การศึกษาของไทยในศตวรรษหน้า

การศึกษาของไทยในศตวรรษหน้า

การศึกษาของไทยในศตวรรษหน้า

ในโลกที่การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านอื่นๆอย่างรวดเร็ว และเร็วขึ้นเรื่อยๆ การมองอนาคตและคาดการณ์อนาคต เป็นไปได้ยากมากขึ้น

การศึกษาก็เช่นเดียวกัน ถ้าถามว่าการศึกษาในอนาคตจะเป็นอย่างไร วิชาไหนจะเป็นวิชาที่คนควรจะเรียน สำหรับอนาคต คงจะตอบได้ยาก และคงมีคำตอบที่หลากหลาย

จึงต้องกลับมาถามคำถามพื้นฐานก่อนว่า “การศึกษาคืออะไร”

หลายคนมองว่า การศึกษาคือ การให้ความรู้ คือการสร้างทักษะ คือการเตรียมคนเข้าสู่การทำงาน คือการเตรียมขัดเกลาเข้าทำงาน คือการใช้ความรู้ทางวิชาการและเทคนิค หรือ คือการให้รู้ว่าจะไปค้นคว้าต่อได้ที่ไหน

สมัยก่อนดิฉันก็เคยคิดแบบนั้น และเที่ยวเสาะแสวงหาหนังสือความรู้ดีๆมาเก็บไว้ เพื่อจะได้มีแหล่งค้นคว้าในบ้านของตัวเอง เวลาห้องสมุดในต่างประเทศเอาหนังสือออกมาขาย ก็ขนซื้อกลับมาเยอะ เช่น เอนไซโคลพีเดียทางวิทยาศาสตร์ หนังสือตำราดีๆ เป็นต้น

แต่เมื่อเวลาผ่านไป...เมื่อการค้นคว้าหาข้อมูลทำได้ง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัส

การศึกษาจึงไม่ใช่การให้ความรู้อีกต่อไป เพราะความรู้หาเอาได้จากการ ค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต และข้อมูลในนั้น มีมากกว่าหนังสือที่มีอยู่ในห้องสมุดใดๆในโลก

ดังนั้น “การศึกษาคืออะไร”

นิยามการศึกษาที่ดิฉันชอบมากที่สุดคือ นิยามของ มิชชันนารี ดี.เจ.คอลลินส์ ครูใหญ่คนแรกของโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ที่ให้นิยามไว้ตั้งแต่ปี พ.. 2430 ว่า “การศึกษาคือการสร้างอุปนิสัย”

เมื่อมองว่าการศึกษาคือการสร้างอุปนิสัย เราจึงไม่ต้องมองเนื้อหา หรือ content เราจะมองว่า เราจะใช้วิชาอะไร ทำด้วยวิธีการไหน ในการสร้างอุปนิสัยพี่พึงประสงค์จะให้เยาวชนของชาติมี เพื่อให้เขาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ที่ทำให้เขาสามารถอยู่ในอนาคตได้อย่างมีความสุข สามารถสร้างประโยชน์กับสังคมได้

อุปนิสัยที่พึงสร้างที่ดิฉันคิดว่าบุคลากรในศตวรรษหน้าควรจะมี คือ

การใฝ่รู้และเรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ความยืดหยุ่นและการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์

การไม่ยอมแพ้ พร้อมเสมอในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรค

การแก้ไขปัญหาและการตัดสินใจโดยมีข้อมูลสนับสนุนที่เพียงพอ

การคิดแบบวิเคราะห์ (Critical Thinking) สามารถแยกแยะสิ่งที่เป็นจริงกับไม่จริง

ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy)

การร่วมแรงร่วมใจ (Collaboration)

ความรับผิดชอบและรู้หน้าที่ รวมถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและส่วนรวม

รู้บทบาทของตัวเอง ทั้งในฐานะผู้นำทีม และในฐานะลูกทีม

เมื่อมีอุปนิสัยที่พึงสร้างแล้ว ก็อยากจะลบอุปนิสัยที่ไม่ควรมีด้วย แต่การจะมองหาอุปนิสัยที่ไม่ควรมี ควรต้องมองจาก สายตาของบุคคลภายนอก และควรเป็นบุคคลภายนอกที่อยู่ในหลายวัฒนธรรม เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบได้ ดิฉันจึงขอคัดเลือกมาจาก อุปนิสัยของคนไทยที่ คุณ ฮาราลด์ ลิงก์ ประธานกลุ่มบริษัทบี.กริมซึ่งให้สัมภาษณ์ไว้ในนิตยสารฟอร์บส์ ไทยแลนด์ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2560 โดยอุปนิสัยที่ดิฉันเห็นด้วยว่าควรมีการจัดการให้หายไปมีดังนี้

ไม่ค่อยเชื่อในการบังคับใช้กฎหมาย แต่จะเชื่อมั่นในตัวบุคคลที่จะพึ่งพาได้ และมีความยืดหยุ่น จึงยากที่จะบังคับใช้กฎ

ระบบการศึกษาของไทยเน้นท่องจำมากเกินไป ไม่มีการอภิปรายถกเถียง ขาดการฝึกสอนให้ใช้ความคิดและการสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต ขณะที่ในเยอรมนีเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงออกทางความคิด สามารถถกเถียง แสดงความคิดโต้แย้งกันได้เต็มที่ทุกวิชา แต่ไม่ทิ้งเรื่องการอ่านหนังสือ หรือท่องจำทฤษฎีหลักการต่างๆเพื่อให้มีพื้นความรู้ที่แน่น

ไม่พยายามหาข้อดีของฝ่ายตรงกันข้าม

ยึดติด ยึดมั่นกับสิ่งที่ถูกใจ สิ่งที่คิดว่าถูกต้อง ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น

จัดการให้มีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเอง ห้ามฝาก ขอผัดผ่อน ขอเลื่อน หรือยกเลิกเอาเฉยๆ

เมื่อเรามองว่าจะต้องสร้างอุปนิสัยดีๆให้เกิดขึ้นในตัวเยาวชนของชาติ และกำจัดอุปนิสัยที่ไม่ดีออกไป เราก็สามารถที่จะออกแบบหลักสูตร ที่จะช่วยเสริมสร้างอุปนิสัยที่ดีให้เกิดขึ้นในตัวเยาวชน และกำจัดอุปนิสัยที่ไม่ดีได้

เมื่อมองการจัดการศึกษาในลักษณะนี้ ต่อให้องค์ความรู้เปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใด แก่นสำคัญของการศึกษาก็ยังอยู่ และไม่มีวันล้าสมัยเลย สิ่งที่มิชชันนารีคอลลินส์ กล่าวไว้เมื่อ 130 ปีก่อน ก็ยังสามารถใช้ได้อยู่เสมอ

การศึกษาคือการสร้างอุปนิสัย”