แบงก์ชาติอังกฤษ จะขึ้นดอกเบี้ยไหม?

แบงก์ชาติอังกฤษ จะขึ้นดอกเบี้ยไหม?

ไม่บ่อยครั้งที่เสียงของสมาชิกธนาคารกลาง จะออกมาแบบสูสีขนาด 5-3 โดยเฉพาะสำหรับธนาคารกลาง ที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยมสูง

อย่างธนาคารกลางอังกฤษหรือบีโออี ที่ดราม่าหนักขึ้นไปอีกเมื่อล่าสุด นายแอนดริว ฮาลเดน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของแบงก์ชาติอังกฤษ ซึ่งเมื่อกลางเดือนยังโหวตคงดอกเบี้ยนโยบาย ให้ความเห็นว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่ต้องบีโออีต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเสียทีเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของอังกฤษในเดือนพ.ค. 2017 ไปไกลถึง 2.9% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเป้าหมายอยู่ที่ 2% ความเห็นนี้ สวนทางกับนายมาร์ก คาร์นีย์ ผู้ว่าธนาคารกลางอังกฤษ ที่มองว่ายังเสี่ยงเกินไปในตอนนี้ท่ามกลางความไม่แน่นอนของ Brexit ที่จะขึ้นดอกเบี้ยในขณะนี้

เริ่มจากมุมของนายแอนดริว ฮาลเดน เขาเคยเชื่อว่าการที่ค่าจ้างของชาวอังกฤษไม่สูงขึ้นในช่วงนี้ เหตุการณ์ Brexit ที่สร้างความไม่แน่นอนแก่ชาวอังกฤษ และความอ่อนไหวของตลาดเงินต่อการเปลี่ยนนโยบายการเงินหรือ Surprise เป็นการเสริมความเชื่อของเขาว่ายังไม่ควรขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทว่าหลังจากได้รับข้อมูลจากรายงาน Inflation Report เดือนล่าสุด เขาเปลี่ยนความเชื่อดังกล่าว เห็นว่าควรขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในตอนนี้แทน ด้วยเหตุผลดังนี้

ประการแรก มุมมองของภาพตลาดโลกดูดีกว่าที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก จะเห็นได้ว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ ได้ทบทวนการเติบโตของเศรษฐกิจให้สูงขึ้นในเกือบทุกภูมิภาค นอกจากนี้ หากพิจารณาในแง่ขององค์ประกอบของการเติบโต จะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลง trend อย่างมีนัยยะสำคัญเมื่อเดือนที่แล้ว โดยการลงทุนและการค้าทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน รวมถึงการค้าของโลก ต่างมีการเติบโตเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี หากพิจารณาในแง่ของห่วงโซ่อุปทาน จะเห็นได้ว่ามีการขยายตัวทั้งในเชิงกว้างและลึก ซึ่งทำให้ประเมินได้ว่าอุปสงค์ของโลกมีการขยายตัว ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะเป็นการเริ่มรอบใหม่ของ Super Cycle สำหรับการลงทุน

ประการที่ ความเสี่ยงทางการเมืองลดลงพอสมควรจากต้นปีนี้ ด้วยความเสี่ยงของโดนัลด์ ทรัมป์ที่ถือว่าลดลง รวมถึงกระแสประชานิยมของยุโรปถูกติดเบรกในเนเธอร์แลนด์และฝรั่งเศส และน่าจะร่วมถึงเยอรมันในเดือนกันยายนนี้ แม้จะมีข่าวทางการเมืองอยู่เยอะทว่าความเสี่ยงทางการเมืองที่จริงแล้วลดลง

