เรี่ยไรกับแป๊ะเจี๊ยะ ต่างกันตรงไหน?

เรี่ยไรกับแป๊ะเจี๊ยะ  ต่างกันตรงไหน?

วิบากกรรมกรณีคลิปวีดิโอถูกเผยแพร่ทางโลกออนไลน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนชื่อดัง

 เรียกรับผลประโยชน์เป็นเงินฝากเด็กเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เป็นเงิน 400,000 บาท สร้างความสั่นสะเทือนในวงการการศึกษาพอสมควร แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่น่าจะเป็นครั้งแรกของการเรียกรับ แป๊ะเจี๊ยะ แต่ดูเหมือนจะเป็นประเพณีเรียกรับไปเสียแล้วมากกว่า วันก่อนก็พูดถึงเรื่องนี้มาบ้างแล้ว

 อยากจะสะท้อนอะไรบางอย่างที่ไม่ต่างจาก แป๊ะเจี๊ยะ นั่นคือการ เรี่ยไร”  ทั้งสองส่วนดูเหมือนเงินผู้ปกครองทั้งนั้น กินเปล่า” แบบมีบ้างไม่มีบ้างใบเสร็จ

 ปัจจุบันจะ เรี่ยไร” กันหนักขึ้น ที่น่าประหลาดส่วนใหญ่เกิดกับโรงเรียนที่มีชื่อเสียงมีเครือข่ายต่างหาก เป็นระดับโรงเรียนที่ใครๆ ก็อยากส่งลูกหลานเข้าไปศึกษา ผู้ปกครองบางคนคิดว่า แค่จ่ายค่าเทอม ค่าสนับสนุนบางอย่างน่าจะจบ พบว่า ทุกปีที่ประชุมผู้ปกครองไม่จบไม่สิ้นขอแล้วขออีก อย่างนี้ถูกต้องหรือไม่ 

บางโรงเรียนเตรียมการมาดีเยี่ยม ถึงขั้นทำ พาวเวอร์พอยท์โชว์ภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละด้านซะอย่างนั้น ปลายทางก็ เรี่ยไร” อยู่ดี

มีผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยบ่นให้ฟังแทบทุกปี ทำนองเวลาประชุมผู้ปกครองทีไร ฝ่ายบริหารมักจะยกปัญหาสารพัดอย่างขึ้นมาบอกเล่าถึงความเดือดร้อน สร้างความน่าสงสารกับความเป็นอยู่ของโรงเรียนเสียเหลือเกิน 

การประชุมผู้ปกครองแต่ละปีมักใช้เวลา 1-2 ชั่วโมงของแต่ละชั้นเรียน  แต่ใช้เวลาอธิบายความการเรียนการสอนไม่ถึงชั่วโมง ส่วนที่เหลือให้น้ำหนักไปทางขาดโน่นขาดนี่ เสียส่วนใหญ่ บ้างก็บอกว่า ศาลานั่งพักนักเรียนไม่พอนั่ง พื้นห้อง พื้นทางเดินไม่เรียบบ้าง ปรับปรุงห้องประชุม ปรับปรุงโรงอาหาร ปรับปรุงห้องเรียน ปรับปรุงภูมิทัศน์โรงเรียน แถมมีภาระค่าน้ำ ค่าไฟที่เพิ่มขึ้น สิ่งที่ฝ่ายบริหารโรงเรียนยกขึ้นมา บ่งบอกถึงการขาดแคลน บ่งถึงงบประมาณไม่มี ทำให้ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อย ถึงกับตั้งคำถามว่าอันนี้ มันใช่หน้าที่ผู้ปกครองหรือไม่?

  ทางที่ดีกระทรวงศึกษาฯน่าจะหันมาจัดงบประมาณใส่เข้าไปบ้าง อาจถึงเวลาต้องลดการใช้จ่ายที่จำเป็นน้อย แล้วหันมาใส่ใจโรงเรียนน่าจะเป็นส่วนช่วยได้มากทีเดียว ที่สำคัญช่วยลดภาระเรี่ยไร ได้ด้วย 

  อย่าปล่อยให้โรงเรียนกลายเป็นสถานเรี่ยไรเงินจากผู้ปกครองอีกเลย ไหนๆ ก็จะจัดการกับแป๊ะเจี๊ยะอยู่แล้ว