อย่าโลกสวยกับ 'โลกโซเชียล'

อย่าโลกสวยกับ 'โลกโซเชียล'

จริงๆ แล้ว การแชร์ข้อมูลส่วนตัวหรือภาพถ่ายลงโซเชียลมีเดียอย่าง ‘เฟซบุ๊ค’ หรือ ‘อินสตาแกรม’

 อาจเป็นกิจกรรมปกติสำหรับหลายๆ คน แต่ระยะหลังเราจะเห็น “ผลลบ” จากการใช้โซเชียลหลากหลายมุมเพิ่มขึ้น ผลกระทบจากการใช้โซเชียลแบบโลกสวย คือ เผลอแชร์ข้อมูลส่วนตัวมากจนเกินไป เผลอคิดไปว่าโซเชียลที่เราใช้ คือ พื้นที่ส่วนตัว ซึ่งจริงๆ แล้ว ‘ไม่ใช่’ แต่เป็นพื้นที่สาธารณะระดับแชร์ปุ๊บ “โลกรู้” ปั๊บ 

ผลกระทบที่ดูจะน่าเป็นห่วงมาก คือ กลุ่มเด็ก เยาวชน ที่ยังไม่รู้จักความตื้น ลึก หนา บาง ของสังคมโซเชียลมากนัก สุดท้ายอาจตกเป็น เหยื่อโดยไม่ทันตั้งตัว ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ผู้ปกครอง ต้องสร้างความเข้าใจให้กับลูกหลานของท่าน แนะให้ใช้ในเชิงที่เกิดประโยชน์ และก็ต้องบอกถึง โทษที่อาจเกิดขึ้นหากใช้อย่างสเปะสปะด้วย

เมื่อเร็วๆ นี้ ‘แคสเปอร์สกี้ แล็บ’ ทำผลวิจัยออกมาล่าสุด เรื่อง Stranger danger : the connection between sharing online and losing the data we love สำรวจกลุ่มคนในหลากหลายอายุ ในหลายๆ ประเทศ พบว่า ผู้ใช้ส่วนมาก 93% มีพฤติกรรมแชร์ข้อมูลดิจิทัล ในจำนวนนี้ 70% แชร์รูปและวิดีโอของลูกหลาน และ 45% แชร์รูปและวิดีโอส่วนตัวและความเปราะบางของคนอื่น ที่สำคัญ พบว่า พฤติกรรมเช่นนี้ ยังอยู่ในกลุ่มเยาวชน นั่นคือ ชอบแชร์ข้อมูลส่วนตัวให้คนแปลกหน้ารับรู้อีกด้วย

ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเกือบครึ่ง 44% ยังชอบเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวสู่สาธารณะ และเมื่อข้อมูลส่งไปยังโดเมนสาธารณะ ก็จะถูกส่งต่อไปเรื่อยๆ เกินควบคุม ผู้ใช้จำนวน 1 ใน 5 ยอมรับว่าได้แชร์ข้อมูลเปราะบางกับคนอื่นทั้งที่ไม่รู้จักกันดี รวมถึงคนแปลกหน้า จึงทำให้ควบคุมการนำข้อมูลไปใช้ได้ยาก สาเหตุที่ทำให้ตกเป็นเหยื่อการจารกรรมตัวตนและการโจมตีทางการเงิน เกิดจากการแชร์รายละเอียดการเงิน/การจ่ายเงิน 37% การสแกนหน้าพาสปอร์ต ใบขับขี่ และเอกสารอื่นๆ 41% และการเปิดเผยพาสเวิร์ด 30%

นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้ใช้ไม่เพียงแต่แชร์ข้อมูลเท่านั้น ยังแชร์ดีไวซ์ที่เก็บข้อมูลมีค่าอีกด้วย ผู้ใช้ 1 ใน 10 หรือราว 10% แชร์รหัสพิน (PIN) ที่ใช้เข้าเครื่องกับคนแปลกหน้า ผู้ใช้ 1 ใน 5 ราว 22% ไม่ล็อกเครื่องและทิ้งเครื่องไว้ในคนอื่นเข้าถึง และผู้ใช้เกือบ 1 ใน 4 หรือราว 23% เอาเครื่องตัวเองให้คนอื่นหยิบยืมใช้เป็นระยะเวลาหนึ่ง

อังเดรย์ โมโคล่า หัวหน้าฝ่ายธุรกิจสำหรับคอนซูมเมอร์ แคสเปอร์สกี้ แล็บ บอกว่า การแชร์ข้อมูลส่วนตัวมากเกินไปกับคนอื่นๆ เป็นพฤติกรรมที่นำภัยมาสู่ตัว ซึ่งโลกออนไลน์ปัจจุบันการแชร์ข้อมูลให้คนอื่นรู้เป็นเรื่องง่ายมาก ทำได้หลายช่องทาง แต่ทันทีที่คุณเปิดเผยข้อมูลสำคัญและเปราะบาง คุณจะไม่อาจรู้เลยว่า ข้อมูลจะส่งไปไหน ถูกนำไปใช้อย่างไร

ผลวิจัยยังพบด้วยว่า เยาวชนมักแชร์รูปส่วนตัวออนไลน์มากกว่าวัยอื่น ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอายุระหว่าง 16-24 ปี จำนวน 61% ยอมรับว่าได้แชร์รูปจริง ขณะที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่อายุมากกว่า 55 ปี มีจำนวนเพียง 38% เช่นเดียวกับการแชร์ข้อมูลการเงิน เยาวชน 42% แชร์ข้อมูลการเงิน/การจ่ายเงิน ขณะที่ผู้ใช้รุ่นใหญ่มีราว 27%

โซเชียล เน็ตเวิร์ค กลายเป็นช่องทางการสื่อสารหลักยุคนี้ ประโยชน์ในเชิงธุรกิจมีมากมาย ผลลบกับธุรกิจก็มีมากมายเหมือนกันหากใช้ไม่ถูกทาง ช่องทางการสื่อสารยุคนี้ลดทอนพื้นที่ความเป็นส่วนตัวของคนให้เหลือน้อยลงทุกที ผู้ใช้ควรต้องตั้ง สติให้มั่น อย่าโลกสวย เพราะถ้าใช้อย่างสุ่มเสี่ยง ผลลัพธ์ที่ได้มันจะไม่สวยงามเหมือนที่คิดไว้