ขัดแย้งมรดกทำร้ายสิงคโปร์

ขัดแย้งมรดกทำร้ายสิงคโปร์

เมื่อวันพุธที่ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมา คนสิงคโปร์ช็อกกับข้อความยาวใน facebook ซึ่งเป็นแถลงการณ์ของน้อง 2 คนในตระกูลลี

ของนายกรัฐมนตรี Lee Hsien Loong (LHL)ถล่มพี่ชายจนหน้าแตกแบบหมอปฏิเสธเย็บ คอลัมน์นี้ไม่ใช่ “ลัดดา” ซุบซิบ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้มีประเด็นให้คิด

คนสิงคโปร์ไม่คุ้นกับการเปิดเผยข้อมูลหรือการวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ยิ่งข้อมูลเกี่ยวกับครอบครัวของ Lee Kuan Yew (LKY) แล้วแทบไม่มี ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นคนสิงคโปร์จึงจับตามองจอสมาร์ทโฟน และก็ไม่ผิดหวังเพราะนายกรัฐมนตรี (LHL) ผู้พี่ก็ออกแถลงการณ์ด้วยข้อความและเอกสารยาวเช่นกัน ฝ่ายน้องชายและน้องหญิงก็โต้กลับไปมาบน social media จนเป็นที่สนุกสนานของพวกปากหอยปากปูเป็นอันมาก

ลีกวนยู มีลูก 3 คน คนโตเป็นชาย คือ LHL เป็นนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ปี 2004 LHLมีลูกรวม 4 คน ภรรยาคนแรกมีลูกสาวและลูกชาย แต่เสียชีวิตเพราะหัวใจล้มเหลวหลังจากคลอดลูกชายได้ไม่นาน ตอนอายุ 33 ปี LHL ก็แต่งงานใหม่กับข้าราชการดารรุ่งชื่อ Ho Ching มีลูกชายด้วยกัน 2 คน ปัจจุบัน LHL มีอายุ 65 ปี ต่อสู้เอาชนะโรคมะเร็งมาได้ 2 ครั้งคือในทศวรรษ 1990 และปี 2015

ลูกคนที่ เป็นหญิง ชื่อ Lee Wei Ling(LWL) เป็นหมออายุ 62 ปีมีสถานะโสด ในอดีตพบรักแต่พ่อไม่ยอมรับจึงหนีไปอยู่อังกฤษด้วยกัน ลีกวนยูโกรธมากสั่งห้ามเข้าสิงคโปร์ เมื่อเลิกกับแฟนก็กลับเข้าประเทศไม่ได้จนแม่ต้องช่วยเจรจา เธอเป็นนักเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ ดูจะเป็นคน “แรง” สักหน่อยในพี่น้อง 3 คน เธอเคยเป็นผู้อำนวยการ The Institute of National Neuroscience สื่อกล่าวว่าเธอปล่อยเนื้อปล่อยตัวไม่แต่งตัว ไม่แต่งหน้า และเมื่อกินยาเพราะมีโรคประจำตัว เธอจึงดูโทรมกว่าอายุเอามาก ๆ

ลูกคนที่ เป็นชาย ชื่อ Lee Hsien Yang (LHY) อายุ 60 ปี อดีตเป็นนายพลในกองทัพเหมือนพี่ชาย ปัจจุบันเป็น CEO ของ Sing Tel และอีกหลายตำแหน่ง ภรรยาเป็น นักกฎหมาย ชื่อ Lee Suet Fern เป็นลูกสาวของปรมาจารย์เศรษฐศาสตร์ที่ NUS ชื่อ Lim Chong Yah (นานมาแล้วผู้เขียนไปงานเลี้ยงที่บ้าน และเห็นรูปถ่ายจึงรู้ว่าลูกสาวเป็นสะใภ้ของครอบครัวนี้)

ประเด็นของข้อขัดแย้งตามที่อ้างในสาธารณะของฝ่ายน้อง 2 คน ที่จับมือกันแน่นก็คือพินัยกรรมของพ่อ(LKY)ระบุว่าให้รื้อบ้านเลขที่ 38 Oxley Street ให้หมด เพราะต้องการให้สอดคล้องกับความประสงค์ของพ่อที่ไม่ต้องการให้มีอนุสรณ์สถาน รูปปั้น พิพิธภัณฑ์ หรือสิ่งบูชาใด ๆ ที่เกี่ยวกับตัวเขาเพื่อให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่อย่างเด็ดขาด เพราะผลงานนั้นปรากฏชัดแล้วในสิ่งที่ประเทศเป็นอยู่และประชาชนได้รับ

น้อง 2 คน โจมตีพี่ชายว่าไม่ยอมรื้อเพราะต้องการเก็บไว้เป็น “ทุน” สำหรับการเชิดชูพ่ออันจะเป็นประโยชน์ทางการเมือง นับว่าเป็นสิ่งเห็นแก่ตัว ลุแก่อำนาจ ไม่น่าไว้วางใจ ไม่น่าเชื่อถือ ขนาดกับน้องยังทำได้อย่างนี้และกับประชาชนสิงคโปร์จะเป็นอย่างไร นอกจากนี้ยังถูก “ข่มขู่” จนน้องชายคิดจะออกไปอยู่นอกประเทศ อีกทั้งพาดพิงไปทางลบถึง Ho Ching ภรรยาซึ่งมีหน้าที่ใหญ่โต เป็น CEO ของ Temasek อีกด้วย และอ้างว่าพี่ชายมีแผนที่จะสนับสนุนลูกชายให้สืบทอดเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป พูดง่าย ๆ ก็คืออัดพี่ชายเสียเละไม่มีชิ้นดี

