ต้มยำกุ้ง

ต้มยำกุ้ง

“คนฉลาดเรียนรู้จากอดีต เพื่อทำความเข้าใจปัจจุบันและคาดการณ์อนาคต” ความผิดพลาดในอดีตเป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้

 แต่ถ้าเรามองข้ามไป ไม่เพียงเป็นความสูญเปล่า ในไม่ช้ามันจะกลับมาและหนักหนาสาหัสกว่าเดิม

วันที่ 2 กรกฎาคม 2560 คือวันครบรอบ 20 ปีของการลอยตัวค่าเงินบาท อันเปรียบเสมือนคำประกาศการพังทลายของเศรษฐกิจฟองสบู่ของไทย เราจะวิเคราะห์ในมุมโหราศาสตร์กัน

นับแต่สร้างกรุงเทพปี 2325 เศรษฐกิจไทยมีจุดเปลี่ยนใหญ่ 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อสยามทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษ โดยลงนาม 18 เมษายน 2398 และบังคับใช้ 6 เมษายน 2399 โครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ระบบเจ้าภาษีนายอากรถูกเปลี่ยนเป็นการค้าเสรี การค้ากับต่างประเทศขยายตัวอย่างมาก สยามเปลี่ยนจากเศรษฐกิจแบบพึ่งตัวเองไปเป็นผลิตสินค้าพื้นฐานเพื่อส่งออก เช่น ข้าว ดีบุก ยางพารา ฯลฯ ไทยกลายเป็นส่วนหนึ่งของ Global Supply Chain ของอังกฤษ

ในวันลงนาม มฤตยูพลูโตจรในราศีเมษ มฤตยูคือการต่อต้านของเดิม พลูโตคือการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน พลูโตทับอาทิตย์เดิมสนิท ร.4 ทรงยอมรับการเปลี่ยนแปลง มฤตยูทับลัคน์สนิท บ้านเมืองเปลี่ยนไปสู่สิ่งใหม่ เสาร์ทับอังคารเดิมสนิทในภพ 2 โครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยนตามไปด้วย

ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อมฤตยูพลูโตจรในราศีสิงห์ตั้งแต่กันยายน 2503 สิงห์คือราศีแห่งการสร้างและลงทุน มันเป็นช่วงเวลาที่ไทยเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 และลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ เช่น ถนน เขื่อน ฯลฯ ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมตามมามากมาย

มฤตยูพลูโตกุมกันสนิทที่ 23 องศา เกิดเป็นวัฏจักรใหม่ช่วงปลายปี 2508 – กลางปี 2509 จุดกุมทำมุม 120 กับลัคนาดวงเมืองพอดี ชี้ถึงพลังการเปลี่ยนแปลงประเทศให้ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โหราศาสตร์ถือเป็น “จุดเริ่มต้น” ของวัฏจักรใหญ่ในการพัฒนาประเทศชาติบ้านเมือง

ต้นศตวรรษใหม่เป็นช่วงเวลาสำคัญของการเมืองไทยด้วย เพราะวงรอบดาวเสาร์ 30 ปีได้เปลี่ยนใหม่อีกครั้ง วงรอบเดิมคือวงรอบที่ 6 ตั้งแต่ 27 ธันวาคม 2472 – 8 กุมภาพันธ์ 2502 เป็นยุค “แย่งอำนาจทางการเมือง” วงรอบใหม่ที่เปิดตัวโดยจอมพลสฤษดิ์คือยุค “ทหารคุมการเมือง” วงรอบที่ 7 นี้เริ่ม 8 กุมภาพันธ์ 2502 – 18 ธันวาคม 2531

เศรษฐกิจในวงรอบที่ 7 นำโดยภาครัฐ รัฐเป็นผู้วางแผนและขับเคลื่อน ภาคเอกชนคือผู้ได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจที่เติบโต อำนาจทางเศรษฐกิจนำมาซึ่งอำนาจทางการเมือง ตั้งแต่ 18 ธันวาคม 2531 การเมืองไทยเข้าสู่วงรอบที่ 8 อำนาจถูกเปลี่ยนมือ มันกลายเป็นยุค “ธุรกิจคุมการเมือง” เศรษฐกิจไทยเปิดกว้างและเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกอย่างสมบูรณ์ กระแสเงินทุนต่างชาติมีอิทธิพลอย่างสูง จนนำไปสู่ทศวรรษแห่งการเติบโตแบบจอมปลอม หรือเศรษฐกิจฟองสบู่นั่นเอง

ช่วงรอยต่อของวงรอบที่ 7 และ 8 สถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง พฤศจิกายน 2525 เสาร์พลูโตเริ่มวัฏจักรใหม่ในราศีตุลย์ ผลของสงครามเย็นทำให้โซเวียตเกิดวิกฤติเศรษฐกิจและการเมือง มีนาคม 2528 มิคาอิล กอร์บาเชฟขึ้นเป็นผู้นำและผลักดันนโยบายปฏิรูป แต่มันไม่ทันการณ์ กระแสเรียกร้องประชาธิปไตยในยุโรปตะวันออกแรงมาก จนนำไปสู่การพังทลายของกำแพงเบอร์ลินเมื่อพฤศจิกายน 2532 สหภาพโซเวียตเองก็ล่มสลายในเดือนธันวาคม 2534

