ภาพรวมประสิทธิผลประเทศสมาชิกอาเซียน :

ภาพรวมประสิทธิผลประเทศสมาชิกอาเซียน :

ด้านสุขภาพ ความปลอดภัย ความมั่นคง และการดำเนินงานของภาคส่วนต่างๆ

บทความที่ผ่านมา ผมได้นำเสนอคะแนนประสิทธิผลระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน 3 ด้านแรกไปแล้ว ได้แก่ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการศึกษา โดยด้านการศึกษาของไทยน่าเป็นห่วงมากที่สุด เพราะได้คะแนนในลำดับที่ 9 มาตรฐานการศึกษาของประเทศอยู่ในเกณฑ์ไม่ดี ไม่เป็นที่น่าพึงพอใจทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ทุกภาคส่วนควรเร่งรัดแก้ปัญหาด้านการศึกษา ตามข้อเสนอต่างๆ ที่ผมเคยเสนอไว้แล้ว

ในบทความนี้ ผมจะนำเสนอคะแนนประสิทธิผลภาพรวมของประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 4 ด้านที่เหลือ ดังต่อไปนี้

4. ด้านสุขภาพ (Health) แบ่งออกเป็น 2 หมวด ได้แก่ สุขภาพกาย และสุขภาพจิต ผลการศึกษาพบว่า ประเทศไทยมีคะแนนประสิทธิผลสูงสุด คือ 62.2% รองลงมาเป็นฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ด้วยคะแนน 51.7% และ 41.7% ตามลำดับ

ประเทศไทยได้คะแนนประสิทธิผลด้านสุขภาพจิตหรือระดับความสุขสูงสุดในอาเซียน ช่วงปี 2551 - 2559 ไทยมีระดับความสุขเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กัมพูชาและเมียนมามีระดับความสุขเพิ่มขึ้นน้อยที่สุด

ทว่าหมวดสุขภาพกายของไทยกลับมีคะแนนประสิทธิผลไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ เพราะได้คะแนนเพียง 25.3% ส่วนประเทศลาวได้คะแนนสูงสุดที่ 51.7% และกัมพูชาได้คะแนนเป็นลำดับรองลงมาที่ 50% เนื่องจาก ในช่วงปี 2553 - 2555 อัตราการเสียชีวิตจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อของกัมพูชาและลาวลดลงมากที่สุด แต่ประเทศไทยกลับมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงสุดในช่วงเวลาดังกล่าว

5. ด้านความปลอดภัย (Safety) แบ่งเป็น 2 หมวด ได้แก่ อุบัติเหตุ และอาชญากรรม (ข้อมูลด้านอุบัติเหตุไม่ครบถ้วนทำให้คำนวณค่าดัชนีระดับภูมิภาคไม่ได้) กัมพูชาได้คะแนนภาพรวมด้านความปลอดภัยสูงสุดที่ 100% ประเทศไทย 68.7% สิงคโปร์ 56.6% มาเลเซีย 39.4% อินโดนีเซีย 37.7% ขณะที่เวียดนาม ฟิลิปปินส์ เมียนมาร์ บรูไนได้คะแนน 0% ส่วนลาว มีข้อมูลไม่เพียงพอ

ส่วนอัตราฆาตกรรมภาพรวมของประเทศอาเซียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2553 โดยสิงคโปร์ บรูไน อินโดนีเซีย มีอัตราฆาตกรรมเพิ่มขึ้นต่ำที่สุดตามลำดับ ขณะที่ประเทศไทย เวียดนามและมาเลเซียมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นสูงสุดตามลำดับ อย่างไรก็ดี อัตราการเพิ่มขึ้นของอาชญากรรมมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

6. ด้านความมั่นคง (Security) แบ่งเป็น 2 หมวด ได้แก่ ความมั่นคงภายใน และความมั่นคงภายนอก คะแนนภาพรวมด้านความมั่นคงสูงสุดอยู่ที่ประเทศเมียนมา ด้วยคะแนน 58.1% ฟิลิปปินส์และลาวมีคะแนนเท่ากันที่ 50% สิงคโปร์ 45.9% ประเทศไทย 34.4% กัมพูชา 33.3% อินโดนีเซีย 18.7% เวียดนาม 10.6% มาเลเซีย 5.1% ขณะที่บรูไนมีคะแนน 0%

สำหรับภาพรวมความมั่นคงทางการเมืองภายในประเทศ สิงคโปร์และบรูไนมีเสถียรภาพทางการเมืองสูงสุดตามลำดับ ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองเท่าใดนัก ส่วนประเทศฟิลิปปินส์และลาวมีการพัฒนาเสถียรภาพทางการเมืองได้ตามเป้าหมายที่วางไว้จึงได้คะแนนประสิทธิผลเต็ม 100%

