'อาเซียนควรได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ'

'อาเซียนควรได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ'

หนังสือเพิ่งออกใหม่ที่สิงคโปร์เล่มนี้ ฟันธงเลยว่าอาเซียนควรจะได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เพราะตลอดเวลา 50 ปี ตั้งแต่ก่อตั้งมา

ได้แสดงถึงความสามารถในการรักษาสันติภาพ และเสถียรภาพสำหรับเอเชียอาคเนย์อย่างปราศจากความสงสัย

คนเขียนคือ Kishore Mahbubani และ Jeffery Sng ซึ่งเป็นคนสิงคโปร์ทั้งคู่ คนแรกมีเชื้อสายอินเดีย อีกคนมีเชื้อสายจีน

คิชอร์เป็นผู้อำนวยการ Lee Kuan Yew School of Public Policy ของ National University of Singapore เป็นนักวิชาการโดดเด่นของสิงคโปร์ เขียนหนังสือว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เน้นหนักบทบาทเอเชียในเวทีสากล เคยเขียนหนังสือชื่อ Can Asians Think? (คนเอเชียคิดเป็นไหม?) ที่สร้างความเกรียวกราวมาแล้ว

คุณเจฟเฟอรี่เป็นอดีตนักการทูตและเป็นนักเขียน ปักหลักใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย เคยเขียนหนังสือชื่อ A History of the Thai-Chinese ที่สืบสาวราวเรื่องไปถึงการอพยพของคนจีนที่มาตั้งรกรากในประเทศไทย

ทั้งสองเรียกอาเซียนว่าเป็น “สิ่งมหัศจรรย์” และเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดสันติภาพในภูมิภาคนี้ได้อย่างชะงัด

ข้อกล่าวอ้างที่ว่าอาเซียนเป็นตัวอย่างของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ แม้จะมีวัฒนธรรมและศาสนาที่แตกต่างกัน รวมไปถึงสถานภาพทางเศรษฐกิจที่ห่างกันอย่างชัดเจน

“ขณะที่โลกส่วนใหญ่มีความเชื่อว่าตะวันตกกับอิสลามไม่อาจจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ แต่ 10 ประเทศสมาชิกของอาเซียน กลับเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าความเชื่อเช่นนั้นไม่จริงเสมอไป

เพราะอาเซียนไม่เพียงแต่จะอยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาคและสันติเท่านั้น แต่ยังสามารถระดมให้ประเทศต่าง ๆ ที่มีความขัดแย้งกันมานั่งลงพูดจากันได้

นักวิชาการทั้งสองบอกว่าแม้ว่าพาดหัวข่าวส่วนใหญ่ เกี่ยวกับอาเซียนอาจจะมุ่งไปที่อุปสรรคและปัญหา แต่หากศึกษาอย่างถ่องแท้แล้ว ก็จะพบว่าข่าวด้านบวกและความสำเร็จของอาเซียน มีมากกว่าปัญหาและข้อบกพร่องมากมายนัก

หนังสือเล่มนี้เน้นว่าในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจภาพรวมของอาเซียนได้พัฒนาก้าวหน้าไปอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรรวมกันกว่า 600 ล้านคนขยับขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

อาเซียนทำให้ย่านนี้ที่ครั้งหนึ่งเคยมีความขัดแย้งกันหลาย ๆ ด้านกลายเป็นดินแดนแห่งความปรองดองสมานฉันท์แม้ว่า 10 ประเทศสมาชิกจะมีความแตกต่างกันในระดับมากกว่าหลาย ๆ กลุ่มประเทศในส่วนอื่นของโลก

คุณคิชอร์บอกผมว่าประเทศไทยควรจะมีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่เป็นหนึ่งใน “หมอตอแย” ที่ทำให้ก่อเกิดองค์กรแห่งนี้ อีกทั้งบทบาทของไทยจากวันนั้นถึงวันนี้ ก็ยังเป็นตัวละครหลักตัวหนึ่ง ที่ผลักดันให้อาเซียนมาถึงวันนี้ และต้องเดินหน้าต่อไป

ที่ผ่านมา มารู้สึกว่าประเทศไทยถ่อมตนเกินไปทั้ง ๆ ที่ไทยเป็นตัวตั้งตัวตีให้เกิดอาเซียน โดยเฉพาะท่าน ดร.ถนัด คอมันตร์ ที่เป็นผู้ประสานงานตั้งแต่ต้น จนทำให้การลงนามในการก่อตั้งอาเซียนเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯเมื่อ 50 ปีก่อน” อาจารย์คีชอร์บอก

ข้อเสนอของหนังสือที่จะปรับปรุงอาเซียนคือ

ทำให้อาเซียนเป็นของประชาชนมากกว่ารัฐบาลหรือข้าราชการ

ปรับปรุงประสิทธิภาพของสำนักเลขาธิการอาเซียน ให้สามารถรับใช้ความต้องการขององค์กรนี้ได้

ทำให้อาเซียนเป็นเสาหลักแห่งการช่วยเหลือ ทางด้านมนุษยธรรมให้ชัดเจนและได้ผลอย่างจริงจัง

ผมเห็นด้วยว่าไทยเราควรจะต้องมีความภาคภูมิใจในบทบาทต่ออาเซียน และจะต้องเล่นบทที่คึกคักมากกว่าที่ผ่านมาอย่างจริงจัง