อันเนื่องมาจากเรื่อง 'เศรษฐกิจพอเพียง ฉบับส่งเสด็จ' (4)

อันเนื่องมาจากเรื่อง 'เศรษฐกิจพอเพียง ฉบับส่งเสด็จ' (4)

ช่วงนี้มีรายงานเกือบทุกวันเกี่ยวกับน้ำรอระบายและรถไฟความเร็วสูง น้ำรอระบายเป็นศัพท์ใหม่ สำหรับภาวะน้ำท่วมในกรุงเทพฯ

 ซึ่งคงไม่เป็นปัญหาสาหัสนักหากรัฐบาลได้สร้างเมืองใหม่เพื่อถ่ายโอนหน่วยราชการจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่เมื่อต่างประเทศตื่นตัวเรื่องการใช้รถไฟความเร็วสูง หลังงานมหกรรมการขนส่งในเยอรมนีเมื่อปี 2508 ไม่นานหลังจากงานนั้น บุคคลในภาคเอกชนไทยได้เสนอให้รัฐบาล สร้างเมืองใหม่ขึ้นในจังหวัดสระบุรี โดยเริ่มที่ชุมทางหินกอง และขยายออกไปทางทิศเหนือ ตามแนวถนนพหลโยธินและทิศตะวันออก ตามแนวถนนสุวรรรณศร การเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจกับเมืองใหม่จะใช้รถไฟความเร็วสูงเป็นหลัก

ข้อเสนอนั้นรัฐบาลไม่รับฟังจนกระทั่งมาถึงสมัยนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เนื่องจากวิธีการของเขาดูจะมีความไม่ชอบมาพากลแฝงอยู่ การสร้างเมืองใหม่จึงไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี ณ วันนี้ยังไม่สายเกินไป หนังสือเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง ฉบับส่งเสด็จ” จึงเสนอให้รัฐบาลเริ่มดำเนินการอีกครั้ง เนื่องจากรถไฟความเร็วสูงในปัจจุบันสามารถเดินทางได้เร็วกว่าเมื่อ 50 ปีก่อนและรัฐบาลกำลังจะนำมาใช้ เมืองใหม่อาจสร้างให้ห่างจากกรุงเทพฯ มากกว่าข้อเสนอเดิม อาทิเช่น ทางด้านตะวันออกของจังหวัดลพบุรีซึ่งมีแหล่งน้ำสำคัญอยู่แล้ว

ความจำเป็นของการสร้างเมืองใหม่อาจมองได้จากมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ณ วันนี้น่าจะเป็นที่รับรู้กันอยู่แล้วว่า ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นเพราะภาวะโลกร้อน จะทำให้น้ำท่วมเมืองชายฝั่งซึ่งตั้งอยู่ในระดับต่ำรวมทั้งกรุงเทพฯ ด้วย นั่นหมายความว่าเงินทุนที่จะสูญไปกับการขยายกรุงเทพฯ พร้อมการป้องกันและการแก้ไขสภาพน้ำรอระบายนับวันจะยิ่งสูงขึ้น เงินทุนก้อนมหาศาลนี้น่าจะมีผลตอบแทนสูงกว่าถ้านำไปใช้สร้างเมืองใหม่ซึ่งคงสร้างได้มากกว่าหนึ่งเมือง หากสร้างตามหลักวิชา เมืองเหล่านี้จะผลดีทั้งต่อด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและการลดความเหลื่อมล้ำกับความขาดสมดุล อันเกิดจากการลงทุนของรัฐและการพัฒนาที่ผ่านมา

อาจเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ตอนนี้มีกระแสต่อต้านการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม จากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กับคณะ กระแสต่อต้านอันเข้มข้นของพวกเขาอ้างเหตุผลแบบข้าง ๆ คู ๆ อยู่มาก จึงถูกประณามอย่างกว้างขวางทั้งจากรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ และรัฐบาลท้องถิ่นของสหรัฐเอง ฉะนั้น รัฐบาลไทยไม่ควรเดินตามรัฐบาลของนายทรัมป์เด็ดขาด หากจะดูแนวคิดของรัฐบาลใดเป็นหลัก น่าจะเป็นรัฐบาลของเนเธอร์แลนด์ซึ่งมีประสบการณ์อันยาวนาน ด้านการมีพื้นที่ของประเทศอยู่ปริ่มและใต้ระดับน้ำทะเล รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ยอมละทิ้งพื้นที่เหล่านั้นจำนวนมาก เนื่องจากจะไม่สามารถป้องกันมิให้น้ำท่วมได้ต่อไปอีกเมื่อระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน

อนึ่ง อาจไม่เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางนักว่า ย้อนไปในช่วงเวลาที่ยังไม่เป็นที่ประจักษ์อย่างแจ้งชัดเรื่องภาวะโลกร้อน จะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้ออกแบบและสร้างประตูขนาดยักษ์เพื่อกั้นสายน้ำซึ่งเชื่อมเมืองท่ารอตเตอร์ดัมกับทะเลเหนือ เมื่อเกิดพายุใหญ่ทำให้เกิดภาวะน้ำหนุนสูงในทะเลนั้น ประตูจะปิดเพื่อกั้นมิให้น้ำท่วมเมืองท่ารอตเตอร์ดัมและปริมณฑล หลังจากลงมือก่อสร้างไปแล้ว จึงเป็นที่ประจักษ์ว่าระดับน้ำทะเลจะสูงกว่าระดับที่ตั้งไว้ในสมมติฐานของการออกแบบ นั่นหมายความว่า ประตูนั้นจะไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมเมืองรอตเตอร์ดัมได้ในกรณีที่เกิดพายุใหญ่ทำให้เกิดภาวะน้ำหนุนสูงมาก ๆ ความตระหนักในเรื่องนี้เป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งจูงใจให้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เปลี่ยนแผนปกป้องพื้นที่ของประเทศที่อยู่ปริ่มและต่ำกว่าระดับน้ำทะเลโดยการโยกย้ายประชาชนออกไปบ้างและให้สร้างบ้านได้เฉพาะในพื้นที่ซึ่งยกขึ้นไปให้สูงกว่าเดิมมาก ๆ บ้าง ในบางกรณีมีการเสริมด้วยบ้านสะเทินน้ำสะเทินบก

โครงการสร้างประตูกั้นสายน้ำเพื่อปกป้องเมืองรอตเตอร์ดัม คงเป็นแรงจูงใจให้รัฐบาลไทยในสมัยหนึ่ง คิดจะสร้างเขื่อนและประตูน้ำขนาดใหญ่ในอ่าวไทย เพื่อป้องกันมิให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ โชคดีที่ไม่มีใครวิกลจริตนำแนวคิดนั้นมาทำจริง ๆ สิ่งที่ควรทำคือ การสร้างเมืองใหม่ก่อนที่แหล่งน้ำรอระบายจะกลายเป็นอ่างเพาะยุงถาวร