โซลาร์รูฟท็อป : สัญญาณเริ่มต้นพลิกโฉมธุรกิจผลิตไฟฟ้า

โซลาร์รูฟท็อป : สัญญาณเริ่มต้นพลิกโฉมธุรกิจผลิตไฟฟ้า

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประเด็นข่าวสำคัญสั่นสะเทือนวงการพลังงานทดแทนและผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไป เมื่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

 มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำการศึกษาเรื่องอัตราค่าสำรองไฟฟ้า (backup fee หรือ standby charge) ที่จะเก็บจากผู้ที่ผลิตไฟฟ้าใช้เอง โดยเฉพาะโซลาร์รูฟท็อป

ทำไม กฟผ.ต้องเตรียมเก็บค่าสำรองไฟฟ้า (backup fee หรือ standby charge)

ภารกิจหลักของ กฟผ. คือการเตรียมความพร้อมให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามีไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ กฟผ. จึงต้องวางแผนจัดหาไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการไฟฟ้าในช่วงที่สูงที่สุดในอนาคต ซึ่งต้นทุนในการจัดหาไฟฟ้านี้ ปกติจะถูกชดเชยให้กับ กฟผ. ผ่านทางอัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วยที่พวกเราจ่ายอยู่

ในสถานการณ์ที่มีผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองมากขึ้น ภาระการจัดหาไฟฟ้าของ กฟผ. อาจลดลงไม่มากนัก เพราะอย่างไรก็ต้องมีโรงไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าตอนกลางคืนที่โซลาร์รูฟท็อปไม่ทำงาน ในขณะที่ยอดซื้อไฟฟ้าจาก กฟผ. ที่จะมาช่วยรับภาระการจัดหาและสำรองไฟฟ้าจะลดลงเนื่องจากลูกค้าบางส่วนผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง

นี่จึงเป็นที่มาของแนวคิดการเก็บค่าสำรองไฟฟ้า ซึ่งเปรียบเสมือนค่าเบี้ยประกันที่ผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง ต้องจ่ายให้กับกฟผ. เพื่อเป็นหลักประกันว่าตนเองจะมีไฟฟ้าใช้เพียงพอในยามที่โซลาร์รูฟท็อปไม่ทำงาน

นับเป็นการดี ที่ กฟผ. เล็งเห็นถึงบทบาทของเทคโนโลยีพลังงานทดแทน ที่จะมาพลิกโฉมอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้า แม้การเก็บค่าสำรองไฟฟ้าจะสมเหตุสมผลในมุมมองของผู้ดูแลระบบไฟฟ้า แต่การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีนี้ จำเป็นต้องอาศัยการวิเคราะห์จากมุมมองที่รอบด้านและการนำเครื่องมือต่าง ๆ มาใช้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้เพื่อรักษาประโยชน์โดยรวมแก่ประเทศ ผู้เขียนจึงอยากนำเสนอมุมมองที่กว้างขึ้น ผ่านการหยิบยกคำถามที่เกี่ยวข้องสามประเด็น

ถึงเวลาเก็บค่าสำรองไฟฟ้าแล้วหรือยัง? ในปัจจุบันการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพื่อใช้เองยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก จากการประมาณอย่างไม่เป็นทางการ คือ ไม่ถึง 0.1% ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุดทั้งประเทศ อีกทั้งยังเติบโตค่อนข้างช้า เนื่องจากผู้ลงทุนไม่ได้รับการอุดหนุนใด ๆ จากรัฐบาล ประกอบกับการขออนุญาตติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังค่อนข้างยุ่งยาก ดังนั้นในระยะ 3-5 ปีนี้ การผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองจากโซลาร์รูฟท็อปไม่น่าจะกระทบยอดใช้ไฟฟ้าโดยรวมมากถึงกับที่การไฟฟ้าต้องส่งผ่านภาระไปยังผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งแปลว่าการไฟฟ้าฯ และผู้กำหนดนโยบาย ยังพอมีเวลาเตรียมตัวในการรับมือ

มีทางออกอื่นหรือไม่? ในอนาคตเมื่อมีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพื่อใช้เองอย่างแพร่หลาย ทำให้ความต้องการพึ่งพาไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหลักลดลง เป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้กำหนดนโยบายจะนำวิธีการบริหารจัดการที่ดีมาใช้เพื่อลดความจำเป็นในการลงทุนในโรงไฟฟ้า เช่น การสนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีสำรองไฟฟ้า (energy storage) เพื่อเก็บไฟฟ้าที่ผลิตได้เกินในตอนกลางวันไว้สำหรับใช้ในตอนกลางคืน หรือการคิดอัตราค่าไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนการผลิตในช่วงเวลานั้น ๆ เพื่อส่งเสริมการประหยัดพลังงาน

คิดรอบด้านแล้วหรือยัง? การผลิตพลังงานเพื่อใช้เองจากเซลล์แสงอาทิตย์ นอกจากจะประหยัดค่าไฟฟ้าให้กับผู้ติดตั้งแล้ว ยังส่งผลดีต่อประเทศโดยรวมเพราะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ลดก๊าซเรือนกระจก ลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ผู้กำหนดนโยบายจึงควรคำนึงถึงประโยชน์ที่เกิดกับส่วนรวมตรงนี้ควบคู่ไปกับต้นทุนในการสำรองไฟฟ้าด้วย

โดยตัวอย่างจากประเทศสหรัฐ การเก็บค่าอัตราสำรองไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองส่วนใหญ่จะเริ่มต้นเมื่อระดับการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเริ่มสูงแล้วเท่านั้น และการคิดค่าอัตราสำรองไฟฟ้านี้ จะใช้ควบคู่ไปกับมาตรการอุดหนุนการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง ซึ่งอนุญาตให้ผู้ติดตั้งสามารถเก็บไฟฟ้าที่เหลือใช้เป็นเครดิตสำหรับหักลบค่าไฟฟ้าในเดือนต่อไปได้ด้วย

ในภาวการณ์ปัจจุบันที่ตลาดโซลาร์รูฟท็อปยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและมีความอ่อนไหวต่อนโยบายค่อนข้างสูง การส่งสัญญาณทางลบก่อนที่จะถึงเวลาอันควร อาจชะลอการเติบโตของตลาดและการยอมรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ส่งผลเสียต่อความมั่นคงทางพลังงาน เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมได้