วิกฤติสภาพภูมิอากาศ กับความตกลงปารีสที่ถูกสั่นคลอน

วิกฤติสภาพภูมิอากาศ กับความตกลงปารีสที่ถูกสั่นคลอน

นับเป็นการสร้างความกังวลซ้ำเติม ให้กับนานาประเทศและชาวอเมริกันด้วยกันเป็นจำนวนมาก

 เมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐ ประกาศจะนำประเทศสหรัฐถอนตัวออกจากการเข้าร่วมแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน บนความตกลงปารีส เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา ภายหลังจากที่เคยสร้างความหวั่นวิตกมาให้ เมื่อครั้งหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี ด้วยนโยบายปฏิเสธภาวะโลกร้อน

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าสหรัฐซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจของโลก ได้ให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจภายในประเทศ มากกว่าปัญหาภาวะโลกร้อนที่กำลังทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบลุกลามไปทั่วโลก ทั้งนี้เพราะต้องการจะสนับสนุนอุตสาหกรรมให้ขับเคลื่อนไปบนฐานเชื้อเพลิงฟอสซิล พร้อมกับการฟื้นฟูอุตสาหกรรมถ่านหินขึ้นมาใหม่ โดยไม่ต้องการจะทำตามที่อดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา เคยให้สัญญาไว้ในความตกลงปารีสว่า จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 26-28 % จากระดับการปล่อยในปี พ.ศ. 2548 ภายในปี พ.ศ. 2568 และไม่ต้องการจะให้เงินสนับสนุนกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund; GCF) เพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการจัดทำโครงการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อลดโลกร้อนอีกต่อไปด้วย

โดยก่อนหน้านี้ ประเทศสหรัฐซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากจีน ก็เคยปฏิเสธการเข้าร่วมให้สัตยาบันในพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ซึ่งเป็นมาตรการทางกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกขององค์การสหประชาชาติ (มีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2548 - 2555 และขยายเวลาโดยจะหมดอายุลงอีกครั้งในปี พ.ศ. 2563) ด้วยเหตุผลเดียวกันคือ ไม่ต้องการลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าความพยายามแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนบนพิธีสารเกียวโต โดยไม่มีประเทศสหรัฐเข้าร่วมนั้นยังประสบความล้มเหลวอยู่มาก เนื่องจากภายในชั้นบรรยากาศยังมีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกตัวการหลักแห่งปัญหาภาวะโลกร้อนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากระดับความเข้มข้น 379.80 ส่วนในล้านส่วน (ppm) ในปี พ.ศ. 2548 มาเป็น 393.85 ppm ในปี พ.ศ. 2555 และมาถึง 404.21 ppm แล้วในปีที่ผ่านมา เหตุเพราะต้องสวนกระแสกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ที่นานาประเทศต่างยังคงมุ่งเน้นการใช้พลังงานจากฐานเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นแหล่งปล่อยใหญ่ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กันอย่างมหาศาล

เมื่อเป็นเช่นนี้ เกือบ 200 ประเทศทั่วโลกที่ร่วมลงนามรับรองความตกลงปารีส จึงต้องเพิ่มพยายามที่จะลดและควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่ให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นถึงระดับ 450 ppm เพื่อจะได้บรรลุเป้าหมายของความตกลง ที่ต้องจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นผิวโลกไม่ให้เพิ่มสูงเกิน 2 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม

เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว โลกก็จะเข้าสู่จุดพลิกผันที่นำไปสู่วิกฤติสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลอันตรายให้ภัยพิบัติอันหลากหลาย ทั้งคลื่นความร้อน ภัยแล้ง ไฟป่า พายุ และฝนฟ้าคะนอง ทวีความรุนแรงและสร้างความเสียหายได้บ่อยครั้งขึ้น รวมทั้งระดับน้ำทะเลก็เพิ่มสูงยิ่งขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลเชื่อมโยงก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ทั้งในด้านการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ความล้มเหลวทางการเกษตร และการอพยพลี้ภัย ตลอดรวมถึงการแพร่ระบาดของโรคติดต่อต่าง ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เข้ามาคุกคามความอยู่รอดของมนุษย์ในทุกเชื้อชาติ

อย่างไรก็ดี แม้ว่าเวลานี้ประเทศสหรัฐจะถอนตัวออกจากความตกลงปารีส หากแต่สถานการณ์ภายในประเทศนั้นกลับมีความเคลื่อนไหวต่อการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน โดยมีรัฐฮาวายเป็นรัฐแห่งแรกที่บังคับใช้กฎหมายตามความตกลงนี้ อีกทั้งยังมีการรวมตัวกันของรัฐ เมือง และบริษัทธุรกิจจำนวนมาก ที่จะเดินหน้าสนับสนุนอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศลงให้ได้ในสัดส่วนเท่ากับที่รัฐบาลชุดก่อนได้ให้สัญญาไว้ในความตกลง

ที่สำคัญอีกประการคือ ในกระบวนการถอนตัวจากความตกลงปารีสนั้นจะใช้ระยะเวลาประมาณ 4 ปี ดังนั้นคาดว่าการถอนตัวของประเทศสหรัฐจะแล้วเสร็จได้ก็ในเดือนพ.ย. พ.ศ.2563

จึงเป็นที่น่าติดตามว่า นอกเหนือจากการที่ประเทศสหรัฐจะถอนตัวออกจากความตกลงปารีสในครั้งนี้แล้ว ในภายภาคหน้าจะมีเหตุการณ์อะไรเข้ามาเป็นตัวเสริมแรงหรือสั่นคลอนความตกลงปารีสต่อไปอีกหรือไม่ และคนรุ่นต่อ ๆ ไปจะมีโอกาสรอดพ้นหรือเผชิญกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศ ซึ่งแน่นอนว่าคำตอบจะเป็นอย่างไรนั้น ย่อมขึ้นกับแนวคิดและการลงมือปฏิบัติของคนรุ่นปัจจุบัน ที่มีต่อปัญหาภาวะโลกร้อนนั่นเอง

...............................................

ผศ.มนนภา เทพสุด

สำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยศรีปทุม