คนชอบแชร์

คนชอบแชร์

สำหรับ Startup ที่ส่วนมากสนใจทำงานสื่อสารทางการตลาดออนไลน์ และคาดหวังว่าจะเกิดการแชร์หรือส่งต่อข้อมูลกระจายไปในหมู่เพื่อนพ้องคนที่รู้จักด้วย

ต้องยอมรับว่าเพียงส่งข่าวดีๆ มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจออกไป ใช่ว่าจะทำให้คนอยากแชร์ได้ เพราะยังมีปัจจัยเรื่องบุคลิกลักษณะของคนที่รับข้อมูลไปที่ส่งผลต่อความต้องการแชร์

New York Times ทำการศึกษาไว้โดยเก็บข้อมูลจากคน 2500 คนที่แชร์ออนไลน์ ได้เป็นลักษณะของคนที่บ่งบอกถึงเหตุผลในการแชร์ 6 ประเภท ที่นักการตลาดควรศึกษาไว้ใช้ประกอบการวางแผน

Altruists คนใจดีใจบุญ เป็นกลุ่มที่สนใจข้อมูลและอยากแชร์เพราะเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นต่อไป โดยอาจเป็นข้อมูลอัพเดททำให้ได้ความรู้ใหม่ เป็นเรื่องที่รู้แล้วดีต่อใจ เช่น ประสบการณ์ดีๆ ความสำเร็จในชีวิตของบางคนที่นอกจากอิ่มใจไปด้วยแล้วยังช่วยเปิดมุมมองได้ นอกจากนั้นยังมีเรื่องเตือนใจ ข้อควรระวัง เหตุการณ์คาดไม่ถึงทั้งหลายที่รู้แล้วเป็นประโยชน์เตือนสติ ทั้งนี้คนกลุ่มนี้อาจถนัดรับและแชร์เฉยๆ หรือบางคนมีการเพิ่มเติมความเห็นร่วมด้วย เช่นที่มีข้อมูลการรีวิวสินค้าหรือข้อมูลการวิจัยบางอย่างมาแล้ว คนแชร์ให้ประเด็นเพิ่มไปด้วยว่าส่วนตัวคิดว่าอย่างไร แบบนี้ก็เป็นอีกรูปแบบสร้างความหลากหลายให้ข้อมูลได้ นักการตลาดจำนวนมากคาดหวังการแชร์ในลักษณะนี้เพราะมักจะมาจากฐานความเชื่อว่าสินค้าบริการของตัวเองดีมีประโยชน์ คนน่าจะอยากแชร์ให้คนอื่นได้รับรู้กัน แต่ในโลกความจริงยังมีคนอีกหลายกลุ่มที่มีความสนใจต่างกัน

Careerists ขณะที่กลุ่ม Altruists มีแรงผลักดันหลักเป็นความอยากช่วยเป็นประโยชน์กับคนอื่น กลุ่ม Careerists มองที่การสร้างความก้าวหน้าในชีวิตและการงานของตัวเองเป็นสำคัญ โดยมองการแชร์เป็นการเชื่อมต่อระหว่างข้อมูลกับคนที่อยู่ในเครือข่าย เพื่อให้เกิดการพูดคุยต่อยอดและนำไปสู่การพัฒนางานต่อไป 

หากจะทำการสื่อสารให้คนกลุ่มนี้อยากแชร์ต่อต้องเชื่อมไปถึงประโยชน์ที่เขาจะได้รับในงานด้วย เช่น กรณีแรก Altruists อาจพูดถึงการเติบโตของเศรษฐกิจรูปแบบใหม่อย่าง Sharing Economy ส่วนกับกลุ่ม Careerists นี้ต้องพูดต่อไปถึงว่า Sharing Economy กับการปรับตัวสร้างความก้าวหน้าของ Gen Y เป็นต้น

