โลกร้อน ไทยควรร้อนตัว?

โลกร้อน ไทยควรร้อนตัว?

ได้วิเคราะห์ผลกระทบ จากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ถอนสหรัฐอเมริกาออกจากข้อตกลง ลดโลกร้อนปารีสว่าคงไม่มากนัก

 ส่วนหนึ่งเพราะมีปัจจัยใหม่จูงใจการลดโลกร้อน จากต้นทุนที่ลดต่ำลงของพลังงานหมุนเวียนและ LNG (ก๊าซธรรมชาติเหลว) วันนี้ขอคุยต่อจากที่ทิ้งท้ายไว้เกี่ยวกับทิศทางการส่งเสริมพลังงานทดแทนและถ่านหิน ซึ่งเป็นเรื่องของการผลิตไฟฟ้าที่ได้กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ในการดำรงชีวิตไปแล้ว

ผู้บริโภคต้องการไฟฟ้าที่ราคาย่อมเยา คุณภาพดี มีเสถียรภาพ ไม่ตกไม่ดับ การบริหารจัดการระบบไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ สนองการใช้ไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการใช้ไฟฟ้าของไทยเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น สูงสุดในช่วงกลางวัน กลางคืนลดต่ำลง ในขณะที่การใช้ไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อนก็สูงกว่าฤดูหนาวมาก

คนไทยที่ร้อนตัวว่าโลกร้อนหรือแม้ไม่ร้อนตัว ต่างต้องการโรงไฟฟ้าที่สะอาด ไม่มีผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อม และวิถีชีวิตของประชาชน รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจในบริเวณใกล้เคียง มิฉะนั้นโรงไฟฟ้านั้นก็จะเป็นเรื่องร้อนที่ถูกต่อต้าน

กลุ่มผู้สนใจพลังงานกำลังถกเถียงกันว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินควรจะสร้างอีกหรือไม่ ? และหากใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างแดด-ลมมากกว่านี้จะทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นจริงไหม ?

ในปัจจุบันระบบไฟฟ้าของไทยจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าหลายประเภทและใช้พลังงานหลายชนิด เพื่อสนองความต้องการไฟฟ้าที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยจะต้องมีโรงไฟฟ้าที่สามารถสั่งเดินเครื่องได้ตามที่ศูนย์ควบคุมระบบต้องการในจำนวนมากพอสมควร เพราะโรงไฟฟ้าบางประเภทไม่สามารถพึ่งได้ เช่น แสงอาทิตย์ ลม

ระบบไฟฟ้าจึงต้องมีโรงไฟฟ้าที่ทำหน้าที่ต่างๆ กัน

โรงไฟฟ้า “ฐาน” (Base Load) เพื่อผลิตไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมงซึ่งควรเป็นโรงไฟฟ้าที่มีค่าเชื้อเพลิงต่ำและสามารถเดินเครื่องได้อย่างสม่ำเสมอ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน

โรงไฟฟ้า “กึ่งฐาน” (Intermediate Load) ที่อาจผลิตไฟฟ้ามากหน่อยในช่วงกลางวันและน้อยหน่อยในช่วงกลางคืน เช่น โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง

โรงไฟฟ้าที่เป็น Peaking Plant คือโรงไฟฟ้าที่สามารถตอบสนองความต้องการที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงสั้นๆได้อย่างทันท่วงที เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำ

โรงไฟฟ้าที่เป็น “ฐาน” ของระบบควรใช้เชื้อเพลิงที่สามารถจัดหาได้อย่างสม่ำเสมอ และมีความเสี่ยงด้านความผันผวนของอุปทานและราคาน้อย ถ่านหินเป็นทางเลือกที่สำคัญ เพราะเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีปริมาณสำรองมากที่สุดในโลก อีกทั้งเทคโนโลยีช่วงหลังก็ทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหิน มีผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมในบริเวณใกล้เคียงน้อยมาก

