หยั่งรู้ดิจิทัล ศาสตร์แห่งความอยู่รอด(8) IoT Challenge

หยั่งรู้ดิจิทัล ศาสตร์แห่งความอยู่รอด(8) IoT Challenge

นวัตกรรม “อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์” หรือ IoT เชื่อมต่อให้สิ่งของสามารถสื่อสาร ประมวลผลและส่งต่อข้อมูลถึงกัน

ช่วยให้สิ่งของตัดสินใจทำงานในขั้นต่อไปกันได้เอง โดยไม่ต้องผ่านการตัดสินใจจากมนุษย์ในระหว่างทาง ทำให้สามารถปฏิบัติกิจกรรมที่กำหนดไว้ล่วงหน้าได้โดยไม่ต้องรอคำสั่ง

            ด้วยความก้าวหน้าของการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตทั้งจาก ไวไฟและคลื่นความถี่มือถือ  ความแพร่หลายและราคาที่ลดลงของเซนเซอร์ประเภทต่างๆ ตลอดจนระบบคลาวด์คอมพิวติ้งที่มีประสิทธิภาพได้ทำให้นวัตกรรมไอโอทีขยายผลไปในหลายอุตสาหกรรม

            ตั้งแต่สมาร์ทโฮม สมาร์ทเฮลท์ สมาร์ทซิตี้ สมาร์ทแฟคเตอรี่ คอนเน็กเต็ดคาร์ รวมถึงคอนเน็กเต็ดฟาร์ม หรือกระทั่งคอนเน็ตเต็ดคาวว์ (Connected Cow) ที่ใช้การติดแท็คพร้อมเซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวและไมโครโฟนไว้ที่โค เพื่อช่วยในการบริหารจัดการกิจวัตรประจำวันของโค ตั้งแต่การรีดนม การให้อาหาร การจัดการด้านสุขภาพและความสะอาด ตลอดจนการจัดการฝูงและการผสมพันธุ์

            การ์ทเนอร์ (Gartner) ประมาณว่าในปี 2017 จะมีสิ่งของที่เชื่อมต่อกัน (Connected Things) กว่า 8,400 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้นกว่า 31% จากปีที่แล้ว ในจำนวนนี้จัดเป็นสิ่งของที่เกี่ยวกับการใช้งานในครัวเรือนกว่า 63% ได้แก่ สมาร์ททีวีและกล่องรับสัญญาณ

            โดยส่วนที่เหลือจะเป็นสิ่งของที่เกี่ยวกับการใช้งานเชิงธุรกิจ เช่น มิเตอร์ไฟหรือกล้องรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะ โดยการ์ทเนอร์คาดว่าในปี 2020 จำนวนสิ่งของที่เชือมต่อกันจะเพิ่มเป็น  20,400 ล้านชิ้นคิดเป็นมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์

 

เดินหน้ากับศักยภาพใหม่ในการผลิต

            นวัตกรรมไอโอที วิศวกรรมหุ่นยนต์ (Robot) และ AI ได้เปิดโอกาสให้โรงงานอุตสาหกรรมในจีน อเมริกาหรือยุโรปสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในลักษณะของสมาร์ทแฟคเตอรี่ (Smart Factory) ซึ่งมีกระบวนการผลิตที่ชาญฉลาดมากขึ้น ไดนามิกซ์และปรับเปลี่ยนได้คล่องตัวกว่าโรงงานอุตสาหกรรมแบบเดิม       โดยทุกส่วนในกระบวนการผลิตภายใต้สมารท์แฟคเตอรี่นับแต่ซัพพลายเออร์ โลจิสติกส์ รวมถึงการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์จะเชื่อมต่อ (Connected) ถึงกัน ช่วยเสริมความพร้อมต่อการรองรับ Industry 4.0 และเป็นจุดตั้งต้นของการผลิตแบบ “Lights Out” หรือการผลิตที่ไม่ต้องใช้แสงสว่างในการทำงาน เนื่องจากเป็นการผลิตและปฏิบัติงานที่ทำงานด้วยหุ่นยนต์และระบบทั้งหมดจึงไม่ต้องใช้แสงสว่างและไม่มีมนุษย์ร่วมลงมือปฏิบัติงานอยู่ด้วย

 

