ฤา ไทยพีบีเอส จะเป็นแดนสนธยาอีกแห่งหนึ่ง (1)

ฤา ไทยพีบีเอส จะเป็นแดนสนธยาอีกแห่งหนึ่ง (1)

เรื่องวุ่นๆที่ไทยพีบีเอส

สถานการณ์ไทยพีบีเอส หรือองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) ดูจะลุ่มๆดอนๆ มีสภาพไม่ต่างกับสถานี อสมท.ในอดีตที่ได้ชื่อว่าเป็นแดนสนธยามานานหลายปี

เรื่องราวของไทยพีบีเอสนี้ ติดตามมาตลอดตั้งแต่เป็นไอทีวี (Independent TV) หรือ ทีวีเสรี ที่เริ่มต้นจากการเช่าใช้พื้นที่ไทยพาณิชย์พลาซ่า มีผู้จัดรายการระดับแม่เหล็กสองสามคนเป็นหลักคือสุทธิชัย หยุ่น กับสุภาพ คลี่ขจาย และมีอีกคนคือเทพชัย หย่อง น้องสุทธิชัย นอกนั้นเป็นเด็กใหม่

ที่ติดตามก็ด้วย 2-3 อย่างคือ เป็นทีวีเสรี ไม่มีโฆษณา เน้นเรื่องปัญหาสังคม รายการค่อนข้างมีสาระ ที่สำคัญคือสมัยเรียนหนังสือที่สหรัฐชอบดูช่อง Public Broadcasting Services และมีนักจัดรายการที่ชื่นชอบหลายคนเช่นนักการเงิน หลุย ลูไคเซอร์ ที่วิเคราะห์เรื่องเศรษฐกิจการเงิน เชิญผู้บริหารบริษัทจาก Wall Street และรัฐมนตรีมาออกรายการได้บ่อยๆ ความชื่นชอบนี้ติดมา และคิดว่าที่ประเทศไทยก็น่าจะคล้ายกัน

และเมื่อเห็นเรามีทีวีเสรีก็อยากให้เป็นเช่นนั้น

แต่ไอทีวี กลับถูกพายุการเมืองโหมกระหน่ำ และกลายเป็นที่หมายปองของนายทุนที่จะปรับรูปแบบให้เป็นธุรกิจทีวี จนเกิดรัฐประหาร แล้วกลายเป็นไทยพีบีเอส จนถึงปัจจุบัน

จริงๆแล้วผู้บริหารไทยพีบีเอสที่ผ่านมาก็นับว่าใช้ได้พอสมควร รายการก็พอดูได้ แม้ว่าจะกลายเป็นโรงเรียนฝึกงานให้นักข่าวหน้าใหม่ ที่พอปีกกล้าขาแข็งก็โบยบินไปอยู่กับช่องทีวีธุรกิจ ก็ต้องฝึกกันใหม่ทุกปี แต่ก็ถือว่าทำได้ดีในระดับหนึ่ง

ในแง่การจัดอันดับ หรือเรทติ้ง ต้องยอมรับว่าเปรียบเทียบกับช่องทีวีธุรกิจไม่ได้ แต่ก็เป็นแหล่งข่าวที่ดีพอสมควรเมื่อเทียบกับช่องอื่น จึงติดตามมาตลอด แม้กระทั่งทุกวันนี้

ในความคิดของคนที่ติดตามต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มตั้งไข่จนปัจจุบัน เห็นกรรมการนโยบายส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการและเกี่ยวข้องกับสื่อเป็นส่วนใหญ่ สมัยที่สุทธิชัย และสุภาพ ทำรายการด้วยกันนั้น เข้มแข็งมากพอสมควร แต่ระยะหลังไม่มีนักจัดรายการและพิธีกรระดับแม่เหล็ก จึงดูจืดชืดไปหน่อย แต่เมื่อเทียบกับทีวีช่องอื่นก็ยังดีกว่าในแง่ของสาระ แม้จะมีบันเทิงบ้างแต่ก็เน้นสาระของวงการบันเทิงที่ดีพอสมควร