แต่ปัจจุบัน ก๊าซธรรมชาติเป็นอีกทางเลือกของไฟฟ้า“ฐาน” แม้เคยคิดกันว่าไม่ควรพึ่งพามากเกินไป เพราะเดิมทีเดียวก๊าซธรรมชาติของไทยมาจากท่อในทะเลเพียงเส้นเดียว แต่ในปัจจุบันมาจากหลายแหล่ง ทั้งในทะเลและบนบก มาจากพม่า และจากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) อีกทั้งตลาดก๊าซธรรมชาติเหลวของโลกก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จากตลาดของผู้ขายเป็นตลาดผู้ซื้อ มีตลาดจร มีโครงการใหม่ๆ จำนวนมากซึ่งจะทำให้ LNG ล้นตลาดเป็นเวลาอีกนาน ราคาจึงลดต่ำลงมามาก

ดังนั้น ก๊าซธรรมชาติจึงได้กลายเป็นแหล่งพลังงานที่มีความมั่นคงสูง อีกทั้งต้นทุนการผลิตไฟฟ้าไม่แตกต่างจากถ่านหินมากนัก แค่ไหนขึ้นอยู่กับสมมติฐานในการคำนวณ ที่สำคัญ ก๊าซทำให้ “โลกร้อน” น้อยกว่าถ่านหิน

ถึงตรงนี้ผู้อ่านคงถามอยู่ในใจ แล้วไงกระบี่ เทพา ? ความเห็นส่วนตัวคือ แม้มีโรงไฟฟ้าอยู่เดิมแล้วเพราะเคยมีเหมืองลิกไนต์ แต่การต้องนำเข้าถ่านหินทางเรือผ่านแหล่งท่องเที่ยวกระบี่ มีการส่งลำเลียงหลายทอด ขนาดโรงไฟฟ้าก็ไม่มี economy of scale จึงไม่เหมาะที่จะทำโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จุดนั้น

แต่ภาคใต้ก็มีเศรษฐกิจท่องเที่ยวใหญ่ที่ต้องใช้ไฟฟ้าและยังขาดความมั่นคงในระบบ โรงไฟฟ้าถ่านหินที่เทพาจึงน่าจะทำได้ ..ถ้าผ่านกระบวนการ EHIA/EIA และเป็นที่ยอมรับ แต่ต้องไม่ลืมทางเลือกของ LNG ด้วย โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินมักได้รับการต่อต้านสูง และความล่าช้าของโครงการนอกจากจะทำให้มีต้นทุนสูงขึ้นแล้ว ยังทำให้เกิดความไม่มั่นคงด้านพลังงานอีกด้วย ส่วนโรงไฟฟ้าชีวมวลน้ำมันปาล์มที่กระบี่ที่พูดถึงกันจะแพงเป็นภาระต่อผู้บริโภค

หลายคนอยากให้ใช้พลังงานแดด-พลังงานลมแทนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ แต่ก็ไม่สามารถตอบโจทย์ของผู้ใช้ไฟฟ้าได้ เพราะเป็นพลังงานไฟฟ้าที่ไม่สามารถพึ่งได้ (non-firm) คือไม่สามารถสั่งเดินเครื่องได้ตามที่ต้องการ อีกทั้งระบบสายส่งจะต้องมีการลงทุนด้าน smart grid เพื่อรองรับด้วย ...จนกว่าในอนาคตแบตเตอรี่จะราคาต่ำพอที่จะเก็บไฟฟ้าจากช่วงที่มีแดด-ลมมากเกินความต้องการ

การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถตอบสนองความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในช่วงกลางวัน และจะช่วยลดการสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ จะเห็นว่าระบบไฟฟ้าสามารถรองรับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้ในระดับหนึ่งโดยไม่เป็นภาระค่าไฟฟ้าต่อประชาชน อีกทั้งยังช่วยลดโลกร้อนได้อีก รัฐจึงควรส่งเสริม solar roof top อย่างกว้างขวางเพราะต้นทุนต่ำลงมาแล้ว เพียงขจัดกฎเกณฑ์ความยุ่งยากต่างๆ ออกไป โดยไม่ต้องอุดหนุน

หากภาครัฐจะร้อนตัวเรื่องโลกร้อนมากยิ่งขึ้น ก็ควรปรับการใช้เชื้อเพลิงระหว่างถ่านหิน-LNG ให้กระทบภาวะโลกร้อนน้อยลง และต้องส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วย