สต็อกข้าวของรัฐ ตัวการกดราคาข้าว

สต็อกข้าวของรัฐ ตัวการกดราคาข้าว

โครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดของรัฐบาลชุดที่แล้ว ทิ้งข้าวเหลืออยู่ในสต็อกที่เก็บอยู่ตามโกดัง จำนวน 17 ล้านตันเศษ

 ในจำนวนนี้มีข้าวที่ถูกต้องตามมาตรฐานประมาณ 14% ที่เหลือเป็นข้าวที่ผิดชนิดก็มี ผิดมาตรฐานผิดมากผิดน้อยในระดับต่างฯ ปนกันไปก็มี ซึ่งมีภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาและดูแลจำนวนมหาศาล และยังกดดันราคาข้าวในตลาดโลก และราคาข้าวภายในประเทศด้วย

การที่รัฐมีข้าวปริมาณมากเก็บไว้ในสต็อกถึง 17 ล้านตันเศษนั้น นอกจากทำให้เกิดภาระด้านงบประมาณของประเทศ ที่ต้องจ่ายค่าเก็บรักษาจำนวนมากแล้ว ข้อมูลจากผู้ประกอบการค้าข้าวทั้งผู้ค้าข้าวภายในประเทศ และผู้ส่งส่งออกไปต่างประเทศบ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันคือ เมื่อรัฐมีสต็อกข้าวเก็บไว้ตามโกดังต่างฯจำนวนมาก มีผลทำให้โรงสีรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาน้อย โดยจะซื้อเท่าที่จำเป็นพอให้มีข้าวเปลือกไว้สีเท่านั้น และก็ให้ราคาที่ไม่สูง เพราะโรงสีเกรงว่าหากทางราชการ ระบายข้าวในสต็อกออกมามาก จะทำให้ราคาข้าวในตลาดลดลง เนื่องจากมีข้าวจากสต็อกของรัฐป้อนความต้องการของผ้ค้าข้าวได้ ข้าวที่โรงสีสีออกมาจะขายไม่ออกและขาดทุน

ทางผู้ซื้อในต่างประเทศ ก็ไม่กล้าทำสัญญาสั่งซื้อข้าวล่วงหน้าจากผู้ส่งออกในปริมาณมาก สั่งซื้อเท่าที่จำเป็น เพราะคาดได้ว่าข้าวไม่ขาดแคลนแน่ เพราะมีอยู่ในสต็อกของรัฐบาลไทยถึง 17 ล้านตัน นอกจากนี้ก็เกรงว่าราคาข้าวในตลาดโลกจะผันผวน เมื่อรัฐบาลระบายข้าวในสต็อกออกมามาก ราคาข้าวน่าจะลดลง หากทำสัญญาซื้อไว้ล่วงหน้าก่อนมาก ก็จะเป็นการตกลงซื้อข้าวที่ราคาสูงกว่าราคาตลาด ขาดทุนแน่นอน หากเป็นหน่วยจัดซื้อของรัฐก็อาจถูกเพ่งเล็งสอบสวนฐานซื้อข้าวในราคาแพง นอกจากนี้ผู้ซื้อจากบางประเทศตั้งเงื่อนไขไว้เลยว่า ไม่ต้องการข้าวในสต็อกของรัฐ เพราะเป็นข้าวเก่า และมีปัญหาคุณภาพ

ด้านผู้ส่งออก เมื่อไม่มีคำสั่งซื้อล็อตใหญ่จากผู้ซื้อในต่างประเทศ ประกอบกับผู้ส่งออกเองก็ไม่กล้าเสนอราคาขายในปริมาณมากให้ผู้ซื้อ เพราะเกรงการผันผวนของราคาข้าวในตลาด เมื่อรัฐบาลระบายสต็อกจำนวนมากออกมา ผู้ส่งออกจึงซื้อข้าวจากโรงสีเพียงเท่าที่ให้พอส่งมอบให้ผู้ซื้อที่ตกลงไว้ ไม่กล้าสั่งซื้อข้าวจำนวนมากจากโรงสี เก็บไว้ในสต็อก