ปัญหาที่เกิดขึ้นหลังๆนี้มักเกี่ยวกับผู้บริหารและวิธีการบริหารจัดการองค์กร ซึ่งไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมต้องเน้นเรื่องเงินและการสร้างรายได้ (การลงทุน) ทั้งๆที่ได้รับรายได้จากภาษีสรรพสามิตอยู่แล้วถึงปีละ 2,000 ล้านบาท

แต่เท่าที่ติดตาม เป็นเรื่องการจัดอันดับ หรือเรทติ้ง (Rating) ที่ถูกตำหนิว่าต่ำมาก แสดงว่าไม่สามารถเข้าถึงประชาชน คณะกรรมการนโยบายและคณะผู้บริหารก็คงพยายามอยู่ แต่เนื่องจากไม่มีเป้าหมายเชิงธุรกิจ ไม่จำเป็นต้องแข่งขันกับใคร ก็เลยเฉื่อยๆเรื่อยมา

คณะกรรมการนโยบายเกือบทั้งหมดเป็นข้าราชการ เป็นอาจารย์นักวิชาการ ไม่มีประสบการณ์ในเชิงการแข่งขัน ยิ่งแข่งกับทีวีช่องธุรกิจยิ่งไม่มีศักยภาพ รายการของไทยพีบีเอส จึงไม่ค่อยดึงดูดผู้ชม แม้ว่าจะมีการขยายฐานสัญญาณครอบคลุมทั่วประเทศ และเป็นดิจิทัลก็ไม่ช่วย เพราะไม่มีความสามารถในการแข่งขันจริงๆ

3-4 ปีมานี้ หลังจากเทพชัย หย่อง ครบเทอมบริหาร ผู้บริหารต่อจากเทพชัยก็ถือว่าทำได้ดี แต่ดูเหมือนจะมีความขัดแย้งกับคณะกรรมการนโยบายไม่น้อย จนถึงขนาดต้องให้ออก และเป็นคดีความฟ้องร้องในศาลปกครองจนถึงปัจจุบัน

คณะกรรมการนโยบายก็ดี คณะกรรมการสรรหาผู้บริหารก็ดี ดูเหมือนจะมีปัญหากันพอสมควร จนถึงผู้บริหารคนสุดท้ายที่เพิ่งลาออก ก็แสดงถึงความไม่ลงรอยกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายกับผู้บริหาร ที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหา ทำให้ไม่มีความไว้วางใจ และต่างก็มีทางเดินของตัวเอง จนเกิดความขัดแย้งภายในองค์กร ดังที่เห็นในปัจจุบัน

คงบอกไม่ได้ว่าปัญหาภายในองค์กรมีมากน้อยขนาดไหน จะว่าเป็นเพราะโครงสร้างขององค์กรก็ไม่แน่ใจ เพราะองค์กรแบบนี้ เป็นลักษณะคล้ายองค์กรรัฐวิสาหกิจประเภทไม่มีรายได้ ที่มีอยู่หลายองค์กร และองค์กรอื่นๆก็ไม่มีปัญหามากนัก

จึงมองว่าปัญหาที่เกิดน่าจะมาจากการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะแข่งขันในตลาดทีวีทั่วประเทศได้ และคณะผู้บริหารเองก็ไม่มีประสิทธิภาพในการสร้างอันดับแข่งกับทีวีช่องอื่น นักข่าวและพิธีกรยังไม่เป็นที่ยอมรับ ไม่มีพิธีกรรายการที่เป็นแม่เหล็ก ไม่มีรายการที่สามารถตรึงผู้ชมให้ติดตาม ทั้งหลายทั้งปวงนี้คงประกอบกัน

นอกเหนือจากเรื่องคุณสมบัติของผู้บริหารที่ไม่เป็นที่ยอมรับ คณะกรรมการนโยบายที่ด้อยประสบการณ์เชิงธุรกิจ และการมีสภาผู้ชมที่ไม่ทราบที่มาที่ไปนอกจากประกาศรับสมัครในสาขาต่างๆ ไม่สามารถให้แนวคิดอะไรหรือตัดสินใจอะไรได้

ก็ได้แต่หวังว่าไทยพีบีเอสจะปรับปรุงแก้ไขให้พ้นจากการเป็นแดนสนธยาได้