รุ่งขึ้นพี่ชาย(LHL)ก็ปล่อยเอกสารที่ให้การกับคณะกรรมการที่รัฐได้ตั้งขึ้นพิจารณาว่าสมควรรื้อบ้านหลังนี้หรือไม่และกำลังพิจารณาอยู่ ในเอกสารยาวระบุชัดเจนและก็เป็นไปตามที่คนสิงคโปร์คาดเดากันกล่าวคือ มันน่าจะเกี่ยวพันกับสิ่งอื่นมากกว่าแค่ “รื้อ” หรือ “ไม่รื้อ” บ้านเท่านั้น

LHLบอกว่าพ่อซึ่งถึงแก่อนิจกรรมในปี 2015 เมื่อมีอายุ 91 ปี ในปีที่สิงคโปร์ฉลองเอกราชย์ครบ 50 ปี มีพินัยกรรมถึง 7 ฉบับ แก้กันไปแก้กันมา หนักที่สุดก็ในช่วงปี 2011 ถึงก่อนเสียชีวิต ตัวเขาเองเห็นแค่ 6 ฉบับคือฉบับปี 2013 เมื่อพ่อเสียชีวิตแล้วจึงรู้ว่ามีฉบับที่ 7 ซึ่งระบุให้รื้อบ้าน (ไม่มีข้อความให้รื้อใน 2 ฉบับก่อนหน้า) และให้น้องสาวได้มรดกเพิ่มขึ้นอีก 1/7 เมื่อ อ่านดูละเอียดแล้ว ทุกสิ่งที่กล่าวถึงน่าจะเป็นความจริงเพราะเป็นข้อมูลทางการที่นายกรัฐมนตรีมอบให้แก่คณะกรรมการ

ข้อมูลระบุว่าในช่วงหลังจากที่แม่ (Kwa Geok Choo)เสียชีวิตในปี 2010 ลูก ๆ ก็ผลัดกันไปหาพ่อ รบเร้าหลายเรื่อง เรื่องสำคัญก็คือการรื้อบ้าน มีหลักฐานว่าพินัยกรรมถูกแก้กลับไปมาหลังจากที่ลูกแต่ละคนไปหาและโน้มน้าวได้สำเร็จ

ประเด็นสำคัญของการรื้อบ้านก็คือ จะทำให้เหลือแต่ที่ดินซึ่งสามารถเอาไปขายได้ซึ่งมูลค่าปัจจุบันอาจถึง 30-40 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (700-1,000ล้านบาท) เพราะอยู่ใกล้กับ Orchard Road แหล่งค้าขายสำคัญ นายกรัฐมนตรีบอกว่าต้องการให้เก็บไว้เพราะจะได้ไม่สามารถขายให้แก่ธุรกิจได้เพราะไม่ต้องการให้ครอบครัวหาประโยชน์จากความมีชื่อเสียงของพ่อ ตราบที่ไม่มีการรื้อบ้านก็ขายที่ดินกันไม่ได้เพราะเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ (บ้านหลังนี้ ลีกวนยู อยู่มาตลอดชีวิตตั้งแต่ทศวรรษ 1940 เป็นบ้านที่แสนธรรมดาที่สุด) หากรัฐจะซื้อมาก็เป็นที่ชัดเจนว่าพี่น้องจะรับเงินไปทั้งหมดโดยไม่บริจาคก้อนใหญ่ให้แก่การกุศลนั้นเป็นไม่ได้

เมื่อพิจารณาเรื่องนี้แล้วจึงเห็นว่ามันเป็นเรื่องของโลภะ โทสะ โมหะ เหมือนครอบครัวธรรมดาทั่วไปที่ขาดธรรมะในใจ ที่น่าเสียดายก็คือมันเป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่สมควรนำมาทะเลาะกันในสาธารณะ จนมีผลกระทบต่อมรดกแห่งความยิ่งใหญ่ที่ลีกวนยูได้ทิ้งไว้ให้แก่สิงคโปร์และโลก

เพื่อให้เรื่องนี้จบ นายกรัฐมนตรีสั่งให้เปิดสภาซักถามกันให้เต็มที่ในวันที่ 3 ก.ค.นี้ ตนเองพร้อมจะตอบทุกอย่างเพราะเรื่องนี้ผูกพันกับชื่อเสียงและเกียรติภูมิของ ชาวสิงคโปร์

แง่คิดในเรื่องนี้ก็คือถ้าไม่มี social media เรื่องก็คงไม่เป็นไฟลามทุ่งดังที่เกิดขึ้น เป็นแน่ จนเกิดความเสียหายแก่ภาพพจน์ของครอบครัวหนึ่งอันเกรียงไกรของโลกเพราะได้รับการศึกษา ดีมากทุกคน ทำงานทำการอย่างแข็งขัน ไม่มีคนใดทั้งลูกและสะใภ้ที่เกเร ทุกคนมุ่งสนับสนุนเกียรติภูมิของปู่ และชื่อเสียงของสิงคโปร์

สิงคโปร์เสียชื่อในด้าน brand control เพราะแต่ไหนแต่ไรสิงคโปร์มี brand ในด้านประสิทธิภาพ ความสมาร์ท ความสามรถในการ “จัดการได้” และควบคุมได้อย่างดีมายาวนาน มาครั้งนี้ความสามารถในด้านนี้ลดลงไปอย่างช่วยอะไรไม่ได้

คนที่น่าสงสารที่สุดคือลีกวนยู ในตอนอายุ 88-90 ปี ก่อนเสียชีวิตต้องปวดหัวกับเรื่องมรดก ที่ลูกหลานนำมารบเร้าให้แก้ไขพินัยกรรม และร้ายกว่านั้นก็คือไม่เป็นการยุติธรรมเลย ที่ตนเองต้องเสียเกียรติภูมิเพราะลูก ๆ หลังจากที่เสียชีวิตไปแล้ว