อนุญาโตตุลาการทางการแพทย์ (2)

อนุญาโตตุลาการทางการแพทย์ (2)

การยุติข้อพิพาทระหว่างแพทย์กับผู้เสียหายทางการแพทย์

มีการประชุมเกี่ยวกับวิธีป้องกันมิให้เกิดข้อพิพาท และการยุติข้อพิพาทระหว่างแพทย์พยาบาล กับผู้ป่วยและผู้เสียหายในทางการแพทย์หลายครั้งหลายหน แต่ดูเหมือนจะไม่มีข้อยุติอย่างเป็นรูปธรรม

มีการเสนอให้ตั้งศาลชำนัญพิเศษสำหรับพิจารณา แต่จำนวนคดีที่ขึ้นสู่ศาลมีน้อยมาก ไม่ถึง 500 คดีนับแต่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกันมา จึงยังไม่ถือว่ามากพอที่จะต้องตั้งศาลพิเศษ เพราะศาลชำนัญพิเศษเช่นศาลแรงงาน ศาลภาษี ศาลทรัพย์สินทางปัญญา ศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลคดีผู้บริโภค ต่างมีคดีขึ้นสู่ศาลนับหมื่นหรือแสนคดีต่อปี

และแม้จะให้แยกออกจากคดีผู้บริโภค เพื่อมิให้ต้องขึ้นศาลคดีผู้บริโภค ก็ไม่ทำให้เกิดข้อยุติในการเป็นคดีความในชั้นศาลได้ และที่สำคัญก็คือกฎหมายทุกฉบับบัญญัติให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยเป็นงานบริการทั้งหมด ซึ่งเมื่อเป็นงานบริการก็ต้องเป็นคดีผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เคยเขียนบทความเสนอความเห็นหลายครั้งว่า ถ้าต้องการไม่ให้เกิดข้อพิพาทในลักษณะที่เป็นการฟ้องร้องดำเนินคดีในศาลยุติธรรม ก็ต้องมีวิธีการตามกฎหมายอื่นที่คู่กรณีสามารถยอมรับได้

แพทย์และบุคคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วย ไม่มีทางแยกจากกันชั่วชีวิต ถ้าไม่มีแพทย์ ผู้ป่วยก็ต้องจบชีวิตตามเหตุแห่งความเจ็บป่วยโดยไม่มีการรักษา หากไม่มีผู้ป่วย ก็ไม่ต้องมีแพทย์ให้การรักษาช่วยชีวิต

การกระทบกระทั่งกันระหว่างแพทย์พยาบาลกับฝ่ายผู้ป่วยเหมือนลิ้นกับฟัน เหมือนชีวิตคู่สามีภรรยา ตลอดชีวิตของทั้งคู่ก็ต้องมีทั้งดีต่อกันและกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงกรณีที่ไม่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลที่เป็นทุรเวช หรือผู้ป่วยที่เตะก้านคอแพทย์ผู้ให้การรักษา

ในเมื่อสังคมเราไม่ต้องการเห็นการพิพาทเป็นคดีสู่โรงศาล แต่ก็ต้องมีทางออกเพื่อเป็นที่ยุติ จึงคิดว่าวิธีการหนึ่งที่น่าจะนำมาปฏิบัติคือ วิธีอนุญาโตตุลาการ

อนุญาโตตุลาการเป็นกระบวนยุติข้อพิพาททางเลือกที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการธุรกิจระหว่างประเทศ เพราะคู่พิพาทมักหลีกเลี่ยงการนำคดีขึ้นสู่ศาลที่มีแพ้มีชนะ แต่การยุติข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการจะไม่เป็นการแพ้ชนะคดี ไม่ทำให้ใครมีประวัติเสีย ไม่ทำให้ใครเสียหน้ามากเกินไป ไม่ทำให้สังคมที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงขยายข่าวทางสื่ออย่างกว้างขวางไม่มีขอบเขตจำกัด และที่สำคัญเมื่อคู่กรณีตกลงกันได้ด้วยวิธีนี้ ก็ยังค้าขายกันต่อไปโดยไม่มีความรู้สึกขัดแย้งกันมากเกินไป

จริงๆแล้ว เรามี พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการมากว่า 20 ปีแล้ว สถาบันอนุญาโตตุลาการ สังกัดในส่วนของสำนักงานศาลยุติธรรม ที่ไม่ได้ทำหน้าที่ตุลาการ แต่ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยประนีประนอมหาทางออกให้คู่พิพาทและจบลงที่อนุญาโตตุลาการ หรืออาจเป็นศาลถ้าไม่มีทางเลือกอื่น

ถ้าข้อพิพาทระหว่างแพทย์พยาบาลกับฝ่ายผู้ป่วยใช้กระบวนการนี้ โอกาสที่ข้อพิพาทจะยุติลงย่อมมีสูงอย่างเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย เพราะผู้ทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการจะไม่ใช่ศาล แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิชาชีพแพทย์ที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะเลือกมาฝ่ายละหนึ่งคน และเลือกอีกหนึ่งคนที่มีความเห็นร่วมกันให้ทำหน้าที่ประธานคณะอนุญาโตตุลาการ จึงต้องมีองค์คณะอย่างน้อย 3 คน

การที่ผู้ทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญ และประสบการณ์ทางการแพทย์โดยตรงมาทำหน้าที่นี้ จะตัดปัญหาการพิจารณาคดีในศาลยุติธรรมที่มักพูดกันว่าศาลไม่มีความรู้ทางการแพทย์ ไม่รู้กระบวนการรักษาพยาบาล แต่ต้องมาพิจารณาตัดสินคดี ทำให้ฝ่ายแพ้คดีไม่ค่อยยอมรับ

ถ้าจะมีอนุญาโตตุลาการในการยุติข้อพิพาททางการแพทย์ ก็อาจต้องออกกฎหมายให้มีผลใช้บังคับทุกข้อพิพาท เรามี พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการอยู่แล้ว จึงไม่เป็นเรื่องยากที่จะทำได้ ส่วนเรื่องการแก้ไขเยียวยาตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องก็ยังมีสภาพบังคับเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

อยากให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือคณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง