เกาหลี คิดและทำอย่างมุ่งมั่น

เกาหลี คิดและทำอย่างมุ่งมั่น

ผมได้มีโอกาสฟังบรรยายจาก Mr. David Sehyeon Baek ผู้เชี่ยวชาญเกาหลี ที่มีลีลาการพุดเฉียบคม

เขาได้ยก 2 ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ประเด็นแรกคือ การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) และประเด็นที่สองคือ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ซึ่งเขาได้ถามผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาว่า “คุณจำได้ไหมว่าปีที่แล้วในวันนี้ คุณกำลังทำอะไร” ซึ่งแน่นอนคงไม่มีผู้เข้าร่วมประชุมคนใดตอบได้ ใครจะไปนั่งจำ ยกเว้นว่าจดบันทึกไว้ แต่กระนั้นก็คงต้องไปเปิดย้อนดูอยู่ดี แต่คอมพิวเตอร์สามารถจดจำได้ และบอกเราได้ในทันทีที่เราต้องการรู้” ดังนั้นถ้าเราอยากรู้อะไรแทนที่จะถามคน น่าจะไปถามคอมพิวเตอร์คงจะได้คำตอบที่ถูกต้องและรวดเร็วกว่า และแทนที่เราจะบอกให้คนช่วยจดบันทึกข้อมูลหรือจำสิ่งต่างๆให้เรา จะดีกว่าไหมถ้าเราจะบันทึกมันด้วยคอมพิวเตอร์

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าทุกวันนี้ ทุกคนใช้ชีวิตและจับจ่ายซื้อของ ทำธุรกรรมทางการเงิน และกิจกรรมอีกมากมายในแต่ละวัน ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และมันสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมต่างๆของเราออกมาได้ ลองคิดดูว่าถ้าเราเข้าไปในโรงงานสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติ ซึ่งมีคนทำงานอยู่น้อยมาก เราจะพูดถึงผลิตภาพ (Productivity) ให้ใครฟัง ระบบการผลิตจะเปลี่ยนแปลงรูปร่างหน้าตาไปอย่างไร หุ่นยนต์จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น คุณแบ็ค ได้นำเสนอวีดีโอของหุ่นยนต์ที่พัฒนาขึ้นโดย Boston Dynamics กับอีกตัวอย่างหนึ่งคือการตรวจวินิจัยทางการแพทย์และรักษาคนป่วยผ่านระบบที่เรียกว่า IBM Watson Health Cloud for Life Science 

สิ่งที่คุณแบ็ค ทิ้งท้ายไว้คือถ้าคอมพิวเตอร์มีข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับเรา และถ้าใครก็ตามเข้าถึงมันได้ ก็หมายความว่าเขาจะรู้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับเรา ดังนั้นระบบการรักษาความปลอดภัยในระบบเปิด (Secure and Open Platform) จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

และในยุคที่คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ไฝ่ฝันอยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจ มากกว่าจะเป็นลูกจ้างหรือพนักงานกินเงินเดือน ที่เกาหลีคนรุ่นใหม่ก็เช่นกัน แม้ว่าผลการจัดอันดับด้านนวัตกรรม Bloomberg Innovation Index จะยกให้เกาหลีเป็นอันดับ 1 ก็ตาม แต่ไม่มีประเทศใดสมบูรณ์แบบ (No Country Perfect)

คุณแบ็ค กล่าวว่าเกาหลีเองก็มีหลายปัญหาที่ต้องแก้ไข ไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ ได้แก่

  1. การปฏิวัติอุตสาหกรรมสู่ยุค 4.0(The 4th Industry Revolution)
  2. อัตราการว่างงานที่สูง (High Unemployment Rate)
  3. สังคมผู้สูงวัย คนหลังวัยเกษียณเพิ่มจำนวนมากขึ้น (Aging society) คาดว่าปี 2050 จะสูงถึง 34.9%
  4. อัตราการเกิดใหม่ของเด็กทารกต่ำสุดในโลก (Lowest Birthrate in the World)
  5. วิกฤตในภาคการผลิต (Crisis in Manufacturing)
  6. การเติบโตอย่างรวดเร็วของจีน (Rapidly Emerging China)

ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องช่วงชิงความเป็นผู้นำ (First mover) ต้องตามได้อย่างรวดเร็ว (Fast follower) และต้องไม่ยึดติดกับกรอบแนวคิดเดิม (Paradigm shift)ดูเหมือนว่าธุรกิจสตาร์ทอัพจะเป็นทางออกหนึ่ง จึงจำเป็นต้องมีหน่วยส่งเสริมและสนับสนุนที่ช่วยผลักดันให้เติบโตและแข็งแรงได้อย่างรวดเร็ว ได้แก่ หน่วยบ่มเพาะธุรกิจ (Incubator) ที่จะช่วยกลั่นความคิด สร้างโอกาส และเปลี่ยนมันให้กลายเป็นสิ่งใหม่ให้ได้ และหน่วยเร่งเครื่องทางธุรกิจ (Accelerator) ที่จะช่วยระดมทุน จับคู่และเปิดช่องทางธุรกิจให้เติบโตก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็วขึ้น คุณแบ็ค ได้แสดงให้เห็นภาพบรรยากาศการทำงานของ 2 หน่วยงานดังกล่าวที่เขาดูแลรับผิดชอบอยู่ เป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันสำหรับใครก็ตามที่มีไอเดียและผลงานที่ต้องการต่อยอดทางธุรกิจ

ถ้าเราเข้าไปใน Apple Store เราจะเห็น App ตัวหนึ่งชื่อว่า OPUS ONE SMART UMBRELLA JONAS ซึ่งเป็นผลผลิตจากบริษัท Opus One พัฒนาขึ้นเพื่อให้คนติดตั้งและใช้งานร่วมกับร่มอัจฉริยะ Mr. Joseph Kim ผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพแห่งนี้ เคยเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์และนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านอุปกรณ์มัลติมีเดียแบบพกพาของ Samsung Electronics Mobile ช่วงปี 2000-2012 ก่อนที่จะลาออกมาเพื่อมาทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์เสริมของโทรศัพท์ (Mobile Accessory) ภายใต้แบรนด์ “araree” ทำรายได้ 15 ล้านเหรียญในเวลา 2 ปีครึ่ง

สินค้านวัตกรรมตัวแรกของOpus One Inc. คือร่มอัจฉริยะ (Smart Umbrella) ที่ใช้เทคโนโลยี IoT ติดเข้าไปที่ตัวด้ามของร่ม และเชื่อมต่อสัญญาณบลูทูสเข้ากับ Smart phone ผ่านทาง App โดยข้อมูลพยากรณ์อากาศจะถูกประมวลผลและแสดงเป็นสัญญาณเสียง แสงไฟ และการสั่นที่ตัวร่ม ที่สำคัญดีไซน์ก็งดงามและมีเสน่ห์มาก

สำหรับประเทศไทยขอแค่คิดและลงมือทำอย่างมุ่งมั่นเท่านั้น ตามทันแน่นอน