การดูงานมีประโยชน์จริงหรือ

การดูงานมีประโยชน์จริงหรือ

การดูงานมีประโยชน์จริงหรือ

การดูงาน เป็นการไปเรียนรู้จากของจริง ในภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า filed trip หรือ study trip หมายถึงการไปศึกษาจากของจริง หลังจากได้เรียนรู้เรื่องทฤษฎีมาแล้ว ส่วนใหญ่ใช้ filed trip กับนักเรียนนักศึกษา เป็นการไปเปิดหูเปิดตา นอกห้องเรียน และใช้ study trip สำหรับการดูงานของผู้ที่ทำงานแล้ว

วัตถุประสงค์ของการดูงาน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ จากการสังเกตการณ์ และรับทราบประเด็นปลีกย่อยเพิ่มเติม ในการปฏิบัติ รวมถึงประเด็นปัญหาของผู้ที่เคยปฏิบัติมาแล้วว่า มีอะไรบ้างที่ต้องระวัง

ดิฉันเป็นผู้หนึ่งที่ชอบการไปดูงาน ไม่ว่าจะเป็นในสมัยที่เรียนหนังสืออยู่ หรือในการทำงาน หลายครั้งที่การดูงานช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ที่สามารถนำมาริเริ่มสิ่งใหม่ๆ และหลายครั้งที่การดูงานก่อให้เกิดความคิดในการต่อยอดจากของเดิม เช่น การดูงานกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ในประเทศออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา พร้อมกับหน่วยงานกำกับ คือ สำนักงานคณะกรรมการ กลต. เพื่อทำความเข้าใจอย่างละเอียด เกี่ยวกับเรื่องกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ จากผู้เกี่ยวข้องทุกๆกลุ่ม ก่อนเริ่มก่อตั้งกองทุนประเภทนี้ในประเทศไทย

การดูงานเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการเข้าไปทำงานในขอบเขตใหม่ๆ เช่น เคยเป็นเจ้าหน้าที่อำนวยสินเชื่อ แต่ต้องมารับงานบริหารเงินให้กับลูกค้า ในฐานะผู้จัดการกองทุน เคยเป็นผู้จัดการกองทุน แต่ต้องขยายไปทำหน้าที่ วางแผนการเงิน เป็นต้น

การเปิดรับวิทยาการ ศึกษาข้อมูลและงานวิจัย รวมถึงการดูงาน มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้รับผิดชอบต่อทิศทางขององค์กร เช่น คณะกรรมการ สมัยที่ ดิฉันเป็นผู้จัดการกองทุน แต่ต้องไปรับผิดชอบนโยบายและการดำเนินการของตลาดหลักทรัพย์ ในฐานะกรรมการ ก็ได้อาศัยการเรียนรู้จากการอ่าน การศึกษาตลาดหลักทรัพย์ของประเทศอื่นๆ และจากการพบปะ ผู้ที่อยู่ในแวดวงเดียวกัน ทำหน้าที่คล้ายๆกัน ในสหพันธ์ตลาดหลักทรัพย์โลก (World Federation of Exchanges) หรือ เมื่อจะนำเรื่องวางแผนการเงิน เข้ามาบุกเบิกในประเทศไทย ไปดูงานวางแผนการเงิน เพื่อนำมาบุกเบิกสมาคมนักวางแผนการเงิน ในประเทศไทย เป็นต้น

ผู้รับผิดชอบต่อทิศทางขององค์กร อาจไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นโดยตรง เรื่องนี้ดิฉันประสบเองตลอดเวลา เพราะหน่วยงานต่างๆ มักจะต้องการคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ในขณะที่ตัวดิฉันเอง ก็ไม่ได้เข้าใจ โครงสร้าง ลักษณะการดำเนินการ และข้อมูลสภาพแวดล้อม รวมถึงประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับ พันธกิจขององค์กรนั้นๆมากนัก การศึกษางานรวมถึงการดูงาน จึงช่วยเปิดหูเปิดตา ช่วยให้มีความเข้าใจพันธกิจ ในบริบทกว้างได้มากขึ้น ทำให้สามารถนำความรู้ความชำนาญของเรา มาประยุกต์ใช้ ให้เป็นประโยชน์ต่อองค์กรได้ดีขึ้น

