ร่วมกันต่อต้าน 'จ่ายแป๊ะเจี๊ยะ'

ร่วมกันต่อต้าน 'จ่ายแป๊ะเจี๊ยะ'

ข่าวใหญ่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงขณะนี้ กรณีผู้ปกครองท่านหนึ่ง เผยแพร่คลิปอ้างถึงผู้อำนวยการโรงเรียนดัง

 เรียกรับเงิน 4 แสนบาท เพื่อให้ลูกเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 แม้ว่ากรณีดังกล่าวจะอยู่ระหว่างสอบสวนข้อเท็จจริง แต่ข่าวที่เกิดขึ้น สะท้อนว่า การเรียกรับเงินแบบ “กินเปล่า” (บ้างเรียกว่า เงินบริจาคแบบไม่มีใบเสร็จ)นั้นไม่มีทีท่าจะหมดไปกับสังคมไทย ซึ่งเป็นสังคมอุปถัมภ์ ตราบที่ยังมี “คนรับ” และ “คนจ่าย” เพื่อแลกกับผลลัพธ์ หรือ ผลประโยชน์ต่างตอบแทนแบบสมประโยชน์กันทั้งคู่

ที่น่าสลด ข่าวทำนองนี้ มักมีผู้ถูกกล่าวหา เป็น “ครู-อาจารย์” หรือ “ผู้บริหารโรงเรียน” ปูชนียบุคคลที่สังคมไทยในภาพใหญ่ ยังคงให้ความเคารพ ในฐานที่เป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม ทั้งยังเป็นผู้ประศาสน์วิชา สอนสั่งเด็กและเยาวชน ให้เติบโตเป็นคนเก่ง ที่สำคัญ “เป็นคนดี” ของสังคม

เมื่อครู-อาจารย์บางส่วน (ย้ำว่าไม่ใช่ทั้งระบบ) เริ่มเดินออกนอกลู่นอกทาง จึงเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้อง ต้องนั่งคุยกันยาวๆแบบ “ซีเรียส” เพื่อหาแก้ไขปัญหาจาก “ต้นตอ”

อะไรคือ “แรงจูงใจ” และ “ช่องโหว่” ที่เปิดทางให้เกิดการกระทำการณ์เช่นนั้น อาจเป็นเพราะระบบการตรวจสอบไม่รัดกุม, ระบบการศึกษาของแต่ละโรงเรียนยังมีมาตรฐานไม่เท่าเทียม ทำให้ผู้ปกครองต้องจ่ายเงินแป๊ะเจี๊ยะเพื่อให้ลูกหลายเข้าเรียนโรงเรียนที่ดี หรือ ผู้ให้-ผู้รับ “จริยธรรมเสื่อม” ฯลฯ ก็ต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด เพื่อนำไปสู่การ “ลดต้นทุนการศึกษาของเด็กไทย”

ไม่เพียงแวดวงการศึกษา ต้องยอมรับว่า ปัญหาการ “จ่ายเงินสินบน” เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานาน ในทุกแวดวง ในภาคธุรกิจที่เห็นชัด คือ แวดวงการประมูล การขอใบอนุญาตเพื่อประกอบการกิจการ ซึ่งมีผู้เล่าขานหนาหูว่า จำเป็นต้อง “จ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชา” แม้ว่าในบางกรณีผู้จ่ายจะดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย แต่หากเดินตามระบบปกติ จะเป็นไปด้วย “ความล่าช้า” แต่หากยอมจ่าย ก็จะทำให้ “ทุกอย่างรวดเร็วขึ้น” 

สรุปสุดท้ายคือ “ต้องจ่าย..!!” 

สำทับด้วยเนื้อหาในวงเสวนาขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เรื่อง “ใบอนุญาตก่อสร้าง : ความสะดวกที่ต้องจ่าย..จริงหรือ?” มีภาคเอกชนผู้ร่วมเสวนาหลายราย บอกเล่าประสบการณ์ตอบคำถามหัวข้อเสวนาตรงกันว่า “จริง..!” บางครั้งพวกเขาต้องจ่ายเงินเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ แม้จะทำให้มี “ต้นทุน” ที่เพิ่มขึ้น พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาว่า “ต้องตัดขั้นตอนการใช้ดุลยพินิจ” ในการอนุมัติเรื่องต่างๆของบุคคลออกไป เป็นการใช้ “ระบบดิจิทัลที่ตรวจสอบได้” เพื่อทำให้เกิดความง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) 

ซึ่งจะว่าไปแล้ว “ความยาก” ในการดำเนินธุรกิจในไทยเป็นเรื่องที่นักลงทุนจากหลายชาติ สะท้อนปัญหานี้มายังรัฐบาลให้เร่งแก้ไขปัญหา พร้อมระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็น “ตัวแปร” ที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจลงทุน หรือไม่ลงทุนในไทย นอกเหนือจากการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆที่แต่ละประเทศคู่แข่งของไทย มักจะให้สิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ปัญหาแป๊ะเจี๊ยะ” จึงถือเป็นปัญหาระดับชาติ ที่ต้องร่วมกัน “ต่อต้าน” ไม่รับ-ไม่จ่าย และร่วมกันเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นปัญหา เพราะนอกจากจะทำให้สังคมเสื่อมแล้ว ยังนับเป็นอุปสรรค บั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ในทุกเรื่อง อาทิ ระบบการศึกษา ลามไปถึงภาคธุรกิจ !!