อันเนื่องมาจากเรื่อง 'เศรษฐกิจพอเพียง ฉบับส่งเสด็จ' (5)

อันเนื่องมาจากเรื่อง 'เศรษฐกิจพอเพียง ฉบับส่งเสด็จ' (5)

ไทยมีความอุดมสมบูรณ์มาก เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ แต่ไทยพัฒนาได้ช้ากว่า 2 ประเทศนั้น

 จึงมองได้ว่าไทยตกขบวนรถไฟแห่งการพัฒนามาแล้ว 2 ครั้ง หนังสือเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง ฉบับส่งเสด็จ” พูดถึงปัจจัยที่ทำให้ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้พัฒนาได้รวดเร็วและนโยบายที่ทำให้อาร์เจนตินาและเวเนซุเอลาประสบปัญหา ประเทศละตินอเมริกาทั้งสองมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์มาก จึงมองได้ว่าปัญหามาจาก “คำสาปของทรัพยากร”

เวเนซุเอลามีน้ำมันดิบมากที่สุดในโลก แต่ประชาชนตกทุกข์ได้ยากอย่างแพร่หลายในขณะนี้ ย้อนไปหลายสิบปี รัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติของเวเนซุเอลาเตือนว่า น้ำมันเป็น “อุจจาระของปีศาจ” ซึ่งร้ายกาจยิ่ง จริงดังเขาเตือน รายได้จากการขายน้ำมันทำให้เวเนซุเอลาดำเนินนโยบายผิดพลาดมากจากการใช้ประชานิยมแนวเลวร้ายไปจนถึงการลืมคนรุ่นหลัง ในปัจจุบัน รัฐบาลเวเนซุเอลายังขายน้ำมันให้ประชาชนในราคาใกล้ให้เปล่า ส่วนรายได้จำนวนมหาศาลจากการส่งออกน้ำมันถูกผลาญหมดไปโดยปราศจากการออมไว้ให้ลูกหลาน เรื่องนี้ต่างกับนอร์เวย์ปานหน้ามือกับหลังมือ

อร์เวย์ค้นพบน้ำมันเมื่อไม่นานมานี้และมีน้ำมันน้อยกว่าเวเนซุเอลา แต่ในปัจจุบัน นอร์เวย์มีกองทุนซึ่งเก็บออมรายได้จากน้ำมันใหญ่ที่สุดในโลก นอร์เวย์ทำเช่นนั้นได้เพราะรัฐบาลเข้าใจวิธีบริหารจัดการทรัพยากรจำพวกน้ำมันซึ่งหมดไปได้ รัฐบาลเก็บภาษีและตั้งราคาน้ำมันไว้ในระดับสูงส่งผลให้นอร์เวย์ขายน้ำมันให้ประชาชนในราคาที่สูงกว่าประเทศอื่น รัฐบาลสะสมส่วนหนึ่งของรายได้นั้นไว้ในกองทุนเพื่อชนรุ่นหลัง ชาวนอร์เวย์รุ่นต่อ ๆ ไปจึงจะได้ประโยชน์นานเท่านานหลังน้ำมันถูกสูบขึ้นมาหมดแล้ว แนวคิดนี้ถูกนำไปใช้ในหลายประเทศที่มีน้ำมันมากเช่นกัน

หนังสือเล่มดังกล่าวเสนอให้รัฐบาลไทยนำแนวคิดเดียวกันมาใช้ด้วย กองทุนควรจะสะสมส่วนหนึ่งของรายได้จากทรัพยากรน้ำมันและอาจขยายออกไปเพื่อรวมรายได้จากเหมืองแร่ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในเมืองไทย ทรัพยากรเหล่านี้เป็นจำพวกที่หมดไปเมื่อนำออกมาใช้ส่งผลให้คนรุ่นหลังไม่ได้ประโยชน์หากคนรุ่นนี้ไม่เก็บส่วนหนึ่งไว้ให้ จริงอยู่ตอนนี้เรายังไม่รู้แน่นอนว่าเรามีทรัพยากรจำพวกนี้เท่าไร แต่ถ้าจะให้ความเป็นธรรมแก่ชาวไทยรุ่นหลัง เราต้องตั้งกองทุนขึ้น

ทางด้านทรัพยากรหมุนเวียนจำพวกดิน น้ำและป่าไม้ที่ใช้แล้วไม่หมดไป หรือสร้างขึ้นมาทดแทนได้ การบริหารจัดการมีหลักการต่างกัน ในพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อคืนวันที่ 4 ธ.ค. 2540 ซึ่งคนไทยโดยทั่วไปได้ยินเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นครั้งแรกมีเรื่องการบริหารจัดการน้ำและดินตั้งแต่ตอนต้นจนถึงตอนจบ เรื่องแรกที่พระองค์ทรงอ้างถึงอย่างละเอียดได้แก่ การทำแก้มลิงที่หนองใหญ่เพื่อป้องกันมิให้น้ำท่วมเมืองชุมพร หลักการบริหารจัดการน้ำและดินของพระองค์ท่านเป็นองค์ประกอบสำคัญใน “ศาสตร์พระราชา” ที่ทั้งรัฐบาลและคนไทยจำนวนหนึ่งอ้างถึงว่าจะนำมาประยุกต์ใช้ แต่ไม่เป็นที่ประจักษ์ว่า การนำมาใช้นั้นเป็นไปทั้งอย่างจริงจังและกว้างขวาง

ในกรณีพื้นที่แก้มลิงหนองใหญ่ซึ่งป้องกันน้ำท่วมได้ดีเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า การอ้างถึงศาสตร์พระราชาอาจเป็นเพียงวาทกรรมจำพวกเพราะหู เป็นเวลาหลายปี ชาวบ้านได้ออกมาต่อต้านและร้องเรียนเรื่องนายทุนเข้าไปจับจองพื้นที่ในแก้มลิง พวกนายทุนกดดันให้ทางราชการออกโฉนดซึ่งครอบคลุมพื้นที่ถึงราว 1 ใน3 ของหนองใหญ่ หากชาวบ้านไม่ต่อต้านอย่างแข็งขันอย่างต่อเนื่อง เรื่องนี้คงจบไปนานแล้วโดยนายทุนได้โฉนดจากความร่วมมือของข้าราชการทุจริต คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเอือมระอากับการทุจริตของข้าราชการจนถึงกับออกพระโอษฐ์สาบแช่งไว้ในโอกาสที่ผู้ว่าราชการจังหวัดใหม่เข้าเฝ้าเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2546 ว่า “ถ้าทุจริตแม้แต่นิดเดียว ก็ขอแช่งให้มีอันเป็นไป”

การทุจริตรวมทั้งการไม่ทำงานอย่างเต็มที่ตามกำหนดเวลาเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการพัฒนามานาน ถ้าจะปราบความทุจริตในวงราชการควรเริ่มจากผู้อยู่ในรัฐบาลยุติการแต่งตั้งพวกพ้องของตนที่ขาดความเชี่ยวชาญให้ทำงาน หรือซ้ำร้ายยังแต่งตั้งให้รั้งคนละหลายตำแหน่งทำให้รัฐไม่ได้ผลงานเต็มที่ เกาหลีใต้สามารถพัฒนาทันญี่ปุ่นได้อย่างรวดเร็วเพราะลดการทุจริตลงได้อย่างมีนัยสำคัญ