ความเก่งเดิม ไม่รับรองความสำเร็จในอนาคต

ความเก่งเดิม ไม่รับรองความสำเร็จในอนาคต

วันก่อนได้อ่านบทสัมภาษณ์คุณสมชัย สุทธิวงศ์ ซีอีโอของ AIS ว่าด้วยการ “ทรานส์ฟอร์ม”

 องค์กรที่เป็นที่หนึ่งในอุตสาหกรรมให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลัง “ป่วน” (disrupt) ทุกวงการก็ทำให้เห็นภาพที่กระทบทุกกลไกสังคมทุกวันนี้

คุณสมชัยบอกว่าเทคโนโลยีเข้ามาทำลายทุกอย่าง แม้กระทั่งองค์กรใหญ่ ๆ ซึ่งก็มีให้เห็นในระดับโลก เช่นโนเกีย ธุรกิจไฮเทคก็ไม่ได้อยู่รอดเสมอไป

ทำไมต้องทรานส์ฟอร์ม?

ทรานส์ฟอร์ม” คำนี้ภาษาไทยจะแปลว่าอะไรจึงจะเห็นภาพชัดเจน?

“เปลี่ยนแปลง” ก็ไม่แรงพอ “ปฏิรูป” ก็ยังไม่ใช่ “ผลัดใบ” ก็เบาไป “ยกเครื่อง” ก็ยังไม่ตรงจุด

เพราะ “ทรานส์ฟอร์ม” หมายถึงทุกอย่างที่เกี่ยวกับการทำลายรูปแบบเก่า หันมาทำใหม่หมด

คุณสมชัยบอก “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า

“เอไอเอสมั่นใจว่ามีบุคลากรที่ดี ที่เราเติบโตมาได้ทุกวันนี้ เกิดจากคนทั้งสิ้น แต่ความเก่งอย่างเดิมไม่การันตีความสำเร็จในอนาคต จึงต้องทรานส์ฟอร์ม...”

อีกตอนหนึ่ง ซีอีโอของเอไอเอสเล่าอย่างน่าสนใจว่า

ตอนผมเป็นซีอีโอใหม่ๆ คนในองค์กร 99% รักผม วันนี้อาจเหลือ 80% เพราะไม่ง่ายที่จะบอกให้คนที่ทำดีมานานเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุง เป็นความท้าทายมาก แต่ในฐานะผู้นำต้องทำ...”

ใช่...การเป็นผู้นำไม่ได้ต้องการทำให้ลูกน้องรัก แต่ต้องให้ลูกน้องเคารพและศรัทธาในการทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำ แม้จะไม่เป็นที่รักใคร่ของลูกน้องนัก

ถามว่าทำไมบริษัทที่ประสบความสำเร็จจึงเปลี่ยนยาก?

คุณสมชายตอบว่า “ยากเพราะความเชื่อในกระบวนการที่เคยทำมาในอดีตแล้วประสบความสำเร็จ ซึ่งไม่เหมือนบริษัทที่กำลังเจอวิกฤติ ซึ่งคนชินกับการเปลี่ยน แต่สิ่งที่เรากำลังบอกวันนี้จะเป็น success story ในอนาคต”

และเสริมว่า “ภายใต้การแข่งขันทุกวันนี้ทำแบบเดิมคิดแบบเดิมเอาไม่อยู่”

สิ่งที่ทำไปแล้วคือการเลื่อนตำแหน่งโดยดูจากประสิทธิภาพ ไม่ใช่อายุงาน และสองสร้างสิ่งแวดล้อมองค์กรยุคใหม่ เป็น Innovation Organization

คุณสมชัยบอกว่าการสร้างคนไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นพันธุ์ไหน ขอให้อยู่รอดในยุคใหม่

“คนรุ่นใหม่รุ่นเก่าไม่ได้อยู่ที่อายุ คนรุ่นใหม่ที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงก็มี”

นักบริหารทุกคนได้อ่านความเห็นของคุณสมชัย ก็คงจะเห็นภาพที่สะท้อนถึงความเป็นไปในเกือบทุกองค์กรขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นเอกชนหรือราชการหรือแม้เอ็นจีโอ

เพราะเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนอย่างรวดเร็วและรุนแรงเช่นนี้ สิ่งที่เคยเชื่อว่าเป็นสูตรสำเร็จในวันก่อน ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นสูตรสำเร็จของวันนี้อีกต่อไป

แม้เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งเครือซีพี ก็เคยบอกผมอย่างนี้เช่นกัน จึงต้องเปิดทางให้คนรุ่นใหม่ทำงานแยกจากคนรุ่นเก่า ไม่ให้คนรุ่นใหม่รายงานต่อคนรุ่นเก่า เพราะอาจจะถูกเบียดตกไปจากครรลองที่ควรจะเป็น

น่าสนใจที่คุณสมชัยบอกว่าการ “ทรานส์ฟอร์ม” บริษัทที่ประสบความสำเร็จยากกว่าบริษัทที่อยู่ในวิกฤติ

เพราะคนที่คิดว่าสำเร็จแล้วไม่ยอมปรับเปลี่ยนทั้ง ๆ ที่สัญญาณเตือนภัยมารอบตัวแล้ว

ขณะที่บริษัทที่อยู่ในวิกฤติไม่มีทางเลือก ยังไงๆ ก็ต้องทรานส์ฟอร์มตัวเอง มิฉะนั้นก็ไม่รอด

จึงน่าสนใจว่าหากบริษัทที่เคยสำเร็จ คิดว่าตัวเองไม่ต้องปรับเปลี่ยนจะต้องรอให้เกิดวิกฤติก่อน แล้วจึงจะยอมทรานส์ฟอร์มหรืออย่างไร? และจะช้าไปไหม?

ยุคสมัยแห่ง disruptive technology ไม่มีอะไรง่ายจริง ๆ!