ความกลัวของผู้นำ

ความกลัวของผู้นำ

ได้ชื่อว่าเป็น “ผู้นำ” จึงมีความคาดหวังจากผู้คนมากมายรายล้อมตัว ผู้นำต้องแบกภาระทำให้คนรอบข้างได้สมประสงค์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

อย่างคนที่เป็นผู้นำครอบครัวก็ย่อมพยายามทำมาหาเลี้ยงสมาชิกในครอบครัวทุกคนให้อยู่ดีกินดีมีความสุข คนที่เป็นผู้นำชุมชนก็ต้องพยายามทำให้คนในชุมชนมีความสุขไม่แตกต่างจากผู้นำครอบครัว แต่ต่างกันตรงจำนวนของคนที่ต้องดูแลและคนที่ต้องบริหารจัดการเพื่อให้ทำหน้าที่ดูแลคนในชุมชน ซึ่งความยากลำบากอยู่ที่ตรงนี้เอง เพราะยิ่งมีคนที่ต้องดูแลเอาใจใส่ให้บริการ ให้ความยุติธรรม ให้เงินเดือน และให้ ฯลฯ ก็ยิ่งทำให้ภาระหน้าที่ของผู้นำหนักหนาสาหัสมากขึ้นเป็นเงาตามตัว อย่างไรก็ตามเมื่อรับหน้าที่เป็นผู้นำหรือรักจะเป็นผู้นำที่ดี และเป็นที่ไว้วางใจของสมาชิกในครอบครัว องค์กรและประเทศชาติแล้วก็ต้องพยายามรับบทนี้ให้ดีที่สุด

ทว่าผู้นำก็คือมนุษย์เดินดินธรรมดาๆคนหนึ่ง ล้วนเกิด แก่ เจ็บ ตาย มีความรัก โลภ โกรธ หลง และความกลัวเหมือนชาวบ้านเขาเหมือนกัน แต่เนื่องจากบทบาทผู้นำที่ดีต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น ผู้นำก็เลยต้องสะกดกลั้นควบคุมอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง กลัวไม่ให้สำแดงอาการมากเกินไป จนอาจทำให้คนสิ้นศรัทธาเชื่อถือ ใช่ว่าผู้นำจะไม่มีความรู้สึกเหมือนชาวบ้านเขา แต่ถ้ารักใครมากไปจนทำให้เสียความยุติธรรมก็ย่อมทำไม่ได้ หรือกลัวมากเกินไป แบบนี้ถ้าเป็นทหารหรือตำรวจก็คงจะบริหารลูกน้องให้ไปทำศึก หรือต่อสู้กับผู้ร้ายก็คงทำไม่ได้ ซึ่งวันนี้เรามาคุยเรื่อง “ความกลัว” ของผู้นำกันดีไหมคะ ที่อยากคุยเรื่องนี้เพราะว่ามีผู้บริหารที่ดิฉันเคยทำหน้าที่เป็นโค้ชให้เคยมีปัญหาเรื่องการจัดการกับความกลัวหลายประการที่เขามีตอนเริ่มรับตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงขึ้นที่เป็นรองจากประธานบริษัทเท่านั้น มาดูกันว่าคนเป็นผู้นำธุรกิจเขามีความกลัวอะไรบ้างและจะจัดการกับมันได้อย่างไร

กลัวล้มเหลว นี่เป็นความกลัวลำดับต้นๆของผู้นำทุกระดับทุกวงการเลยทีเดียว ผู้นำทุกคนล้วนต้องการทำงานในหน้าที่ให้ประสบความสำเร็จ แต่เมื่อทำไม่ได้ บางคนก็ยอมรับความล้มเหลวไม่ได้ กลัวเสียหน้า กลัวถูกดูถูก บางคนถึงกับยอมทำในสิ่งที่ผิดศีลธรรม ผิดกฎหมายเพื่อปกปิดความล้มเหลวหรือบิดเบือนสร้างหลักฐานปลอมว่าตนเองทำงานสำเร็จ ซึ่งบางครั้งการหลอกลวงก็ทำได้สำเร็จ และหลายครั้งก็ไม่สำเร็จถูกจับได้ ต้องติดคุกหัวโตกันไปก็มีหลายคน ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะล้มเหลวโดยไม่ตั้งใจกันทั้งนั้น ทางที่ดีที่สุดคือยืดอกยอมรับความผิดและบอกกับผู้บริหารลำดับสูงขึ้นไปหรือบอกกับลูกทีมว่าตนเองทำงานผิดพลาดหรือไม่สำเร็จ หากผู้นำเป็นตัวต้นเหตุแห่งความผิดพลาดก็ต้องขอโทษในความผิดของตน และสิ่งต่อไปที่จะทำเพื่อแก้ไขความผิดพลาดคืออะไร แน่ละที่บางครั้งผู้นำจะไม่ได้รับโอกาสให้แก้ตัวอีก ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องกล้าหาญที่จะรับผลแห่งความผิดพลาด ดีกว่าการพูดปดหรือทำผิดต่อไปเพื่อปกปิดความผิดที่เหมือนจะทำให้ตกลงไปในเหวที่ยิ่งลึกลงไปอีก ในระยะยาวแล้วสังคมยกย่องคนที่ซื่อสัตย์กล้ายอมรับความจริงมากกว่าคนหลอกลวงค่ะ