ส่วนคะแนนประสิทธิผลความมั่นคงภายนอกของสิงคโปร์อยู่ในระดับสูง เพราะมีการพัฒนาและความพยายามสร้างความมั่นคงของประเทศจากปัจจัยภายนอกอย่างต่อเนื่อง สังเกตได้จากภัยคุกคามการก่อการร้ายของสิงคโปร์อยู่ในระดับต่ำและมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้สิงคโปร์มีต้นทุนการป้องกันธุรกิจจากการก่อการร้ายค่อนข้างต่ำ

7. ด้านการดำเนินงานของภาคส่วนต่างๆ (Process) แบ่งเป็น 3 หมวด ได้แก่ การดำเนินงานของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน แต่เนื่องจากประเทศต่างๆ มีข้อมูลภาคประชาชนไม่เพียงพอสำหรับการวัดประสิทธิผล รวมทั้งยังไม่พบข้อมูลตัวชี้วัดการดำเนินงานของภาคประชาชนที่เหมาะสม จึงทำให้ยังไม่มีการเปรียบเทียบคะแนนประสิทธิผลระหว่างประเทศในหมวดการดำเนินงานของภาคประชาชน

คะแนนประสิทธิผลการดำเนินงานของภาครัฐ เมียนมามีคะแนนสูงสุดที่ 80.3% รองลงมาเป็นฟิลิปปินส์ เวียดนามและสิงคโปร์ ด้วยคะแนน 50%, 45.3% และ 40.8% ตามลำดับ

แม้คะแนนประสิทธิผลของสิงคโปร์น้อยกว่าเมียนมา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม แต่ไม่ได้หมายความว่าการดำเนินงานของภาครัฐของสิงคโปร์ไม่ดี เพราะความจริงแล้ว สิงคโปร์มีการดำเนินงานของภาครัฐอยู่ในระดับมาตรฐานสากล ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายของภาครัฐ การปลอดคอร์รัปชัน การบังคับใช้หลักกฎเกณฑ์ กฎหมาย หรือหลักนิติธรรมที่เป็นไปอย่างเคร่งครัดเข้มงวด แต่ระดับการพัฒนาตามเป้าหมายที่วางไว้ในปีก่อนๆ ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ทำให้คะแนนประสิทธิผลไม่สูงเท่าใดนัก เมื่อเปรียบเทียบกับ 3 ประเทศข้างต้น

สำหรับประเทศไทยมีคะแนนอยู่ในอันดับที่ 8 คือ 25.2% นับว่าเป็นคะแนนที่ต่ำมาก เพราะตัวชี้วัดประสิทธิผลการดำเนินงานของภาครัฐทุกตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียนตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน คะแนนดังกล่าวสะท้อนว่า การดำเนินงานของภาครัฐยังไม่ได้รับการพัฒนาหรือปรับปรุงแก้ไขตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ ซึ่งมีความสอดคล้องกับเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศที่อยู่ในสภาวะไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ

คะแนนประสิทธิผลของการดำเนินงานของภาคเอกชน อินโดนีเซียได้คะแนนเป็นอันดับที่ 1 ที่ 65.6% ตามมาด้วยสิงคโปร์ 58.9% ไทย 55.1 เมียนมา 50% มาเลเซีย 41.6% ลาว 38.4% ฟิลิปปินส์ 36.4% เวียดนาม 33.5% บรูไน 25.5% และกัมพูชา 25%

การดำเนินงานของภาคเอกชนไทยมีคะแนนอยู่ในระดับกลางๆ เนื่องจากคะแนนด้านการตอบสนองและการใส่ใจต่อผู้บริโภคอยู่ในระดับสูง แต่คะแนนด้านการสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจและความเป็นมืออาชีพอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียนอย่างต่อเนื่องจนมาถึงปัจจุบัน และมีแนวโน้มที่จะต่ำลงเรื่อยๆ

จากคะแนนประสิทธิผลในแต่ละด้าน แม้ประเทศไทยจะมีความสุขสูงสุดในอาเซียน แต่ยังมีสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ด้านการศึกษาและด้านการดำเนินงานของภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังที่มีมาเป็นเวลานาน ไม่ใช่ปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก

ผมกล่าวเสมอว่าทุกภาคส่วนควรร่วมมือกัน ภาครัฐต้องเข้มแข็งและเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก ภาคเอกชนต้องพร้อมสนับสนุนและให้ความร่วมมือ ส่วนภาคประชาชนต้องพร้อมช่วยกันสอดส่องดูแลและเป็นผู้สะท้อนประเด็นปัญหาต่างๆ ขึ้นมา มากกว่านั้นทุกภาคส่วนไม่เพียงแต่สาละวนอยู่กับการแก้ปัญหาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องพัฒนาต่อยอดทำให้จุดอ่อนเป็นจุดแข็ง และทำให้จุดแข็งเป็นจุดแกร่งของประเทศให้ได้