การล่มสลายของค่ายคอมมิวนิสต์ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเปิดกว้างทั้งการเมืองและเศรษฐกิจทั่วโลก มันเป็นอิทธิพลของเสาร์มฤตยูและเสาร์เนปจูนที่เริ่มวัฏจักรใหม่ในราศีธนูช่วงปี 2531 – 2532 เสาร์คือการเมือง มฤตยูคือปฏิรูป เนปจูนคืออุดมคติ ธนูคือการเชื่อมโยงระดับโลก มันคือโลกาภิวัตน์ (Globalization) นั่นเอง

อเมริกาไม่ใช่ไม่มีปัญหา เพราะเป็นเศรษฐกิจแบบเปิด ปัญหาจึงเกิดก่อนโซเวียตเสียอีก อเมริกาแก้ปัญหาด้วย Bretton Woods System ที่ยกเลิกการผูกค่าเงินดอลลาร์กับทองคำเมื่อสิงหาคม 2514 เศรษฐกิจดีขึ้นได้ไม่นานแล้วกลับมาแย่อีก กันยายน 2528 อเมริกาทำข้อตกลง Plaza Accord กับอังกฤษ-ฝรั่งเศส-เยอรมัน-ญี่ปุ่น เพื่อลดค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับมาร์คและเยน

เงินเยนที่แข็งค่าขึ้นเท่าตัว ทำให้ญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่มาที่ไทย เม็ดเงินมหาศาลไหลเข้าประเทศ เป็นจังหวะเดียวกับการเริ่มต้นวงรอบที่ 8 รัฐบาลพลเรือนเข้าบริหารประเทศสิงหาคม 2531 ยิ่งเพิ่มความมั่นใจให้กับต่างชาติ นโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ก็สอดคล้องกับกระแสโลกาภิวัตน์ ไทยกลายเป็นประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่ดึงดูดเงินทุนจากทั่วโลก

Plaza Accord เป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรพฤหัสเนปจูนในราศีธนูที่เริ่มต้นมกราคม 2527 ดอกเบี้ยเฟดปรับลดจาก 11.75 เหลือ 3 % ในปี 2536 เมื่อรวมกับการเปิดวิเทศธนกิจ BIBF ปี 2534 และนโยบายตรึงค่าบาทกับดอลลาร์ จึงมี Fund Flow มหาศาลเข้ามาเก็งกำไรและทำให้เศรษฐกิจกลายเป็นฟองสบู่ไปในที่สุด

ปี 2537 เฟดกลับทิศดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ฟันด์โฟลว์ไหลออก เศรษฐกิจเริ่มทรุด วันที่ 24 ตุลาคม 2538 เกิดสุริยคราส (สรรพคราส) ที่ 6:30 องศาตุลย์ คราสนี้ถูกจุดสำคัญในดวงเมือง เส้นทางคราสยังผ่าไทยเป็น 2 ส่วน นี่คือสัญญาณอันตรายมาก

บาปเคราะห์ใหญ่ที่ให้โทษคือเสาร์ราหู ตั้งแต่ 24 ธันวาคม 2538 - 18 มิถุนายน 2540 ราหูกันย์เล็งเสาร์มีนในภพอริ (ปัญหา / หนี้สิน / ศัตรู) - วินาศ (สูญเสีย / ชดใช้ / ลับ) ชี้ถึงเภทภัยอันตรายใหญ่หลวงจากศัตรูลับ ไทยถูกเฮดจ์ฟันด์โจมตีค่าเงินบาทอย่างหนัก

วันที่ 18 เมษายน 2539 เกิดสุริยคราสที่ 4:23 องศาเมษ เล็งจุดคราส 24 ตุลาคม วันที่ 12 ตุลาคม 2539 เกิดสุริยคราสที่ 25:43 องศากันย์ เล็งราหูเดิมสนิท วันที่ 9 มีนาคม 2540 เกิดสุริยคราส (สรรพคราส) ที่ 24:42 องศากุมภ์ ทำมุม 90 กับจุดศูนย์กลางภพมรณะ (ค่าเงิน)

วันที่ 7 เมษายน เกิดอมาวสีทับราหูเดิม วันที่ 7 พฤษภาคม เกิดอมาวสีทับลัคน์ วันที่ 5 มิถุนายน เกิดอมาวสีทับอังคารเดิม ในช่วงนั้น พฤหัสจรเป็นนิจจ์ เสาร์ทับราหูเดิม มฤตยูทับทศมลัคน์ เนปจูน 90 กับจุดคราส 24 ตุลาคม วันที่ 20 มิถุนายน ราหูยกเข้าปลายสิงห์ 150 กับพฤหัสเสาร์และ 135 กับมฤตยู

ในวันเกิดเหตุ อังคาร 90 กับเสาร์เดิม อาทิตย์ 90 กับจุดศูนย์กลางภพอริวินาศ ศุกร์ทับจันทร์เดิม พุธ 90 กับเสาร์จร คืนนั้นเมื่อจันทร์จรทับอังคารเดิม รัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาท

วิกฤติจะเกิดในเวลาที่เราไม่คิดว่าจะเกิด นี่คือบทเรียน