ปัญหาแรงงานต่างด้าว

ปัญหาแรงงานต่างด้าว

ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ที่ตัวเลขในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ขยายตัวได้ 3.3%

 และมีแนวโน้มว่าทั้งปีนี้จะขยายตัวได้ในอัตรา 3.3%-3.8% มาจากแนวโน้มที่ดีต่อเนื่องของการส่งออก การท่องเที่ยว และความก้าวหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่นระบบการขนส่ง การขนส่งระบบรางนับตั้งแต่รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง และเป็นความหวังว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อน การลงทุนของเอกชนที่ยังไม่เกิดขึ้น การที่เอกชนจะลงทุนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยสองการการคือ (1) มีความต้องการซื้อขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นความต้องการจากต่างประเทศหรือในประเทศ เพราะการผลิตสินค้าและบริการขึ้นมานั้นจะต้องมีตลาดรองรับ และ (2) อัตราการใช้กำลังการผลิต ซึ่ง หากมีความต้องการเพิ่มขึ้น แต่ธุรกิจยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่แล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มหรือขยายการลงทุน

สำหรับปัจจัยสำคัญที่กำหนดกำลังซื้อที่ทุกวันนี้ ธุรกิจต่างแข่งขันกันลดราคาสินค้าที่มีโปรโมชั่นที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี ที่เป็นโอกาสของผู้ซื้อ พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยเองก็บ่นว่ามีแต่คนขายของแต่จำนวนคนซื้อลดน้อยลง อันนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้และเป็นประเด็นปัญหายากของรัฐบาลที่จะแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น เพราะเป็นปัญหาที่เกิดมาหนี้ของครัวเรือน(หรือประชาชนโดยรวม) ที่อยู่ในระดับสูงถึง 80% ของผลิตภันฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) ที่แปลความง่ายๆว่า ประชาชนมีหนี้อยู่ 80% ของรายได้ ซึ่งหมายถึงว่าทุกๆ เดือนเมื่อมีรายได้ 100 บาท ก็จะต้องนำไปชำระหนี้ 80 บาท ไม่ว่าจะเป็นหนี้สินเชื่อบ้าน รถยนต์ หรือหนี้บัตรเครดิตและอื่นๆ จึงทำให้มีเงินเหลือสำหรับไปซื้อสินค้าต่างๆ น้อยลง ดังนั้นการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจจึงลดลง อันหนี้สินที่เพิ่มขึ้นนี้ได้เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดในช่วงปี 2555 เป็นต้นมา ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายของรัฐในการกระตุ้นให้ประชาชนใช้จ่ายที่เกินตัวด้วยมาตรการต่างๆ ที่สะสมมาจนถึงในปัจจุบัน

สำหรับสถาบันการเงินนั้นเมื่อสินเชื่อหรือหนี้ที่เพิ่มขึ้นนั้นก็ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ หรือธนาคารของรัฐ เริ่มมีหนี้เสียหรือที่เรียกว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นตามมาด้วย ที่ทำให้ต้องมีการเพิ่มทุน หรือการกันเงินสำรองที่มากขึ้น จึงทำให้สถาบันการเงินเหล่านั้นระมัดระวัง หรือมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นจึงเป็นปัญหาเงินฝืด

จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จู่ๆ ก็มี กฎหมายแรงงานต่างด้าวฉบับใหม่ที่ออกมาในสัปดาห์นี้ ที่สร้างความตื่นตระหนกต่อธุรกิจในประเทศ คือ สถานประกอบการหรือครัวเรือนที่มีการใช้แรงงานต่างด้าว ที่น่าจะเน้นหมายถึงแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านอันได้แก่ พม่า ลาวและกัมพูชา ที่มาทำงานตามโรงงานหรือตามบ้านเรือนด้วยบทลงโทษที่รุนแรงว่า จะมีการปรับนายจ้างสำหรับการมีแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายในอัตรา 400,000-800,000 บาทต่อแรงงาน คน และบ้างระบุว่าจะให้ผู้แจ้งเบาะแส 25% ของเงินค่าปรับ ซึ่งเป็นการทำลายธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่คิดเป็นธุรกิจส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะแน่นอนว่าว่าธุรกิจขนาดย่อยส่วนหนึ่งต้องปิดกิจการไป เพราะไม่ต้องการเสี่ยงที่จะต้องถูกปรับเงินจำนวนมหาศาลดังกล่าว

ปัญหาแรงงานต่างด้าวไม่ได้เริ่มเกิดขึ้นวันนี้ แต่เกิดจากการขาดแคลนแรงงานคนไทยมากว่า 10 ปีแล้ว ที่ทำให้ต้องมีการนำเอาแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาทำงานทดแทนแรงงานไทยในหลายธุรกิจ โดยเฉพาะ ประมงและงานบ้าน และทำให้มีแรงงานต่างด้าวจำนวนนับหลายล้านคน ที่เข้ามาทำงานในประเทศโดยผิดกฎหมายที่ไม่มีใบอนุญาติทำงาน ที่ในด้านบวกบวกคือการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่คนไทยไม่ยอมทำแล้ว ที่ในหลายๆครั้งได้ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม เช่น โรคภัย หลายประการที่เคยหมดไปจากประเทศไทยได้กลับมาเกิดขึ้นอีก อาชญกรรม เช่นฆาตกรรมหรือการปล้น จี้ นายจ้าง หรือเด็กเกิดใหม่ในประเทศไทย ตลอดจนการเข้ารักษาพยาบาลตามสถานพยาบาลของรัฐที่เป็นภาระต่อประเทศ

แต่บทลงโทษปรับที่รุนแรงดังกล่าว ควรที่จะกำหนดช่วงระยะเวลาผ่อนผันที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน เพราะการจะทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางขนาดเล็กมีเวลาการปรับตัว หากจะให้มีผลบังคับใช้ในทันทีธุรกิจเหล่านี้ก็จะได้รับผลกระทบที่รุนแรงและจะอยู่ไม่ได้ต้องปิดกิจการไป เพราะไม่ต้องเสี่ยงกับการถูกปรับ อนึ่งการดำเนินการขออนุญาติ หรือทำใบอนุญาตินำแรงงานต่างด้าว จากประเทศเพื่อนบ้านเองก็มีกระบวนการขั้นตอน ที่เรียกว่าใช้เวลามากพอสมควร กระทรวงแรงงานเองสามารถรองรับการดำเนินงานส่วนนี้ได้หรือไม่ เพราะตามหน่วยงานแรงงานเหล่านี้ในแต่ละวันก็แออัดและแน่นขนัด ด้วยนายจ้างและลูกจ้างที่ต้องขออนุมัติจำนวนมากในแต่ละวัน ผู้เขียนก็เคยขออนุญาติแรงงานต่างด้าวสำหรับการมาช่วยทำงานบ้าน ก็มีกระบวนการที่ยุ่งยาก และใช้เวลาพอสมควร จนต้องพึ่งพาบริษัทนายหน้าที่จัดการในเรื่องนี้

การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายเป็นสิ่งที่ดีและเป็นความถูกต้องที่จะต้องกระทำ แต่ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานความจริง ที่จะปฏิบัติได้ การจัดระเบียบในหลายๆ เรื่องเป็นสิ่งที่ต้องหารือร่วมกันของผู้ที่ได้รับผลกระทบทีจะต้องทำร่วมกัน แต่งานนี้อาจจะไม่คุ้มเสียที่มาตรการในครั้งนี้ก็จะถ่วงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวดีขึ้น