OTT กับความมั่นคงทางไซเบอร์

OTT กับความมั่นคงทางไซเบอร์

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ คงไม่มีวาทกรรมใดร้อนแรงไปกว่าการกำกับดูแล OTT ของ กสทช. 

ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่ต้องการจะกำกับดูแลและฝ่ายที่ไม่ต้องการถูกกำกับดูแล

วัตถุประสงค์ของบทความนี้ มิใช่จะมาตัดสินว่า “วาทกรรมใดถูกหรือผิด” แต่เพื่อเป็นการทบทวนว่า เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไรและอะไรคือสิ่งที่ควรเกิดขึ้นต่อไปหลังจากนี้

กรณีโต้แย้งที่สำคัญ ของการกำกับดูแล OTT คือการที่หน่วยงานรัฐของไทย จะมากำกับดูแลผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในโลกดิจิทัล ที่ให้บริการจากต่างประเทศ ให้มาอยู่ภายใต้กฎหมายไทย ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ ได้แก่ เสิร์ชเอ็นจิน โซเชียลเน็ตเวิร์ค โซเชียลมีเดีย กระทั่ง อีคอมเมิร์ซ ที่ได้เริ่มมาทดแทนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร การติดต่อสื่อสาร และกระทั่งการทำธุรกรรมทางการค้า ซึ่งนับวันอิทธิพลจะแผ่ขยายอย่างไร้ขีดจำกัด ตามวิวัฒนาการของดิจิทัลที่กำลังเติบโตในโลกเสรี

ไม่ต้องมีข้อโต้แย้งว่า “ขาขึ้น”ของโครงสร้างพื้นฐานในโลกดิจิทัล ย่อมต้องหมายถึง “ขาลง”ของโครงสร้างพื้นฐานในโลกก่อนดิจิทัล อันได้แก่ โทรทัศน์ วิทยุ สิ่งตีพิมพ์ โทรศัพท์ และกระทั่งร้านค้าและโมเดิร์นเทรดทั่วไป

แต่เพื่อทบทวนว่า เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร และอะไรควรจะเกิดขึ้นต่อไปหลังจากนี้ เราจำเป็นต้องระลึกย้อนกลับไปในอดีตหลายทศวรรษที่ผ่านมา

หลายสิ่งที่ในปัจจุบัน ได้ถูกขนานนามว่าเป็น โครงสร้างพื้นฐานในโลกก่อนดิจิทัล ที่กำลังจะถูกทดแทนโดย โครงสร้างพื้นฐานในโลกดิจิทัล ที่ให้บริการจากต่างประเทศ อาจถูกเปรียบเสมือนหนึ่งว่าเป็น สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เพราะเป็นบริการที่ให้ประโยชน์แก่ประชาชนในสิ่งอุปโภคที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต เช่น การไฟฟ้า การประปา การเดินรถประจำทาง โทรศัพท์ วิทยุ หรือโทรทัศน์

สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานนั้น ไม่เพียงแต่จะมีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิต แต่ยังคงเป็นกระดูกสันหลังที่มีความสำคัญสำหรับระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยไม่มีข้อโต้แย้งว่า ความมั่นคงของสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานนั้น ย่อมต้องส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ

วิวัฒนาการของการให้บริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน สามารถแบ่งออกเป็นยุคๆ ได้ดังนี้

1.ผูกขาดโดยรัฐ: หลายทศวรรษก่อนหน้านี้ รัฐบาลมักจะเป็นผู้ให้บริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานแต่เพียงผู้เดียว เช่นดังตัวอย่างของบริการโทรศัพท์ของประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ คือกองช่างโทรศัพท์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของกรมไปรษณีย์โทรเลข หรือกระทั่งตัวอย่างของบริการวิทยุและโทรทัศน์ของประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ คือกรมประชาสัมพันธ์

2.ผูกขาดโดยรัฐวิสาหกิจ: ต่อมาได้มีการแปรรูปการให้บริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เข้าสู่รูปแบบของรัฐวิสาหกิจ เพื่อเพิ่มความคล่องตัว และประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป จึงได้เกิดเป็นองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยและองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ซึ่งในยุคนั้น การให้บริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานยังคงเป็นหน้าที่ของภาครัฐโดยสมบูรณ์แบบ

3.เอกชนให้บริการผ่านสัมปทาน: ต่อมาอีกเช่นกัน เข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ ความต้องการของประชาชนในบริการ โทรศัพท์ วิทยุ และโทรทัศน์ ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการให้บริการมีเทคโนโลยี และการลงทุนที่สลับซับซ้อน จึงเข้าสู่ยุุคที่เอกชนของไทยเริ่มเข้ามามีบทบาทในการให้บริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โดยอยู่ภายใต้สัมปทานของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเงื่อนไขของการให้บริการสู่ประชาชน ยังคงถูกกำหนดโดยภาครัฐ โดยผ่านรัฐวิสาหกิจผู้เป็นเจ้าของสัมปทาน