            ตัวอย่างการปรับตัวของอุตสาหกรรมเห็นได้จากบริษัทผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ในจีนอย่าง ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ซึ่งมีพนักงานกว่า 1.2 ล้านคน ได้ตัดสินใจเพิ่มธุรกิจใหม่ด้านการผลิตหุ่นยนต์สำหรับใช้ในโรงงานของตนที่เรียกว่า ฟ็อกซ์บอทซ์ (Foxbots)  โดยในปี 2016 ฟ็อกซ์คอนน์ได้ผลิตหุ่นยนต์ถึง 50,000 ตัวเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตกว่า 20 ประเภท เช่นการแสตมป์ การขัดเงา การแพ็คเก็จจิ้งและการทดสอบ

 

พลิกโอกาสให้กับอุตสาหกรรมใหญ่

            ไอโอทีกำลังถูกประยุกต์ใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่างแพร่หลายมากขึ้น เมื่อ เจฟฟรีย์ อิมเมลท์ ซีอีโอของจีอี (GE) ได้ผลักดันให้จีอีผ่านกระบวนการ Digital Transformation จนกลายเป็นผู้บุกเบิก “Industrial Internet of Things (IIoT)” โดยการนำ DigitalIndustrial มาใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรมผ่านนวัตกรรม IoT,Big Data การวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Real-Time และ AI จนพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มไอโอทีสำหรับระบบโรงงาน อย่างเช่นโรงผลิตไฟฟ้า Digital Power Plant และ Digital Wind Farm จนประสบผลสำเร็จและทำให้จีอีขึ้นเป็นผู้นำในนวัตกรรม IIoT เช่นปัจจุบัน 

            จีอี ยังได้จับมือกับซิสโก้ในการพัฒนาสถาปัตยกรรมไอโอทีสำหรับใช้กับระบบเครือข่ายด้านอุตสาหกรรมของจีอี โดยการวางบลูพริทต์ (Blueprint) ของ Digital Industrial Solutions ภายใต้ระบบโครงสร้างเครือข่ายของซิสโก้ เพื่อบันทึกข้อมูลจากกระบวนการผลิตและนำมาใช้ในการขับเคลื่อนการทำงานของอุตสาหกรรมผ่านโซลูชั่นของจีอี เพิ่มความปลอดภัยให้กับการใช้ข้อมูลและการควบคุมกระบวนการผลิตในระยะไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

หลักคิดดิจิทัล

            นวัตกรรมไอโอทีได้เปิดโอกาสใหม่ให้กับธุรกิจ และได้เร่งให้อุตสาหกรรมร่วมมือกันในการกำหนดมาตรฐานเพื่อรองรับการออกแบบและการพัฒนาแอพพลิเคชั่นหรืออุปกรณ์ด้านไอโอทีที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว กลุ่มงานอย่าง The Open Connectivity Foundation (OCF) ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของบริษัทขนาดใหญ่อย่าง อินเทล แอลจี ซิสโก้ ควอลคอมม์ ซัมซุง และไมโครซอฟท์ กำลังเป็นผู้นำในการกำหนดมาตรฐานไอโอที ซึ่งธุรกิจและอุตสาหกรรมควรเข้าร่วมหรือติดตาม เพื่อให้เข้าใจและเลือกใช้มาตรฐานไอโอทีให้เกิดประโยชน์ดีทึ่สุดต่อองค์กร

            ปัจจุบัน 49% ของประชากรในโลกเขื่อมต่อกันผ่านออนไลน์ ด้วยจำนวนอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์หลายพันล้านชิ้นที่รายล้อมผู้คนและอุตสาหกรรมอยู่ในขณะนี้ จึงอาจเลี่ยงไม่ได้ที่องค์กรต้องปรับตัวให้ทันต่อการใช้หรือการเลือกใช้ไอโอทีในการปฏิบัติงานและการพัฒนาผลิตภัณฑ์

          ธุรกิจจึงควรกำหนดกลยุทธ์ดิจิทัลและการลงทุน ตลอดจนทีมปฏิบัติงานหรือที่ปรึกษาที่พร้อมรับมือกับการเติบโตอย่างรวดเร็วของนวัตกรรมไอโอทีที่กำลังถาโถมอยู่ไม่หยุดยั้ง