ตีความ...ก้าวถัดไปของ Fed

ตีความ...ก้าวถัดไปของ Fed

ตีความ...ก้าวถัดไปของ Fed

เป็นไปตามคาดกับการขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 2 ในปี 2560 ของธนาคารกลางสหรัฐหรือ Fed ในวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยดอกเบี้ยนโยบายถูกปรับขึ้น 0.25% มาอยู่ที่ 1.00-1.25% นอกเหนือไปกว่านั้น Fed ยังได้ส่งสัญญาณในประเด็นสำคัญที่ตลาดได้กังวลไว้ก่อนหน้านี้ นั่นก็คือการปรับลดขนาดงบดุล หรือการที่ Fed จะทยอยลดการลงทุนในพันธบัตรสหรัฐและหรือตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยจำนองไว้ (Mortgage-Backed Securities หรือ MBS) ภายหลังการเข้าซื้อจากตลาดรองเป็นจำนวนมากภายใต้โครงการ QE เพื่อเป็นการพยุงตลาดและเสริมสภาพคล่องหลังเกิดวิกฤติครั้งรุนแรงที่สุดในปี 2551 ส่งผลให้งบดุล Fed ขยายเพิ่มไปถึงกว่า 4.5 ล้านล้านดอลลาร์หรือปรับเพิ่มขึ้นกว่าที่ควรจะเป็นเกือบเท่าตัว

สำหรับมุมมองของสายงานธุรกิจบริการไพรเวทแบงก์ธนาคารกสิกรไทยกับธนาคารลอมบาร์ดโอดิเย เราแบ่งออกเป็น 2 ประเด็น ดังนี้

Fed จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปี 2560 - หากพิจารณาดอกเบี้ยสหรัฐปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐเองที่มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากอัตราการว่างงานที่ระดับ 4.3% ที่ใกล้เคียงกับระดับการจ้างงานเต็มที่ที่ระดับ 4.5% ดังนั้นด้วยการสื่อสารของ Fed ที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้ตลาดเกิดความตื่นตระหนก ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ต่างๆ และค่าเงินดอลลาร์ มีเสถียรภาพมากขึ้น Fed จึงมีโอกาสที่จะปรับดอกเบี้ยขึ้นได้อีกครั้งในเดือนธ.ค.นี้ นอกจากนี้ ธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ก็เริ่มที่จะส่งสัญญาณต่อตลาดโดยการไม่พูดถึงโอกาสการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพิ่มเติม จึงเป็นไปได้ว่าสภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำทั่วโลกนั้นกำลังจะผ่านพ้นไปแล้วก็เป็นได้ ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญหากโลกยุตินโยบายการเงินแบบผ่อนคลายที่อัดฉีดกันมาเป็นเวลายาวนาน 

Fed จะลดขนาดงบดุลอย่างช้าๆ ผ่านการสื่อสารที่สม่ำเสมอ - การลดงบดุลนั้นเปรียบเสมือนการทยอยเพิ่มวงเงินสำหรับการไม่เข้าลงทุนใหม่ไม่เกิน 1 หมื่นล้านดอลลาร์ในแต่ละเดือน (ทั้งพันธบัตรสหรัฐและ MBS) และจะขยับเพิ่มขึ้นทุกๆ ไตรมาสจนถึงระดับเพดานที่ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ยังคงไม่ระบุเวลาเริ่มต้นของกระบวนการดังกล่าวแต่อย่างใด อีกทั้งระยะเวลาในการปรับลดจาก 4.5 ล้านล้านมาลงเหลือ 2. 5 ล้านล้านดอลลาร์ Fed เองคงต้องใช้เวลาอย่างน้อยถึง 4 ปี ทั้งนี้ เราประเมินว่า Fed จะดำเนินนโยบายการลดงบดุลแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะ Fed เองต้องระมัดระวังมากขึ้นหลังจากที่ความคืบหน้าของนโยบายด้านการคลังประธานาธิบดีทรัมป์ ยังขาดความชัดเจนในหลายส่วน อีกทั้งต้องคอยติดตามว่าการขึ้นดอกเบี้ยที่ผ่านมานั้นเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐเองหรือไม่ 

บทสรุปมุมมองการลงทุนในสหรัฐ เรายังคงแนะนำให้ติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะระดับราคาของตลาดหุ้นสหรัฐในวันนี้ถือว่าแพงมาก (ดัชนี S&P500 ซื้อขายที่ระดับ PE ที่ 18.3 เท่า โดยคิดจากผลกำไรของบริษัทในอีก 12 เดือนข้างหน้า) บวกกับหุ้นสหรัฐไม่มีการปรับฐานมากกว่า 5% มานานเกิน 7 เดือนแล้ว นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในระยะหลังออกมาในทิศทางอ่อนแรงลง และต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้บ่อยครั้ง เช่น เงินเฟ้อพื้นฐาน ดุลการค้า และความเชื่อมั่นผู้บริโภค เส้นโค้งอัตราผลตอบแทนพันธบัตร จึงน่าจะเป็นรูปแบบที่แบนราบ (Flattening : ดอกเบี้ยระยะสั้นขึ้น แต่ดอกเบี้ยระยะยาวทรงหรือปรับลง) ต่อไป นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์ก็จะยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้อีก เราจึงมองว่าการลงทุนในหุ้นยุโรปและหุ้นกลุ่มประเทศเกิดใหม่น่าสนใจกว่า