Technology Diversification

Technology Diversification

กลยุทธ์การขยายตัวเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ นั้น ถ้าตามแนวคิดแบบดั้งเดิมที่สอนกันมา ก็ควรที่จะเป็นการขยายตัวเข้าสู่ธุรกิจ ที่มีความใกล้เคียง

หรือสัมพันธ์กับธุรกิจหลักหรือธุรกิจที่ตนเองเชี่ยวชาญ ส่วนถ้าจะเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ หรือไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมนั้น ก็จะมีความเสี่ยงในความล้มเหลวมากกว่า อย่างไรก็ดีดูเหมือนสิ่งที่ปรากฏขึ้นในโลกธุรกิจ (โดยเฉพาะโลกตะวันตก) อาจจะต้องทำให้มีการปรับปรุงตำราทางด้านกลยุทธ์กันใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นผมขอเรียกว่าเป็น Technology Diversification นั้นคือการที่บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก เร่งขยายเข้าไปสู่ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมของตนเองมาก่อน แต่เป็นการอาศัยเทคโนโลยีในด้านต่างๆ เป็นตัวขับเคลื่อนการเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ

โดยบริษัทเหล่านี้มีทัศนคติหรือมุมมองว่า การนำเทคโนโลยีเป็นหัวหอกบุกเข้าไปในธุรกิจใหม่ๆ นั้น จะทำให้ผู้เล่นเดิมๆ ที่ไม่สามารถปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ต้องกับความล้าสมัยในการแข่งขันและการดำเนินงาน ขณะเดียวกันเมื่อนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าไปใช้ในธุรกิจเดิมๆ แล้ว จะทำให้เกิดรูปแบบและวิธีการใหม่ๆ ที่จะทำให้ลูกค้าในธุรกิจเดิมได้รับในสิ่งที่ดีขึ้น

ลองนึกถึงบริษัทที่เริ่มต้นจากผลิตและขายคอมพิวเตอร์อย่าง Apple ที่กลายเป็นบริษัทผลิตและขายโทรศัพท์ และปัจจุบันกำลังทำทั้งรถยนต์ไร้คนขับ รายการโทรทัศน์ของตนเอง แหล่งรวบรวมและขายดนตรี รวมถึงกำลังรุกเข้าสู่ระบบการรับจ่ายเงินอัตโนมัติที่ไม่ต้องผ่านระบบของธนาคารแบบดั้งเดิม หรือ บริษัทที่เริ่มจากสร้างสื่อสังคมออนไลน์อย่าง Facebook ที่เริ่มผลิตโดรน ผลิตและขายอุปกรณ์สำหรับ Virtual Reality ผลิตรายการโทรทัศน์ของตนเอง

ยังไม่นับบริษัทที่เริ่มต้นจากการทำ Search Engine และขายโฆษณาอย่าง Google ที่ไปทำระบบปฏิบัติการสำหรับโทรศัพท์ เข้าไปยึดครองธุรกิจแผนที่ รถยนต์ไร้คนขับ และอื่นๆ อีกมากมาย หรือ ล่าสุดคือกรณีของบริษัทที่เริ่มต้นจากการขายหนังสือออนไลน์อย่าง Amazon ที่ปัจจุบันขายสินค้าจำนวนนับไม่ถ้วนผ่านระบบออนไลน์ แต่ขณะเดียวกันก็เปิดร้านหนังสือขึ้นมาแล้ว 7 สาขา (หลังจากที่ตนเองไปทำลายล้างธุรกิจร้านหนังสือแบบดั้งเดิม) เป็นผู้ให้บริการ Cloud Server รายใหญ่ที่สุดของโลก และล่าสุดก็เข้าไปซื้อร้านซูปเปอร์มาร์เก็ต ที่เน้นขายสินค้าออร์แกนิคอย่าง Whole Foods

สาเหตุหนึ่งที่บริษัทเหล่านี้ ใช้เทคโนโลยีในการบุกเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ นั้นก็เกิดเนื่องจากบริษัทเหล่านี้ต้องการที่จะยังคงหรือเพิ่มระดับการเติบโตของบริษัทตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อธุรกิจเดิมๆ เริ่มที่จะคงตัวหรืออิ่มตัวแล้ว ประเด็นน่าคิดก็คือ ถ้าบริษัทเดิมๆ ในธุรกิจไม่สามารถปรับตัวเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านเทคโนโลยีได้แล้ว โอกาสที่จะล้าหลังหรือตกเป็นผู้ตามสำหรับบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ก็มีความเป็นไปได้สูง

ถึงแม้การขยายตัวเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ โดยอาศัยเทคโนโลยีเป็นปัจจัยในการขยายหรือที่เรียกว่า Technology Diversification นั้น จะยังเป็นเรื่องของบริษัทยักษ์ใหญ่ทางโลกตะวันตก แต่ก็เป็นกรณีศึกษาที่บริษัทไทยและประเทศไทยเองควรจะพิจารณาไว้ โดยเฉพาะในยุค 4.0 เช่นในปัจจุบัน ที่เรื่องการให้ความสำคัญและการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และเมื่อลงทุนทางด้านเทคโนโลยีไปแล้ว ทำอย่างไรถึงจะสามารถนำเทคโนโลยี มาใช้เป็นเครื่องมือทางกลยุทธ์ในการขยายเข้าไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับองค์กรได้

ความท้าทายและอุปสรรคสำคัญของกลยุทธ์นี้คือเทคโนโลยีนั้นมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา เทคโนโลยีใหม่ๆ มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นบริษัทที่จะเลือกใช้กลยุทธ์นี้นอกจากจะต้องให้ความสำคัญและลงทุนกับเทคโนโลยีแล้ว ยังจะต้องมีลักษณะที่ Agile หรือคล่องตัว พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นตลอดเวลา สำคัญสุดคือตัวผู้บริหารและบุคลากรภายในองค์กรที่จะต้องกระตือรือร้น และพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา