หลักแก้ ก.ม.บัตรทอง ไม่ล้มเจตนารมณ์ ไม่ล้มประโยชน์ประชาชน

หลักแก้ ก.ม.บัตรทอง ไม่ล้มเจตนารมณ์ ไม่ล้มประโยชน์ประชาชน

การประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ... ซึ่งอยู่ระหว่างเดินหน้าขณะนี้ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฉบับเดิม

ที่บังคับใช้ยาวนาน 15 ปี ได้มีการหยิบยกแก้ไข 14 ประเด็นสำคัญ ที่หลายฝ่ายได้แสดงความห่วงใย เพราะจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเจตนารมณ์สำคัญกฎหมายฉบับนี้ ที่มีจุดเริ่มต้นเพื่อทำให้ประชาชน ที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพเข้าถึงบริการที่ได้มาตรฐาน กำหนดให้การรับบริการรักษาพยาบาล และบริการสาธารณสุขเป็นสิทธิของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพในสังคม

ตลอด 15 ปี ของการดำเนิน “ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ที่เป็นการปฏิรูประบบสุขภาพประเทศภายใต้กฎหมายฉบับนี้ พิสูจน์แล้วว่าสามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ด้วยงบประมาณที่จำกัด โดยมีประชาชนได้รับประโยชน์จากระบบอย่างแท้จริง

ในฐานะผู้ร่วมผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ติดตามสถานการณ์การแก้ไขกฎหมายนี้อย่างต่อเนื่อง รู้สึกกังวลต่อข้อเสนอการแก้ไขครั้งนี้ เนื่องจากมีประเด็นปรับแก้ที่เป็นการทำลายเจตนารมณ์ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ทั้งสวนทางหลักการแก้ไขกฎหมายทุกฉบับ ที่ต้องคำนึงและยึดเจตนารมณ์กฎหมายเป็นสำคัญ รวมทั้งประโยชน์ประชาชน โดยมีการเสนอเพิ่มสัดส่วนผู้ให้บริการในบอร์ด สปสช.

การดำเนินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แม้ว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ได้จัดตั้ง “สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” (สปสช.) ทำหน้าที่ตัวแทนประชาชนในการจัดสิทธิประโยชน์ที่จำเป็นด้านสุขภาพ รวมไปถึงคุ้มครองประชาชนเข้าถึงสิทธิรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึงและครอบคลุม แต่การดำเนินงาน สปสช.ทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้การบริหารโดย บอร์ด สปสช. ที่ประกอบด้วยตัวแทนผู้ให้บริการ ผู้ซื้อบริการ และภาคประชาชน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเมื่อพิจารณาสัดส่วนกรรมการตัวแทนผู้ให้บริการจะเห็นได้ว่า ปัจจุบันมีจำนวน 9 คน ที่มากเพียงพออยู่แล้ว โดยเป็นตัวแทนผู้ให้บริการหน่วยบริการแต่ละสังกัด ขณะที่กรรมการตัวแทนภาคประชาชนมีเพียง 5 คนเท่านั้น ที่ยังเป็นเสียงส่วนน้อย

อาทิ ปลัด สธ.ผู้แทน รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัด ศธ.ผู้แทน รพ.สังกัดทบวงมหาวิทยาลัย ปลัด กห.ผู้แทนแทน รพ.สังกัดกระทรวงกลาโหม ปลัด มท.ผู้แทน รพ.ท้องถิ่น และยังมีผู้แทนสมาคม รพ.เอกชน นอกจากนี้ยังมีผู้แทนวิชาชีพทั้งจากแพทยสภา ทันตแพทย์ และพยาบาล เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาต่างได้ทำบทบาทหน้าที่ปกป้องผู้ให้บริการอย่างเต็มที่อยู่แล้ว

ทั้งนี้ หากแก้ไขประเด็นนี้สิ่งที่เกิดขึ้นนอกจากเป็นการทำลายหลักการแยกผู้ซื้อและผู้ขายในระบบสุขภาพที่เป็นการคุ้มครองสิทธิประชาชนแล้ว เป็นเปลี่ยนแปลงเจตนารมณ์ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และทำให้ สปสช.กลายเป็นกลไกพิทักษ์สิทธิผู้ให้บริการ

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาประเด็นแก้กฎหมาย ยังไม่มีการเสนอเรื่องที่ควรปรับแก้ไข โดยเฉพาะการเพิ่มอำนาจ สปสช.ในการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ฯ รวมระดับประเทศ ทั้งที่เกือบ 10 ปีที่ผ่านมาไม่มีใครบอกว่า สปสช.ทำเรื่องนี้ไม่ดี ทำให้ประชาชนและระบบเสียประโยชน์ มีแต่บอกว่า สปสช.ไม่มีอำนาจทางกฎหมายเท่านั้น ขณะที่การตรวจสอบจัดซื้อยังไม่เคยพบการทุจริตใดๆ ทั้งยังเป็นกลไกสำคัญของการบริหารกองทุนฯ เพราะแต่ทำให้ สปสช.สามารถบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่จำกัดได้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพแล้ว โดยจากข้อมูลปี 2553-2559 สามารถประหยัดงบประมาณชาติได้กว่า 44,680 ล้านบาท โดยการต่อรองราคา แต่ยังทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาและการรักษาที่จำเป็นได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน

ดังนั้นแทนที่จะยกเรื่องนี้ออกจาก สปสช. ควรดำเนินการตามคำแนะนำของ คตร. ให้แก้ไขเพิ่มเติม โดยใช้มาตรา 18(14) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของผู้ป่วย

นอกจากนี้มองว่าในการแก้ไขกฎหมาย คณะกรรมการยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งขาติฯ ควรที่จำกัดกรอบการแก้ไขที่ยึดหลักตามคำสั่ง คสช.ที่ 37/2559 เรื่อง “ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายอื่นตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ที่อาศัยอำนาจตาม ม.44 รัฐธรรมนูญ โดยไม่ควรเป็นการลักไก่แก้ไขเนื้อหาสาระอื่นในกฎหมายที่ทำให้ผิดหลักการนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จนทำให้เกิดข้อกังขาต่อต่อการทำหน้าที่ของคณะกรรมการยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ นี้

อย่างไรก็ตามความพยายามเปลี่ยนแปลงเจนตรมณ์ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ซึ่งนำมาสู่แก้ไขกฎหมายที่ลดทอนการมีส่วนร่วมประชาชน และศักยภาพการบริหารของ สปสช.เพื่อนำไปสู่การจำกัดการเข้าถึงการรักษาของประชาชน ต้นเหตุเกิดจากทัศนคติผู้บริหารประเทศ ต่อนโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ไม่ได้มองเป็นการลงทุนเพื่อคุณภาพชีวิตประชาชนและประเทศ แต่กลับมองเป็นภาระงบประมาณ แม้ว่าจะเป็นนโยบายสวัสดิการที่ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึงมากที่สุด ตามที่มีการเปรียบเทียบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าเป็นเพียง “สมบัติชิ้นเดียวของประชาชน” ก็ตาม...

..........................

นพ.วินัย สวัสดิวร 

อดีตเลขาธิการ สปสช.