4.เอกชนมีใบอนุญาตเป็นต้องตัวเอง: ต่อมาอีกเช่นกัน เข้าสู่ยุคที่เปิดเสรีให้กับเอกชนอย่างเต็มที่ โดยได้ถือกำเนิดองค์กรกำกับดูแลกลาง ที่มีชื่อย่อว่า กสทช. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่่ออกใบอนุญาตให้กับเอกชนและกระทั่งรัฐวิสาหกิจ ที่มีความประสงค์จะเข้ามาให้บริการ โทรศัพท์ วิทยุ หรือโทรทัศน์ ซึ่งการให้บริการ ถูกกำกับดูแลโดยภาครัฐ โดยผ่านเงื่อนไขของใบอนุญาต

5. OTT ให้บริการจากต่างประเทศ โดยไม่อยู่ภายใต้กฎหมายไทยปัจจุบันได้มีบริการประเภทใหม่ อันได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในโลกดิจิทัล ที่เรียกกันว่า OTT เช่น เสิร์ชเอ็นจิน โซเชียลเน็ตเวิร์ค โซเชียลมีเดีย กระทั่งอีคอมเมิร์ซ ซึ่งมีบทบาทที่สำคัญไม่แพ้สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานจากยุคก่อนหน้า และสามารถให้บริการจากต่างประเทศ โดยที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทย

จะเห็นได้ว่า จากยุคที่ 1 ถึง แม้จะเปลี่ยนผู้ให้บริการจากภาครัฐ มาเป็นเอกชนโดยสมบูรณ์แบบ แต่การให้บริการนั้น อยู่ภายใต้กฎหมายไทยมาโดยตลอด เพราะเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ที่ส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ เพราะมีความเกี่ยวโยงกับเศรษฐกิจและสังคม อย่างที่ไม่สามารถจะแยกออกจากกันได้

แต่พอเข้าสู่ยุคที่ 5 คือยุคของ OTT กลับเกิดเป็นช่องว่างของการกำกับดูแล เพราะโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย กลับไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายไทย

พอมาถึงตรงนี้ ต้องอย่าเข้าใจผิด “ความมั่นคงของประเทศ” โดยเฉพาะสำหรับระบบเศรษฐกิจและสังคม มิได้หมายถึงการให้บริการอย่างที่ต้องเคารพกฎหมายเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการให้บริการอย่างต่อเนื่อง ทั่วถึงและด้วยเงื่อนไขที่เป็นธรรม

อะไรจะเกิดขึ้น กับระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย หากผู้ให้บริการ เสิร์ชเอ็นจิน โซเชียลเน็ตเวิร์ค โซเชียลมีเดีย กระทั่งอีคอมเมิร์ซรายหลัก เกิดหยุดให้บริการอย่างกระทันหัน หรือเลือกให้บริการอย่างไม่ทั่วถึง

และอะไรจะเกิดขึ้น หากผู้ให้บริการ เสิร์ชเอ็นจิน โซเชียลเน็ตเวิร์ค โซเชียลมีเดีย กระทั่ง อีคอมเมอร์ส รายหลัก ให้บริการอย่างไม่เป็นธรรม

ไม่ถึงสัปดาห์ที่ผ่านมา กูเกิล ผู้ให้บริการเสิร์ชเอ็นจิน อันดับหนึ่งของโลก และอย่างที่ปราศจากคู่แข่ง หรือทางเลือกรายอื่น ในประเทศไทย ได้ถูกรัฐบาลของสหภาพยุโรป ปรับเงิน 2.7 พันล้านดอลลาร์ ด้วยเหตุผลที่ว่า กูเกิล นำเสนอผลเสิร์ชอย่างไม่เป็นธรรม และบิดเบือนการแข่งขัน โดยนำเสนอผลลัพธ์ซึ่งเป็นบริการของตัวเอง ขึ้นก่อนบริการของรายอื่น

คงไม่ต้องพูดถึงกรณีของเงินที่รั่วไหลออกจากประเทศ ไม่ว่าจะในรูปแบบของรายได้ หรือการจ่ายภาษี ซึ่งรัฐบาลของสหภาพยุโรป ก็กำลังต่อสู้ให้กูเกิลจ่ายภาษี 14.5 พันล้านดอลลาร์และกำลัังต่อสู้กับกรณีที่ข้อมูลส่วนบุคคลของชาวยุโรปเกือบทั้งหมด ที่ต้องมาอยู่ในมือของเฟซบุ๊ค ซึ่งมีดาต้าเซ็นเตอร์อยู่ในสหรัฐ นอกอำนาจควบคุมของรัฐบาลยุโรป

ย่อมเป็นที่ประจักษ์ อย่างที่ไม่ต้องอธิบายอะไรไปมากว่านี้ว่า OTT โดยเฉพาะที่ให้บริการมาจากต่างประเทศนั้น เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางไซเบอร์อย่างชัดเจน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ กสทช. ต้องมากำกับดูแล และไทยไม่ใช่ประเทศแรก ที่เริ่มมากำกับดูแลบริการประเภทนี้ 

ความจริงแล้ว เรา น่าจะเป็นประเทศท้ายๆ ที่เริ่มจะมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้