'เอสเอ็มอี' ไม่เข้มแข็ง ศก.จะเติบโตยั่งยืนอย่างไร

'เอสเอ็มอี' ไม่เข้มแข็ง ศก.จะเติบโตยั่งยืนอย่างไร

การส่งออกของไทยเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา มีมูลค่ารวมประมาณ 1.99 หมื่นล้านดอลลาร์

 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 13.2% เป็นมูลค่าที่สูงสุดรอบ 52 เดือน และทำให้การส่งออกของไทยช่วง 5 เดือนแรกปีนี้มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 7.2% เป็นระดับสูงสุดรอบ 6 ปี

ตัวเลขการส่งออกที่เติบโตทุบสถิติใหม่นี้ น่าจะทำให้ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลชุดนี้ใจชื้นขึ้นมาก เพราะการส่งออกที่มีสัดส่วนต่อจีดีพีสูงในระดับ 60-70% เริ่มกลับมาเดินเครื่อง ซึ่งก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งเอาไว้ในระดับ 3.5% ได้ไม่ยากนัก

การเติบโตของเศรษฐกิจไทย หากขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 3.5% จะถือเป็นการเติบโตที่สูงสุดในรอบ 5 ปี ..แต่ตัวเลขการเติบโตที่ว่านี้ ยังดูสวนทางกับความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ ที่ไม่เห็นว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวชัดเจนอะไร สาเหตุน่าจะเป็นเพราะ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในรอบนี้ ยังไม่กระจายตัวมากนัก ที่สำคัญความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจยังมีสูง คนส่วนใหญ่จึงไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้นตามตัวเลขที่ออกมา

หากฟังความเห็นของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในหลายๆ รอบที่ผ่านมา จะเห็นว่า กนง. เริ่มมองเศรษฐกิจในภาพรวมฟื้นตัวดีขึ้นและต่อเนื่อง โดยเฉพาะการประชุมครั้งล่าสุด กนง. ใช้คำว่า “ฟื้นตัวชัดเจน” มากขึ้น แต่สิ่งที่ กนง. ยังกังวลอยู่ คือ ความสามารถการชำระหนี้ของธุรกิจที่ด้อยลง โดยเฉพาะในภาคธุรกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) สอดคล้องกับข้อมูลของ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(เอ็กซิมแบงก์) ซึ่งระบุว่า ในไตรมาสแรกปี 2560 แม้การส่งออกไทยจะเติบโตได้ 3.1% แต่ถ้าดูการส่งออกของกลุ่มเอสเอ็มอีกลับพบว่า “หดตัว” ถึง 13.5% ชี้ให้เห็นภาพความอ่อนแอของเอสเอ็มอีที่ยังมีอยู่

สถานการณ์ของ เอสเอ็มอี ในภาพรวมที่ยังไม่สู้ดีนัก จึงมีคำถามว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในรอบนี้จะยั่งยืนหรือไม่ เพราะ เอสเอ็มอี เริ่มมีบทบาทต่อภาคเศรษฐกิจไทยมากขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนจากสัดส่วนจีดีพีของเอสเอ็มอีที่ขยับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากระดับ 38% ในปี 2550 เป็น 41% ในปัจจุบัน อีกทั้ง เอสเอ็มอี ยังเป็นภาคเศรษฐกิจที่จ้างงานมากถึง 80% ของการจ้างงานทั่วประเทศ

โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลจากนี้ไป จึงอยู่ที่จะสนับสนุนให้ เอสเอ็มอี เหล่านี้กลับมาเข้มแข็งมากขึ้นได้อย่างไร โดยเฉพาะในภาวะที่เทคโนโลยีเปลี่ยนผันเร็ว การอัดฉีดสภาพคล่อง เติมสินเชื่อเหมือนครั้งที่ผ่านๆ มาดูจะไม่ใช่ทางออกของการฟื้นฟูในยุคสมัยนี้ เพราะผลที่ออกมาก็ชัดเจนว่า ทำได้แค่ช่วยต่อลมหายใจเอสเอ็มอีเหล่านี้ออกไปเท่านั้น

สิ่งสำคัญสุดของการช่วยเหลือเอสเอ็มอี จึงอยู่ที่การช่วยหาผู้เชี่ยวชาญในเรื่องเฉพาะด้านมาช่วยสนับสนุนด้านความคิด การบริหารจัดการ ตลอดจนการผสานเครือข่ายการทำงาน เพื่อให้เกิดการพัฒนา เพราะหากปล่อยให้เอสเอ็มอีเหล่านี้อ่อนแอลงเรื่อยๆ เศรษฐกิจไทยคงไม่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน และปัญหาความเหลื่อมล้ำก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้น