ของใหม่ ที่ได้จากของเก่า

ของใหม่ ที่ได้จากของเก่า

ยิ่งคุ้นเคยกับเรื่องใดมากเท่าไร ยิ่งไม่เห็นอะไรใหม่จากเรื่องนั้น หลายคนพลาดของดีที่มีอยู่ใกล้ตัว

 เพราะความคุ้นเคย ทำอย่างไรจึงจะมองเห็นของใหม่ ในของเก่าที่คุ้นเคย คำตอบคืออย่าแค่มองเห็นสิ่งที่คุ้นเคย แต่ให้มองอย่างคิดวิเคราะห์ มองอย่างใฝ่รู้ แล้วของเก่าที่คุ้นเคย อาจให้อะไรใหม่ ๆ ที่มีคุณค่ามากมายได้อย่างเกินคาดคิด 

ซึ่งการมองสรรพสิ่งรอบตัวด้วยความใฝ่รู้นี้พบเห็นบ่อยครั้ง ในผู้คนที่ทำมาหากินอยู่ในบ้านเมืองที่มั่งคั่ง และเชื่อกันว่าเป็นตัวผลักดันให้ความมั่งคั่งของบ้านเมืองนั้นยังคงอยู่ทั้งในวันนี้ และวันหน้า ตราบเท่าที่ยังมีผู้คนที่ใฝ่รู้ในสิ่งที่อยู่รอบตัว คำถามง่าย ๆกับเรื่องที่เชื่อว่าคุ้นเคย เคยให้คำตอบที่นำไปสู่กิจการที่มีมูลค่ามหาศาลมาแล้วหลายเรื่อง 

คนหนุ่มคนหนึ่งมองเห็นเครื่องคอมพิวเตอร์เมื่อหลายสิบปีก่อน ที่ใหญ่โตมโหฬาร แล้วตั้งคำถามง่าย ๆว่าทำให้เล็กลง แล้วจะใช้ทำอะไรได้บ้าง คำตอบจากคำถามนั้นนำไปสู่การแปลี่ยนแปลงการใช้งานคอมพิวเตอร์อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ และพัฒนากลายเป็นสมารท์โฟนที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในทุกวันนี้ 

ในทางตรงข้าม ยักษ์ใหญ่ในวงการถ่ายภาพเมื่อหลายสิบปีก่อน ปฏิเสธการพัฒนากล้องดิจิทัลสำหรับให้ใช้งานกันทั่วไป ทั้ง ๆที่เป็นผู้ที่คิดค้นกล้องดิจิทัลได้ก่อนใคร ปัจจุบันลดบทบาทความเป็นผู้นำในวงการถ่ายภาพ กลายเป็นรายเล็ก ๆรายหนึ่งเท่านั้น

ทุกวันที่มองเห็นสิ่งที่คุ้นเคย ให้ลองตั้งคำถามง่าย ๆเกี่ยวกับสิ่งที่คุ้นเคยนั้นสักหนึ่งคำถาม เช่นเรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับสิ่งนั้น ที่เรารู้นั้นได้นำไปใช้ประโยชน์อะไรบ้างแล้วหรือไม่ หรือกลับกันว่าอะไรบ้างที่เรายังไม่รู้ หรือรู้ไม่พอกับสิ่งนั้น ถ้ารู้เรื่องนั้นแล้วเราจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง พยายามเชื่อมโยงคำตอบที่ได้จากคำถามง่าย ๆนั้นเข้ากับความเก่งที่ตัวเรามีอยู่ในวันนี้ ลองพิจารณาดูอย่างจริงจังว่าคำตอบเหล่านั้นจะมีส่วนช่วยเติมเต็มความเก่งของเราได้อย่างไรบ้าง หรืออีกมุมหนึ่งคือดูว่าคำตอบใหม่ที่ได้มานั้น จะช่วยลดความเสียเปรียบใด ๆของเราได้บ้าง 

ซึ่งไม่ได้หมายความว่าทุกคำตอบจากทุกคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่เราคุ้นเคย จะช่วยทำให้เราเก่งขึ้น หรือเสียเปรียบน้อยลง บางคำถามอาจให้คำตอบที่ช่วยอะไรไม่ได้ แต่ทุกคำถามมีประโยชน์คือทำให้เราฝึกคิดวิเคราะห์กับเรื่องรอบตัว และถ้าวิเคราะห์ไปเรื่อยๆ วันหนึ่งอาจได้คำตอบที่มีค่ามีราคา ถ้าถามแล้วไม่ได้คำตอบที่ทำเงินทำทอง ก็อย่าเพิ่งหงุดหงิด แล้วเลิกไม่ยอมตั้งคำถามใด ๆกับสิ่งที่คุ้นเคยนั้นอีกต่อไป ซึ่งย่อมไม่มีวันได้อะไรที่เป็นประโยชน์เพิ่มเติมจากเรื่องที่คุ้นเคยนั้น

เรื่องใดที่เคยเชื่อมานมนานว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้เท่านั้น ให้ลองถามดูว่าที่ทำอยู่แบบดั่งเดิมนั้น ทำเพราะอะไร มีข้อจำกัดใดบ้างที่ทำให้เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ถ้าไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนใด ๆ แสดงว่าทำตามความเชื่อ โดยไม่มีกฏกติกา หรือเงื่อนไขใด ๆ มารองรับความเชื่อนั้น เมื่อพบความจริงแล้ว ก็ให้เริ่มถามต่อไปได้เลยว่า ถ้าไม่ทำแบบเดิม จะทำแบบใหม่ได้อย่างไรบ้าง แบบใหม่ให้ข้อดีเพิ่มเติมในเรื่องใดบ้าง

คำถามในทำนองนี้นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมมาแล้วมากต่อมาก ตั้งแต่หลอดไฟ ไปจนกระทั่งรถขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ถ้าไม่ตั้งคำถามว่าทำไมต้องใช้ไฟฟ้าวิ่งผ่านลวดตัวนำไฟฟ้า เพื่อให้เกิดแสงสว่าง ทำไมรถต้องมีคนขับ ซึ่งทั้งสองคำถามล้วนเป็นคำถามท้าทายความเชื่อที่มีมาแต่เดิมทั้งสิ้น นวัตกรรมเริ่มต้นได้จากการท้าทายความเชื่อที่มีมาแต่เดิม ไม่ท้าทายหมายถึงติดกับดักอยู่กับวิธีเดิม ๆ ไม่หาของใหม่ และจบลงด้วยไม่มีการพัฒนาใด ๆเกิดขึ้น โชคดีก็อยู่ได้ โชคไม่ดีก็ถูกทดแทนโดยไม่มีโอกาสได้แก้ตัว

ถ้าเป็นเรื่องที่เชื่อต่อ ๆกันมา โดยไม่เคยมีใครพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง ให้ทบทวนดูว่าใครเป็นคนบอกว่าต้องเป็นไปตามนั้น ทำไมคนนั้นจึงรู้ว่าต้องทำอย่างนั้น ตัวข้อมูลที่ยืนยันว่าเรื่องที่เชื่อกันเป็นความจริงนั้นเชื่อถือได้แค่ไหน ซึ่งหลายเรื่องมีคำตอบไปในทางเดียวกัน คือหลับหูหลับตาเชื่อเท่านั้น