ประการที่ แม้การเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศต่างๆจะดูดีขึ้น ทว่า เมื่อกลางปีที่แล้ว อัตราเงินเฟ้อของประเทศหลักของโลกยังถือว่าต่ำอยู่ โดยความคาดหวังของอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐและอังกฤษต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต 0.8% และ 0.4% ตามลำดับ ทว่าหลังจากนั้น ภาพของอัตราเงินเฟ้อกลับเป็นหนังคนละม้วน โดยหลังจากเดือนก.ค. 2016 ความคาดหวังของอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐและอังกฤษสูงขึ้น 0.25% และ 0.4% ตามลำดับ ดังรูป คำว่า ‘เงินฝืด’ ได้หายไปจากการพูดคุยทางเศรษฐกิจแบบสิ้นเชิง ความจริงตรงนี้ จึงทำให้การคงอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำเหมือนในขณะนี้ ดูไม่สมเหตุสมผล

ประการที่ 4  ความกลัวว่า Brexit จะส่งผลให้เศรษฐกิจอังกฤษแย่ลงนั้น แท้จริงแล้วไม่ได้เกิดขึ้นจริง โดยแบงก์ชาติอังกฤษได้ทบทวนการคาดการณ์ของจีดีพีอังกฤษในปี 2017 ให้สูงขึ้นมากกว่า 1% จากที่เคยวิเคราะห์ไว้เมื่อเดือนส.ค. นอกจากนี้ ทั้งการลงทุนและการส่งออกของอังกฤษก็สูงขึ้นอีกด้วย ส่งผลให้งบดุลของบริษัทจดทะเบียนหลักทรัพย์ในอังกฤษแข็งแกร่งขึ้น ตลาดหุ้นอังกฤษจึงขยับสูงขึ้นกว่า 18% หลังจาก Brexit ตามไปด้วย

แม้จะต้องบอกว่าความเสี่ยงของ Brexit ยังมีเหมือนเดิม เนื่องจากอุปสงค์ของการบริโภคของประชาชนในการซื้อบ้าน รถยนต์และสินค้าคงทนจะลดลงอย่างมาก ทว่าองค์ประกอบอื่นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจดูจะสามารถชดเชยได้ไปอีกพักใหญ่

ประการที่ 5  เส้นโค้งอัตราดอกเบี้ยของอังกฤษยังคงต่ำมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยระยะยาว และดูจะไม่กระเตื้องขึ้นตามข่าวต่างๆที่เกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการเปลี่ยนแปลงของนโยบายการเงิน

ประการสุดท้าย หากพิจารณาจากอดีตที่ผ่านมา จะพบว่านโยบายการเงินของอังกฤษถือว่าอยู่ในโหมดผ่อนคลายอยู่ดี แม้ว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ในตอนนี้ก็ตาม

ซึ่งสวนทางกับความเห็นของนายคาร์นีย์ที่ย้ำว่าการที่เศรษฐกิจอังกฤษพึ่งพาภาคการเงินเป็นหลัก การขึ้นอัตราดอกเบี้ยท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมืองเรื่อง Brexit ในอีก 2 ปีข้างหน้า น่าจะถือว่าเสี่ยงเกินไป และให้ผลร้ายมากกว่าผลดี การรอดูไปก่อนน่าจะชัวร์กว่า

มุมมองของสองคนสองคมนี้ ผมให้น้ำหนักของนายฮาลเดนว่ามีความถูกต้องในแง่ของเศรษฐกิจอังกฤษในระยะยาวมากกว่า ทว่าความเสี่ยงถ้าเกิดพลาดถือว่ามีราคาสูงเกินไปที่จะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ เนื่องจากอังกฤษอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติในตอนนี้

ผมมองว่าท้ายสุดแล้ว การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของบีโออี ยากที่จะเกิดขึ้นภายในปีนี้ แม้ว่าเสียงของคณะกรรมการนโยบายการเงินจะใกล้เคียงกันมาก ทว่านายคาร์นีย์น่าจะประคองให้เสียงยังพอที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไปได้อย่างน้อยจนถึงสิ้นปีนี้

เก๋า’ ยังน่าจะกลบ ’เก่ง’ ครับงานนี้