การศึกษางานขององค์กรไม่แสวงหากำไร เช่น เรื่องกิจการเพื่อสังคม เรื่องพันธกิจในการให้การศึกษาแก่เยาวชน ฯลฯ ได้ช่วยให้ดิฉันมีความเข้าใจ และสามารถปฏิบัติงานหน้าที่ในการเป็น กรรมการหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวกับ เรื่องต่างๆเหล่านี้ได้ดีขึ้น

ดิฉันคิดว่าประเด็นปัญหาของการดูงานของประเทศไทย อยู่ที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้มองเห็นการ “ดูงาน” เป็นการเรียนรู้ แต่เห็นเป็นการ “ท่องเที่ยว” จึงบรรจุโปรแกรมดูงาน เป็นส่วนน้อย และโปรแกรมท่องเที่ยว เป็นส่วนใหญ่ ทำให้การดูงาน ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการไปเที่ยวสังสรรค์ และบางครั้ง เลยเถิดไปถึงการพาสมาชิกในครอบครัวไปด้วย

ประเด็นปัญหาเหล่านี้จะหมดไป ถ้าเราเน้นเรื่อง “ความเป็นมืออาชีพ” เคารพในกติกาว่า ผู้เข้าร่วมดูงานต้องเข้าร่วมฟังการบรรยายหรือกิจกรรมดูงานที่จัดไว้ให้ ทุกรายการ ห้ามขาด และต้องไม่มีการท่องเที่ยวจนเกินเลย ในการดูงานแต่ละครั้ง อาจมีการพาชมวิวทิวทัศน์ หรือสถานที่สำคัญๆของเมืองนั้นๆได้สักครึ่งวัน และมีช่วงเวลาว่างให้ผู้ดูงานสามารถมีอิสระที่จะไปทำภารกิจที่สนใจได้อีกสักครึ่งวัน หากจะทำอะไรเกินกว่านี้ ควรจะขอแยกอยู่ต่อ และจ่ายเงินค่าใช้จ่ายต่างๆที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าเปลี่ยนบัตรโดยสารจากแบบกลุ่มเป็นแบบเดี่ยว ค่าที่พัก ค่าเดินทางไปสนามบิน หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ด้วยตนเอง ซึ่งหากใช้เกณฑ์นี้ ผู้ที่ไม่ได้จะไปดูงานเพราะสนใจดูงานจริงๆ จะได้ “ถอย” ออกไป เท่ากับจัดให้กับผู้สนใจจริงๆเท่านั้น

หากต้องการจัดทริปสังสรรค์ สามารถจัดได้โดยแยกต่างหาก โดยใช้เงินของตัวเอง และจะพาคนในครอบครัวไปก็ย่อมได้ เพราะไม่เกี่ยวกับงาน เป็นการกระชับความสัมพันธ์กับกลุ่มที่เราร่วมงานด้วยเท่านั้น ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดี

ถ้าทำได้ ใช้เวลาอีกสักพัก ชื่อเสียงของคนไทยก็คงจะดีขึ้น ปัจจุบันเป็นที่รู้กันว่า คนไทยลงชื่อไปสัมมนา หรือดูงานแล้ว มักไม่ค่อยเข้าร่วมกิจกรรมสัมมนาหรือดูงาน แต่จะหายตัวไป จะมาปรากฏตัวก็ต่อเมื่อมารับประทานอาหาร หรือมีงานเลี้ยง หรือร่วมทริปที่เขาจัดให้ชมเมืองเท่านั้น เป็นที่น่าอับอายเป็นอย่างยิ่ง