อ “ถ่ายเลือด” และ รับผู้มีใจสมัครรักใคร่อยากเป็นตำรวจด้วยจิตใจอันแน่วแน่ ได้เข้ามาทำงาน เชื่อว่า คนที่อยากเข้ามารับราชการเป็นตำรวจนั้นยังมีอยู่อีกมากแต่เขาเหล่านี้ไม่มีโอกาส

ในขณะเดียวกันเราคงยังไม่รีบผลักดันให้ท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในการบริหารปกครองตำรวจอย่างเต็มรูปแบบในเวลานี้ แต่จะพูดไปแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ฝรั่งเรียกว่า มันเป็น wind of change เป็นเรื่องทิศทางของสังคมในอนาคตมันต้องเป็นไปตามนี้ เราคงต้องเริ่มต้นให้สังคมชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมหรือมีบทบาทในการบริหารจัดการตำรวจร่วมกับตำรวจอาชีพมากกว่าการมาขอเป็นคณะกรรมการชุดนั้นชุดนี้เพื่อสร้างบารมีหรืออำนาจให้ตัวเอง ที่อยากเห็นให้เกิดขึ้นก่อนเลยคือ “คณะกรรมการบริหารสถานีตำรวจ ที่มิใช่ “กต.ตร. สถานีตำรวจ” แบบที่ผ่านมา” กระบวนการได้มาต้องสรรหาคัดพันธุ์อย่างดีมา มิใช่การจิ้มชื่อเลือกเอาตามอำเภอใจ หรือใครรู้จักใครก็วิ่งเข้าหา เพื่อขอตำแหน่งแห่งที่เอาง่ายๆ ผลตอบแทนก็ต้องมีให้เขาอย่างสมศักดิ์ศรี อย่าไปคิดว่าเขามีมากแล้วเขาต้องเสียสละหรือมาทำงานเพื่อการกุศล 

หลักการสร้างแรงจูงใจเป็นเรื่องสำคัญ เราไม่ต้องการผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นมีแต่ต้องกำจัดให้สิ้นซาก เราต้องการคนมีศักยภาพมีความรู้ทักษะความชำนาญดีมาก ถึงขั้นจะช่วยเข้ามาแก้ปัญหาในชั้นสถานีตำรวจที่เป็นจุดซึ่งใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ถ้าเรายังไม่สามารถทำให้ประชาชนรักและศรัทธาตำรวจได้ (ส่วนประชาชนเองต้องปรับตัว ลด ละเลิกอะไรอย่างไรเคยพูดไปแล้ว) ถ้ายังไม่บรรลุเป้าหมายเหล่านี้ การจะได้รับความร่วมมือให้บรรลุเป้าหมายการปฏิรูปตำรวจก็ยากมาก เริ่มต้นทำสัก 2-3 สถานีในกรุงเทพและภูมิภาคต่างๆ ให้สามารถประเมินผลได้ผลเสียกันสักตั้งเถิดครับ 

เชื่อว่าเราจะได้เห็นกลไกเหล่านี้ มีแรงส่งให้การปฏิรูปตำรวจสำเร็จได้ในชาตินี้