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว จะเห็นได้ชัดเจนว่า สต็อกข้าวของรัฐจำนวน 17 ล้านตันเศษจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลชุดที่แล้ว มีผลกระทบต่อการซื้อขายข้าวในตลาดเป็นลูกโซ่และ เป็นวงกว้าง การซื้อขายข้าวที่เป็นไปตามความต้องการของตลาดตามปกติต้องชะงักและชะลอลง ทำให้คำสั่งซื้อข้าวทั้งภายในและต่างประเทศลดน้อยลง เพราะเกรงการผันผวนของราคาข้าวจากการที่รัฐจำเป็นต้องระบายข้าวในสต็อก เมื่อคำสั่งซื้อหรือความต้องการข้าวมีไม่มาก ย่อมมีผลทำให้ราคาข้าวต้องตกต่ำลงตามกลไกตลาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงกล่าวได้ว่า สต็อกข้าวของรัฐจำนวนมากดังเป็นตัวการในการกดราคาข้าว

เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช )เข้ามาบริหารประเทศ สิ่งที่ต้องบริหารจัดการเรื่องข้าว คือการระบายสต็อกจำนวนมหาศาล ให้หมดไปหรือให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาข้าว ลดความเสียหายของข้าวในสต็อก และไม่ให้มีสต็อกข้าว ไว้เป็นตัวการกดราคาข้าวอันมีผลถึงราคาข้าวเปลือกที่ชาวนาจะได้รับด้วย

ในการดำเนินการระบายข้าวในสต็อกของรัฐ จำนวนมหาศาล 17 ล้านตันเศษดังกล่าว ผู้มีบทบาทสำคัญคือ (1) คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) โดย รองหัวหน้าคณะผู้รักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งเป็นรองประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ) เป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้พิจารณา อนุมัติ สั่งการ ให้ความเห็นชอบในการดำเนินการที่เกี่ยวกับการระบายข้าว ในนามของ นบข. (2) คณะอนุกรรมการระบายข้าว ที่แต่งตั้งโดย นบข. มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน (นางสาวชุติมา บุณยประภัศร 27 มิ.ย.2557-30 ก.ย.2559 - นาวสาววิบูลย์รักษ์ ร่วมรักษ์ 1 ต.ค2559 ถึงปัจจุบัน ) มีอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (นางดวงพร รอดพยาธิ์) เป็นเลขานุการ (3)กรมการค้าต่างประเทศเป็นหน่วยงานปฏิบัติ

ที่ผ่านมาได้ระบายข้าวโดยการเปิดประมูลครั้งแรก เมื่อเดือนส.ค. 2557 และต่อมาระบายโดยการเปิดประมูลอีกหลายครั้งตามช่วงเวลาที่เหมาะสม ระบายข้าวในสต็อกไปได้ รวม13.94 ตัน ระบายข้าวครั้งล่าสุดเป็นการเปิดประมูล เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2560 เป็นการประมูลเข้าสู่อุตสาหกรรม มีผู้ยื่นเข้าประมูลซื้อ 2.20 ล้าน ถ้าได้รับอนุมัติจากนบข. ก็จะเป็นปริมาณข้าวที่ระบายไปได้แล้วทั้งหมดรวม 16.14 ล้านตัน เหลือปริมาณข้าวในสต็อกตามบัญชีอีก ประมาณ 0.94 ล้านตัน ซึ่งมีปริมาณไม่มากไม่มีผลต่อการกดดันราคาข้าว ถือได้ว่าเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยมในการกอบกู้การค้าข้าวไทยให้กลับมาสู่ภาวะปกติ ไม่มีสต็อกข้าวจำนวนมหาศาลไว้กดราคาข้าวอีกต่อไป

การดำเนินการเพื่อทำให้ให้ภาวะการค้าข้าวไทยกลับสู่ภาวะปกติต่อจากนี้ เป็นหน้าที่ ขององค์การคลังสินค้ากระทรวงพาณิชย์ และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ควบคมดูแล กำหนดมาตรการป้องกันข้าวที่ระบายสู่ภาคอุตสาหกรรมไม่รั่วไหลสู่ตลาดข้าวบริโภค จะต้องปฏิบัติงานอย่างจริงจังเคร่งครัดไม่ให้มีการนำข้าวที่ระบายสู่ภาคอุตสาหกรรมไปวนเวียนในตลาดข้าวเพื่อการบริโภค อันเป็นการย้อมแมวขายหลอกลวงผู้บริโภค และไม่ให้ไปเพิ่มอุปทานข้าวในตลาดข้าวเพื่อการบริโภคที่จะกระทบต่อราคาข้าวด้วย