กระบวนการยุติธรรมกับความคุ้มค่าทางสังคม

กระบวนการยุติธรรมกับความคุ้มค่าทางสังคม

เป้าหมายหลักของกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คือ การสร้างความสงบสุขและปลอดภัยให้กับประชาชน

 มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หลายหน่วยงาน แต่ละหน่วยงานมีกิจกรรมและโครงการของตัวเอง เพื่อให้สามารถทำงานตามความรับผิดชอบให้ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม งานในลักษณะนี้เป็นงานที่เห็นการจ่ายเงินออกชัดเจน แต่ภาพของสิ่งที่ได้รับยังมีความคลุมเครือ จึงอาจทำให้เกิดคำถามได้ว่าเม็ดเงินที่ลงไปนั้นคุ้มค่าแค่ไหน และจะวัดความคุ้มค่าออกมาได้อย่างไร

ในกรณีของกระบวนการยุติธรรมทางอาญานั้น แต่ละหน่วยงานมีหน้าที่ความรับผิดชอบแตกต่างกันออกไป การจะวัดความคุ้มค่าจึงจะต้องดูลักษณะการทำงานของหน่วยงานเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม หากมองด้วยหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว สิ่งที่หน่วยงานเหล่านี้ดำเนินการเป็นบริการสาธารณะที่ไม่ได้ผ่านตลาด ทำให้ไม่มีราคาที่จะนำมาอ้างอิงได้ วิธีการประเมินจึงต้องเป็นการตีมูลค่าทางอ้อมจากประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการนั้นเทียบกับต้นทุนที่เกิดขึ้น เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น จะขอยกตัวอย่างของโครงการที่ต้องใช้การประเมินมูลค่าแบบนี้เป็นกรณีศึกษาจำนวน 2 เรื่อง

เรื่องที่ 1 การใช้กำไลติดตามตัว หรือ Electronic Monitoring (EM) แทนการคุมขัง การประเมินความคุ้มค่าจะดูว่าการที่ผู้ถูกคุมขังไม่สามารถออกไปทำงานได้ จะส่งผลต่ออนาคตของเขาอย่างไร ซึ่งมีทั้งรายได้ โอกาสได้งาน ภาระในการดูแลครอบครัว สิ่งเหล่านี้สามารถตีค่าออกมาเป็นเงินได้ เช่น ถ้าก่อนถูกคุมขังเขาทำงานทุกวัน ได้เงินวันละ 400 บาท เมื่อถูกคุมขัง 365 วัน เขาก็จะสูญเสียรายได้ 400 x 365 =146,000 บาท เมื่อนำกำไลติดตามตัวมาใช้ ทำให้เขาสามารถกลับไปทำได้ ก็เท่ากับว่าเขาจะได้เงิน 146,000 บาท นอกจากนี้แล้ว การที่เขาไม่ต้องถูกคุมขัง รัฐก็ไม่ต้องจ่ายค่าอาหาร ประหยัดค่าน้ำค่าไฟ ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ประโยชน์ทั้งหมดนี้รวมกัน หากเทียบกับต้นทุนการจัดซื้อ EM แล้วมีค่าสูงกว่า ก็แสดงว่าโครงการนี้มีความคุ้มค่าทางสังคม

เรื่องที่ 2 การส่งเสริมให้ชุมชนช่วยกันดูแลพื้นที่เพื่อลดปัญหาการลักทรัพย์ การลักทรัพย์แต่ครั้งสามารถตีมูลค่าความเสียหายออกมาเป็นตัวเงินได้ ไม่ว่าจะเป็นมูลค่าทรัพย์สินที่ถูกขโมยไป ความเสียหายต่อบ้านเรือน หากมีการบาดเจ็บก็ยังสามารถรวมค่ารักษาพยาบาลและรายได้ที่เสียไปในช่วงพักรักษาตัวมาเป็นความเสียหายได้ด้วย เมื่อชุมชนช่วยกันสอดส่องดูแลจนอาชญากรรมลดลง ผลตอบแทนที่ได้จะเท่ากับมูลค่าความเสียหายที่สามารถป้องกันได้ หากมีมูลค่ามากกว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นต่อชุมชน ก็ถือว่าโครงการนี้มีความคุ้มค่าทางสังคม

เรื่องที่ 3 การระงับข้อพิพาทด้วยกระบวนการยุติธรรมทางเลือก โดยปกติเมื่อเกิดคดีที่มีการยอมความได้แต่ไม่ได้มีการเจรจากันหรือเจรจากันแล้วแต่ตกลงกันไม่ได้ ก็ต้องมีการนำคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการหลายขั้นตอน เช่น การเก็บข้อมูลพยานหลักฐาน การทำสำนวน การขึ้นโรงขึ้นศาล และหากมีคำตัดสินถึงที่สุดแล้วต้องมีการจำคุก ก็มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นอีก แต่ถ้าสามารถใช้กระบวนการยุติธรรมทางเลือกเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทให้จบลงได้ สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น หากค่าใช้จ่ายที่ประหยัดได้จากการไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการมีค่ามากกว่าค่าใช้จ่ายในการเจรจาไกล่เกลี่ยก็แสดงว่าโครงการนี้มีความคุ้มค่าทางสังคมเช่นกัน ซึ่งในกรณีนี้ ผู้เขียนและคณะผู้วิจัยได้ทำการประเมินเบื้องต้นไว้ว่า กระบวนการยุติธรรมทางเลือกสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 200 ถึง 300%

โดยภาพรวมแล้ว งานวิจัยที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการทำโครงการของหน่วยงานยุติธรรมยังคงมีจำนวนน้อย ตารางที่แสดงไว้เป็นตัวอย่างของการศึกษาในต่างประเทศที่ทำการประเมินอัตราผลตอบแทนทางสังคม ซึ่งจะเห็นได้ว่า โครงการในกระบวนการยุติธรรมจะมีอัตราผลตอบแทนทางสังคมโดยเฉลี่ยประมาณ 174% นั่นหมายความว่า เงินทุก 1 บาทที่ลงไป จะได้ผลตอบแทนคืนมาประมาณ 1.74 บาท

แม้ว่าใจความสำคัญของบทความนี้จะเป็นการแสดงให้เห็นวิธีการคิดด้านเศรษฐศาสตร์ที่นำมาประยุกต์ใช้กับการประเมินความคุ้มค่าของโครงการด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญา แต่สิ่งที่ผู้เขียนต้องการสื่อสารออกไปก็คือ การทำโครงการของภาครัฐ ไม่ว่าจะหน่วยงานไหนก็ตาม จำเป็นต้องมีการศึกษาในเรื่องนี้ควบคู่ไปกับการศึกษาด้านอื่น เพราะข้อมูลที่ได้จะเป็นหนทางในการตอบคำถามของสังคมได้ว่า เงินแต่ละบาทที่ลงไปได้ประโยชน์แค่ไหน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดสรรงบประมาณของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ถือว่าเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งของการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนให้กับประเทศไทยในระยะยาวอย่างแท้จริง

.....................................................

เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว, ภวินท์ คุรุรัตน์ และคณะ