Hipsters กลุ่มนี้ความมุ่งหวังหลักเกี่ยวพันกับตัวเอง แต่ไม่ใช่ในเชิงความก้าวหน้าการงานแบบกลุ่ม Careerists แต่เป็นในเชิงความดูเป็นคนที่น่าสนใจ ดูเท่ มีความคิดอ่านหรือสร้างสรรค์ดี น่าคบหาไว้ Hipsters จึงมักนิยมแชร์เรื่องที่สร้างกระแสได้ เช่นเทคโนโลยีล้ำยุคไปสู่โลกอนาคต โดยอยู่ในรูปแบบการสื่อสารที่ไม่สาระจ๋าจนขาดเสน่ห์ และมีการจุดประเด็นได้ เช่น พูดถึงโลกที่หุ่นยนต์ AI จะเข้าแทนที่มนุษย์และงานในหลายภาคส่วน การทำการสื่อสารกับกลุ่มนี้ให้แชร์ต้องไปผสานเนื้อหากับความเป็นตัวตนของเขาด้วย โดยครอบคลุมไปถึงบุคลิกลักษณะ ถ้าเป็นแบรนด์ก็คือดูไปถึง Brand Personality ที่เข้ากัน

Boomerangs กลุ่มนี้ชอบการแชร์ไปแชร์มา ไม่เหมือนกลุ่มอื่นที่แค่เห็นว่าดี ว่าชอบ ว่าใช่ ก็แชร์กันต่อไป กลุ่มนี้อยากให้เกิดปฏิสัมพันธ์ แชร์แล้วได้ความเห็นกลับ หรือรับแชร์มาแล้วให้ความเห็นย้อนกลับไป เนื้อหาน่าแชร์ของ Boomerangs จึงได้แก่เรื่องประเด็นปลายเปิดที่ชวนให้คนที่คิดเห็นต่างกันได้มาถ่ายทอดจากมุมของตัวเอง เหมาะกับแนวการสร้างกระทู้หรือชุมชนที่สนับสนุนการแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ต้องพิจารณาวัฒนธรรมประกอบด้วยว่าเปิดกว้างและคนคุ้นเคยกับการแสดงความเห็นอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่ยึดติดกับมุมตัวเองและไปชวนทะเลาะกันกับคนอื่น อันนี้กลับจะเป็นอันตราย ควบคุมได้ยากสำหรับนักการตลาด

Connectors กลุ่มนี้ที่แชร์ก็เพื่อเป็นสื่อถึงการได้เชื่อมต่อกับผู้คน จึงพบว่าเนื้อหาที่แชร์บางทีก็ไม่มีอะไรมาก แค่สวัสดีวันจันทร์ก็แชร์ได้ ประเด็นคืออยากรู้สึกว่าฉันยังอยู่ดี เธอยังอยู่ดีใช่ไหม ฉันคิดถึงเธอเรื่อยๆนะ ข้อมูลชวนแชร์จึงได้แก่เรื่องง่ายๆ ความสุข ความสวยงามรอบๆตัว ภาพสวยๆ เพลงเพราะๆ เป็นต้น

Selectives สุดท้ายกลุ่มนี้แชร์ยากสุด เพราะเป็นพวกคิดแล้วคิดอีกก่อนแชร์ แถมยังเลือกกลุ่มคนที่จะแชร์ต่อไปอีก กลุ่มนี้ด้วยความคิดดีแล้วว่าแชร์อะไร เพราะอะไร เพื่อใคร จึงคาดหวังว่าจะมีการตอบสนองกลับมาจากคนที่แชร์ไปให้ แม้จะทำการสื่อสารด้วยไม่ง่ายแต่เทคนิควิธีการทำงานกับกลุ่มนี้ก็เหมาะกับตอนที่คัดสรรได้ Leads มาเพื่อทำงานด้วยต่อแล้วเพราะเขาจะช่วยทำการคิดให้ต่อว่าควรเชื่อมโยงไปถึงใคร และอาจมีการติดตามให้ด้วยอีกต่างหาก ทำให้นักการตลาดสามารถเข้าถึงคนที่ใช่ในการสื่อสารที่โดนใจจริง

ทั้ง 6 บุคลิกเป็นการศึกษาจากคนแชร์ข้อมูลออนไลน์ แต่ในการสื่อสารยังน่าจะมองต่อไปถึงคนอีกพวกที่ไม่ชอบแชร์ด้วย หรือที่มากกว่านั้นคนที่ไม่ชอบรับการแชร์ในบางเรื่องด้วยจึงจะทำให้การสื่อสารมีความแยบยล