ผู้สาว 'ขาเลาะ' ( จบ )

ผู้สาว 'ขาเลาะ' ( จบ )

เพลงจะได้รับความนิยมก็ต่อเมื่อได้ “สื่อสาร” ทางอารมณ์ความรู้สึก อย่างสอดคล้องไปกับแรงปรารถนา ของผู้คนในสังคม

 เพลงจำนวนไม่น้อยที่แสดงถึง “ตัวตน” ของผู้หญิงเยี่ยง “มนุษย์” คนหนึ่งที่มีแรงปรารถนาของตนเอง และพร้อมที่จะแสดงออกโดยไม่จำเป็นต้อง “ อิดเอื้อน/ปิดบัง” หรือหลบเลี่ยงการแสดงออกด้วยการใช้มารยาสาไถย ( แบบเดิม) จึงเป็นความเปลี่ยนแปลงในระบอบอารมณ์ความรู้สึกต้องการท้าท้าย และต่อต้านระบบวัฒนธรรมที่ควบคุมผู้หญิง เพราะสังคมไทยได้สร้างระเบียบทางวัฒนธรรมที่เป็นพันธกิจหนักอึ้งบนบ่าของผู้หญิง เริ่มต้นจากการควบคุมร่างกาย การควบคุมอารมณ์ และการควบคุมการแสดงออกทุกมิติในพื้นที่สาธารณะ รวมไปถึงการควบคุมวัตรปฏิบัติทั้งหมดในการมีชีวิตคู่

กระบวนการท้าทายและต่อต้านวัฒนธรรมที่ควบคุมมนุษย์นั้น จะเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงความหมายของ “ตัวตน” ก่อนเสมอ เพราะการเปลี่ยนความหมาย “ตัวตน” นี้จะนำไปสู่การสร้างพลังอันจะนำไปขยับเคลื่อนความหมายพื้นที่ทางสังคมวัฒนธรรมอื่นๆ กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม อันเป็นการปรับเปลี่ยนสายสัมพันธ์ของสายใยความหมายชีวิต ที่รัดตรึงผู้หญิงเอาไว้กับคุณค่าเดิม จึงเริ่มขึ้นจากการแสดงถึงความหมายใหม่ของความเป็นตัวตนผู้หญิงที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์นั้นเอง

การเปลี่ยนแปลงความหมายของตัวตน “ผู้หญิง” ที่สำคัญยิ่ง ได้แก่ การทำให้เกิด “ผู้หญิง” ขึ้นมา เพราะเดิมนั้น “ผู้หญิง” อย่างเดียวหรือ “ผู้หญิงที่เป็นอิสระ“ ไม่มีความหมาย เพราะ ”ผู้หญิง” จะถูกผูกล่ามไว้ด้วยความเป็นเมีย เป็นแม่ ซึ่งทำให้ในสมัยก่อนนั้นผู้หญิงที่ไม่มีครอบครัว จะถูกทำให้รู้สึกว่าไม่ได้ทำหน้าที่ของผู้หญิงที่แท้จริง 

กล่าวได้ว่า กระบวนการเปลี่ยนความหมายที่ดำเนินมาเป็นการปลดปล่อยให้ “ความเป็นหญิงที่มีเสรีภาพ“ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด จนทำให้เวลาคนในสังคมไทยในปัจจุบันนี้คิดถึง “ผู้หญิง” จึงไม่ได้มีจินตนาการของการผูกล่ามไว้กับพันธกิจทางสังคมแบบเดิมอีกต่อไป

แต่อย่างไร ก็ตาม กระบวนการทางสังคมไม่เคยจบสิ้นหรือหยุดนิ่ง กระบวนการการปลดปล่อย “ความเป็นหญิงที่มีเสรีภาพ” จึงเกิดขึ้นอย่างเป็นระลอกๆ ตามจังหวะของการเคลื่อนตัวออกสู่พื้นที่สาธารณะของผู้หญิง ขณะเดียวกัน กลุ่มที่ปรับเปลี่ยนความหมายตัวตนมาก่อนก็ได้ปรับเปลี่ยนความหมายและคุณค่าอื่นไปประกอบด้วย กลุ่ม “ผู้หญิง” วัยทำงานที่ผ่านการเปลี่ยนความหมายตัวตนมาก่อนแล้วจำนวนมากได้เปลี่ยนแปลงความหมายตัวตนที่นอกจากเป็น “ผู้หญิงเสรีชน “ แล้วยังได้เคลื่อนไปสู่ผู้หญิงที่เป็น “พลเมืองผู้มีสำนึกเกี่ยวข้อง” ( Concerned Citizen) ดังจะเห็นได้จากการเคลื่อนไหวทางการเมืองทุกมิติในช่วงสิบปีที่ผานมาที่ผู้หญิงเป็นพลังหลัก

