จาก‘Start Up’ สู่ ‘Scale Up’

จาก‘Start Up’ สู่ ‘Scale Up’

“สองสามปีแล้วทำไมธุรกิจยังอยู่ที่เดิม?”

เสียงคณะกรรมการถามสตาร์ทอัพทีมหนึ่ง ซึ่งเคยผ่านเวทีแข่งขัน งานใหญ่ๆ มาแล้วหลายงาน คำถามนี้ไม่ได้เป็นคำถามที่จะต้อนให้ใครเข้ามุม แต่เป็นคำถามที่สะท้อนให้เห็นสภาวะการณ์บางอย่างที่น่าเป็นห่วงของสตาร์ทอัพ สถานะที่เรียกกันเล่นๆ ในหมู่นักลงทุนว่า ‘ซอมบี้’ เป็นความน่ากลัวของคนทำธุรกิจที่อยู่ในภาวะที่ไม่ตายแต่เลี้ยงไม่โต 

ปัญหาไม่ได้เกิดฉพาะกับบ้านเราเท่านั้น แต่อาจเรียกได้ว่าเป็นปัญหาของธุรกิจสตาร์ทอัพทั่วโลก เพราะการพัฒนาเทคโนโลยี สร้างนวัตกรรม และ การทำธุรกิจ จำเป็นต้องใช้ประสบการณ์และทักษะที่แตกต่างหลากหลายมาหลอมรวมกันเพื่อทำให้ทีมงานสามารถสร้างบริษัทให้เติบโตต่อไปได้ 

ปัจจุบันต่างประเทศได้หันมาให้ความสำคัญกับการ “Scale Up” มากกว่าแค่การแข่งขันสร้างสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้นแล้ว และเน้นให้ความสำคัญกับเงินลงทุนที่เป็น “Continuity Fund” หรือเงินลงทุนที่ช่วยให้สตาร์ทอัพสามารถนำมาใช้ในการ Scale ธุรกิจ

อะไรเป็นปัญหาหลักของการขยายธุรกิจสำหรับสตาร์ทอัพ? หลายคนคิดว่าการขาดเงินทุนคือปัจจัยหลักแต่ถ้ามองลงไปให้ถึงแก่นของปัญหา เงินทุนยังเป็นเสมือนน้ำมันหล่อลื่นเท่านั้น องค์ประกอบที่สำคัญของการขับเคลื่อนธุรกิจให้สามารถขยายตัวได้ อันดับแรกคือความ “พร้อม” และความ “ลงตัว” ของทีม

ยกตัวอย่างเช่นสตาร์ทอัพบางทีมพัฒนาแพลตฟอร์มที่จะตอบโจทย์ลูกค้าที่เป็น B2B แต่ในทีมงานไม่มีใครเลยที่มีความเป็น “นักขาย” เวลาส่วนใหญ่จึงใช้ไปกับความพยายามที่จะสร้างฟีเจอร์ใหม่ๆให้กับแพลตฟอร์ม แต่ใช้เวลาน้อยมากในการวิ่งหาลูกค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับความเป็นจริงของธุรกิจประเภท B2B 

ในทางกลับกันสตาร์ทอัพบางทีมก็มีทีมงานที่เข้าใจธุรกิจและอุตสาหกรรมอย่างดีเยี่ยม แต่ต้อง Outsource งานพัฒนาด้านเทคโนโลยีให้กับคนนอกตลอดเวลา สิ่งซึ่งอาจไม่ได้เป็นปัญหาในวันแรกกลับกลายเป็นปัญหาใหญ่ในวันที่ธุรกิจเติบโต นั่นคือไม่สามารถต่อยอดเทคโนโลยีให้สามารถเพิ่มคุณค่าและสร้างความแตกต่างได้ 

อีกหนึ่งองค์ประกอบที่ทำให้สตาร์ทอัพส่วนใหญ่อยู่ในสภาวะไม่ตายแต่เลี้ยงไม่โตก็คือ Product ไม่โดดเด่น และ “ขาด” ความได้เปรียบในเกมธุรกิจ เช่น ลงมาเล่นในตลาด Market Place ที่มีคู่แข่งขันในการให้บริการหลายราย แต่ขาดความเข้าใจกลไกของอุตสาหกรรมนั้นอย่างถ่องแท้ ไม่สามารถหาช่องทางสร้างการผูกขาดในตลาดได้ 

องค์ประกอบสุดท้ายที่เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคของการ Scale ธุรกิจก็คือ ‘ความเป็นผู้นำ’ และ ‘จิตวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการ’ ของ Founder เพราะการสร้างสตาร์ทอัพคือการสร้างธุรกิจ ไม่ใช่แค่การสร้างนวัตกรรมหรือเทคโนโลยี 

ในช่วงเวลาที่ธุรกิจเข้าสู่ระยะ ‘ซอมบี้’ นั่นคือบททดสอบความมี Leadership และ Entrepreneurship ของ Founder เพราะการจะเดินต่อในภาวะนั้นอาจหมายถึงการตัดสินใจในเรื่องที่ยากมากๆ เช่น ปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ การหาช่องทางที่จะควบรวมกับธุรกิจอื่นเพื่อทำให้สามารถต่อยอดและเติบโตได้ เปลี่ยนทีมงานหรือกระทั่งการปรับบทบาทตัวเองจากการเป็น “Founder” มายืนอยู่ข้างๆเพื่อเป็นแค่ “ที่ปรึกษา” ความเป็นผู้นำจะเป็นสิ่งสำคัญที่นำไปสู่การตัดสินใจอันเป็นประโยชน์กับธุรกิจ ถึงแม้อาจมีผลกระทบหลายอย่างตามมา ผู้นำที่ไม่กล้าตัดสินใจอาจนำธุรกิจเดินไปสู่ทางตันในที่สุด

สำหรับ Founder สิ่งสำคัญที่จะต้องทำในวันที่ธุรกิจต้องเติบโตก็คืออย่ากลัวที่จะถามคำถามยากๆ กับตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำถามที่ว่า “วันนี้เราเดินมาถูกทางหรือเปล่า” และ “เราต้องเปลี่ยนอะไรเพื่อจะเดินไปข้างหน้า” 

คำถามนี้อาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ลงมือทำไปแล้ว หลายคนกลัวที่จะต้องตอบคำถามที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอันใหญ่หลวง แต่นั่นคงไม่น่ากลัวเท่ากับการที่ต้องอยู่ในสภาพของนักสร้างสตาร์ทอัพแต่ไม่สามารถสร้างบริษัทที่เติบโตและยั่งยืนได้!