กลัวการตัดสินใจ ประเด็นนี้ก็เป็นเรื่องที่ผู้นำกลัวกันหลายคน ทำไมหรือ? ก็เพราะกลัวตัดสินผิดพลาดแล้วต้องรับผิดชอบ ซึ่งในเรื่องของการกลัวพลาดเราได้คุยกันไปแล้ว สำหรับการกลัวที่จะต้องตัดสินใจนั้นมีข้อแนะนำดีๆหลายประการคือ อย่าเร่งตัดสินใจถ้ายังไม่พร้อม และถ้ายังมีเวลาเหลือพอ จงใช้เวลานั้นหาข้อมูลเพิ่มเติม ปรึกษาผู้รู้ที่มีประสบการณ์ อย่าตัดสินใจคนเดียว แต่ให้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องนั้นๆร่วมกันเพื่อระดมความคิดที่หลากหลายเพื่อผู้นำจะสามารถพิจารณาได้รอบคอบทุกแง่มุม นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือด้านการจัดการที่จะช่วยการตัดสินใจอีก เช่น การศึกษาหาความเป็นไปได้ โมเดล Decision Tree Data Analytics เป็นต้น และเมื่อแน่ใจว่าทำการบ้านพอเพียงแล้วก็ต้องตัดสินใจอย่าชักช้า ต้องไม่ลืมว่าเหตุที่องค์กรจ้างผู้นำในอัตราเงินเดือนที่สูงกว่าพนักงานธรรมดาก็เพราะเขาเชื่อในวิจารณญาณการตัดสินใจและความรับผิดชอบของผู้นำนั่นเอง

กลัวการพูดต่อหน้าคนกลุ่มใหญ่ มีผู้นำหลายคนที่เป็นบุคลิกภาพแบบเก็บตัว (Introvert) ทั้งๆที่ฉลาด เก่งการบริหารงาน แต่เมื่อต้องอยู่หน้าคนหมู่มากจะเกิดอาการประหม่าพูดตะกุกตะกัก เรื่องอย่างนี้แก้ไขได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนตัวเองจากคนพูดน้อยไปเป็นคนพูดมากที่หาสาระได้น้อย คำแนะนำก็คือควรขจัดความกลัวด้วยการเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวบ่อยๆ ฝึกการพูดต่อหน้าชุมชน อาสาเป็นผู้นำเสนองาน (presentation) บ่อยๆ ตอนแรกๆ ย่อมมีการขัดเขินแน่นอน พอทำบ่อยๆมากเข้าก็จะชินและมีความมั่นใจมากขึ้นและเมื่อมั่นใจ สติก็จะตามมาให้พูดได้คล่องไม่สับสนตะกุกตะกัก และยังอาจเติมอารมณ์ขันเด็ดๆเข้าไปได้อีกด้วยซ้ำไป

กลัวความรับผิดชอบ ยิ่งสูงก็ยิ่งหนาว อยากเป็นคนเก่งเป็นผู้นำ ภาระความรับผิดชอบย่อมตามมา แต่ก่อนที่จะข้ามไปกังวลว่าจะต้องรับผิดชอบลูกค้าหรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ขององค์กร อย่าลืมว่าความรับผิดชอบที่สำคัญลำดับแรกของผู้นำที่อยู่ใต้จมูกของท่านเองก็คือทีมงานของท่าน งานในความรับผิดชอบของท่านจะออกมาดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับผลงานจากทีมของท่าน ดังนั้นหากท่านให้ความสำคัญกับทีมงานอย่างจริงจัง ใส่ใจบริหารและดูแลพวกเขาให้มีแรงจูงใจในการทำงาน พวกเขาจะสามารถสร้างงานที่ทำให้ลูกค้าและผู้ถือหุ้นพอใจได้ บทเรียนนี้สอนให้ผู้นำรู้ว่าความกลัวที่จะต้องรับผิดชอบงานใหญ่นั้นป้องกันแก้ไขได้ด้วยการมีทีมงานที่แข็งแกร่งผูกพันภักดีกับผู้นำ ด้วยการที่ผู้นำรู้จักการกระจายอำนาจมอบหมายงานและพัฒนาทีมงานของตนให้มีความสามารถ สร้างสรรค์ มีภาระผู้นำที่ดีที่พร้อมจะสืบทอดตำแหน่งจากท่าน เพราะเมื่อมีทีมงานที่เก่งและไว้ใจได้แบบนี้ยังจะกลัวความรับผิดชอบอีกหรือ?

ความกลัวของผู้นำมักจะไม่พ้น 4 เรื่องหลักนี้ และเมื่อเข้าใจสาเหตุของความกลัวและวิธีทางแก้ไขแล้ว ก็ขอให้เดินหน้าเป็นผู้นำที่ดีต่อไปอย่าได้ท้อถอยนะคะ กล้าๆหน่อย!