ประเด็นที่น่าสนใจได้แก่ การเปลี่ยนความหมายผู้หญิงในระลอกล่าสุดนี้ที่ปรากฏในเพลง “ผู้สาวขาเลาะ“ ซึ่งนอกจากเป็นกระบวนการลักษณะเดียวกันที่ทำให้การแสดงออกในเรื่องส่วนตัวของผู้หญิงเป็นไปอย่างเสรี แต่ในอีกด้านหนึ่ง กลับเป็นการทำให้เกิดการนิยามอัตลักษณ์ร่วมหมู่ (Collective Identity)ของการเป็นวัยรุ่นผู้หญิงที่เป็น “ขาเลาะ” อันหมายถึงชอบเที่ยวเล่นสนุกสนานไปวันๆ และไม่สนใจเรียน

แน่นอนว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา วัยรุ่นหญิงที่ไม่สนใจเรียนและชอบสนุกสนานกับชีวิตมีจำนวนไม่น้อย แต่พวกเธอยังไม่สามารถสร้างและยกระดับรูปแบบการใช้ชีวิตของเธอให้เป็นลักษณะร่วมได้ แต่เมื่อเกิดคำว่า “ ผู้สาวขาเลาะ” ขึ้นมา ก็ได้กลายมาเป็นคุณลักษณะร่วมกันของวัยรุ่นหญิงกลุ่มหนึ่งที่จะสามารถใช้อ้างอิงและดำเนินชีวิตได้อย่างมีตัวตน

การสร้างและยกระดับความคิดนามธรรม “ผู้สาวขาเลาะ” ให้เป็นลักษณะร่วมของกลุ่มขนาดใหญ่เช่นนี้จึงกลายการเปิดพื้นที่ให้แก่การไม่ชอบเรียนหนังสือและการแสวงหาความสนุกสนานให้กลายเป็นการดำเนินชีวิตลักษณะเด่นทดแทนการใช้ชีวิตเพื่อจุดมุ่งหมายอื่นๆ เช่น ความสำเร็จในการเรียน 

ภายใต้การเกิดความคิดนามธรรมแทนวัยรุ่นหญิงเป็นคนๆว่า “ผู้สาวขาเลาะ” ซึ่งย่อมอยู่ตรงกันข้ามกับ “ผู้สาวขาเรียน” วัยรุ่นหญิงที่อ้างอิงตนเองกับการเป็น “ขาเลาะ” ก็จะใช้ชีวิตที่ปล่อยปละละเลยได้มากขึ้น ความจริงจังในการใช้ชีวิตในวันนี้เพื่ออนาคตในวันหน้าก็จะลดลงไปเรื่อยๆ การตัดสินใจเพื่อวันนี้ก็จะกลายเป็นคุณลักษณะสำคัญของ “ขาเลาะ “ 

ลึกลงไปในวัฒนธรรม ”ขาเลาะ” จึงไม่ใช่แค่การแต่งกายโป๊ หรือ แสดงแบบที่ของสงวนเกือบโผล่ อย่างที่ลุงตู่มากระแนะกระแหนเท่านั้น หากแต่เป็นการสถาปนาระบบความสัมพันธ์ทางสังคม รูปแบบใหม่ของกลุ่มวัยรุ่นซึ่งไม่ใช่สิ่งที่คนรุ่นพ่อแม่/ปู่ย่าจะเข้าใจได้อีกต่อไป

คำถามที่สำคัญที่สังคมต้องช่วยกันหาคำตอบ ก็คือ อะไรทำให้วัยรุ่นกลุ่มใหญ่ในสังคมไทยกลายเป็น “ขาเลาะ” ระบบการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี้แน่ๆ แต่คงไม่ใช่เท่านั้น ระบบครอบครัวที่กลายมาเป็นครอบครัวเดี่ยวและมีการหย่าร้างสูงก็มีส่วน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นก็มีผลต่อการสร้างวัฒนธรรมใหม่ นอกเหนือจากนั้นคืออะไรบ้าง สังคมต้องช่วยกันหาคำอธิบายครับ ไม่อย่างนั้นแล้ว เราจะอยู่กันอย่างไร หากลูกหลานเรากลายเป็น “ขาเลาะ” กันไปหมด

การเกิดปรากฏการณ์ “เปรี้ยว” จึงไม่ใช่เพียงเรื่องของวัยรุ่นกลุ่มเล็กๆเท่านั้น หากแต่เป็นส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งของความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพราะเมื่อพวกเขา/เธอ ใช้ชีวิตแบบ “ขาเลาะ” จะหาเงินตรามาใช้จ่ายจากไหน การหันไปสู่เส้นทางการหาเงินแบบง่ายๆก็จะทวีมากและหลากหลายมากขึ้น 

คงต้องบอกลุงตู่และผู้มีอำนาจในบ้านเมืองวันนี้ว่าอยากมองปรากฏการณ์ในสังคมอย่างมักง่าย เพราะทุกอย่างมันไม่ใช่เรื่องที่จะอธิบายได้ง่ายๆ แบบที่พวกท่านคิดกันหรอกครับ ไม่งั้น การรัฐประหารของท่านก็แก้ไขปัญหาได้หมดซิ ซึ่ง 3 ปีผ่านมาก็รู้อยู่แล้วว่าการใช้อำนาจแบบมักง่ายมันไม่ได้ผลหรอกครับ