อีคอมเมิร์ซไทย ก้าวที่ต้องกระโดดตามให้ทัน

อีคอมเมิร์ซไทย ก้าวที่ต้องกระโดดตามให้ทัน

ปัจจัยวัดที่สำคัญที่สุดว่า ผู้บริโภคจะตัดสินใจซื้อสินค้าหรือไม่ คือ เรื่องราคาสินค้า และความน่าเชื่อถือของผู้ขายหรือแพลตฟอร์ม

การที่เรากำลังก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างเต็มตัวด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้พฤติกรรมใช้ชีวิตประจำวันเราปัจจุบัน รวมทั้งการดำเนินธุรกิจต่างๆ เปลี่ยนไปจากอดีตมาก หนึ่งในนั้น คือ การจับจ่ายใช้สอยบนโลกออนไลน์ ทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (eCommerce) เติบโตและเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ถูกจับตามองมากที่สุดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุว่า ปี 2558 มูลค่าอีคอมเมิร์ซในไทย มีมูลค่าสูงถึง 2.24 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะมูลค่าอีคอมเมิร์ซแบบ บีทูซี ซึ่งเมื่อเทียบข้อมูลสถิติใน 6 ประเทศในอาเซียน พบว่า ไทยกำลังก้าวขึ้นสู่ผู้นำอีคอมเมิร์ซภูมิภาค แม้ยังต่ำกว่าสิงคโปร์ และมาเลเซีย ทั้งคาดว่าปี 2559 ตลาดอีคอมเมิร์ซจะเติบโตก้าวกระโดด 12.42% มูลค่ารวมสูงถึง 2.52 ล้านล้านบาท

ข้อมูลดังกล่าว จะเห็นได้ว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคของ อีคอมเมิร์ซ เต็มรูปแบบ ทั้งนี้ปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของอีคอมเมิร์ซนั้นเป็นผลมาจาก การผลักดันการพัฒนาระบบการชำระเงินทางออนไลน์ (ePayment) รวมถึง ระบบจัดการสินค้าและขนส่งถึงปลายทาง (Logistics) และตัวเลขใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยที่พุ่งสูงขึ้นรวดเร็วถึง 45 ล้านคน ทั้งหมดนี้ คือ ปัจจัยที่ทำให้อีคอมเมิร์ซของไทยเติบโตสูงมาก

ด้วยความก้าวหน้าเทคโนโลยีปัจจุบัน ทำให้กระแสอีคอมเมิร์ซ พลิกโฉมซื้อขายแบบเดิมๆ เป็นรูปแบบการค้าสมัยใหม่ รูปแบบแพลตฟอร์มให้บริการก็หลากหลายทั้งบนเว็บไซต์ และแอพพลิเคชันบนมือถือ รวมถึงซื้อ-ขายสินค้าบนโซเชียล มีเดีย ซึ่งกลุ่มผู้ใช้บริการทั้งผู้ซื้อและผู้ขายขยายตัวมาก ทำให้ตลาดไทยเป็นตลาดที่ดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาเปิดให้บริการด้วย ส่วนนี้ทำให้ผู้ให้ประกอบการอีคอมเมิร์ซในไทยต้องเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้นตาม

การแข่งขันทำการตลาด เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคมาใช้บริการที่เห็นชัดเจน คือ ลดราคาสินค้าและจัดโปรโมชั่นต่างๆ เพราะปัจจัยชี้วัดที่สำคัญที่สุดว่า ผู้บริโภคจะตัดสินใจซื้อสินค้าหรือไม่ คือ เรื่องราคาสินค้าและความน่าเชื่อถือของผู้ขายหรือแพลตฟอร์ม ปัจจัยรอง คือ บริการ ต้องเข้าใจว่า ผู้บริโภคมีอิสระค้นหาสินค้า เปรียบเทียบสินค้าและราคา ทุกอย่างทำได้ด้วยตัวเองผ่านคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน

ดังนั้นโลกอีคอมเมิร์ซ การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวบุคคลนั้นแทบไม่มีเลย ทำให้ลูกค้าไม่ค่อยมีความรู้สึกจงรักภักดีต่อแบรนด์เท่าไหร่นัก เมื่อแพลตฟอร์มไหน ที่มีสินค้าราคาที่ถูกกว่า พวกเขาก็พร้อมเปลี่ยนไปใช้บริการทันที

การกำหนดราคาสินค้าเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ แต่ยังมีเรื่องรองๆ ที่เห็นว่าสำคัญ คือ ประสบการณ์ใช้บริการ โดยเราพยายามทำให้การใช้บริการบนแพลตฟอร์มเราเป็นเรื่องง่ายไม่กี่ขั้นตอน ก็สามารถซื้อสินค้าได้สำเร็จและมีระบบชำระเงินที่ปลอดภัย นอกจากนี้ เรายังกำหนดความแตกต่างสินค้าบนแพลตฟอร์มให้แตกต่างและหลากหลายตามกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อต่างกัน ตอบสนองต่อพฤติกรรมการบริโภคของเหล่านักช้อปออนไลน์ได้ตรงจุดมากขึ้น

นอกจากนี้ เรายังเติมเต็มสิ่งที่อีคอมเมิร์ซขาดไป คือ สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ผู้ซื้อ ผู้ขาย เราก็มีการสร้างคอมมูนิตี้ที่เรียกว่า Shopee University เป็นเวิร์คช็อปที่มีการให้ความรู้กับผู้ขายในช้อปปี้ ให้เข้าใจถึงการทำธุรกิจและใช้แพลตฟอร์มให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดรวมทั้งเคล็ดลับต่างๆ ทำให้ร้านค้ามีความโดดเด่นมียอดขายที่ดีขึ้น

แม้ว่า อีคอมเมิร์ซในบ้านเราจะเติบโตและมีจำนวนผู้ให้บริการและผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มีการแข่งขันสูงทำให้ทุกแพลตฟอร์มต้องหมั่นปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจของตนเองอยู่ตลอดเวลา แต่ท้ายที่สุดแล้วผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด คือ ผู้บริโภคและผู้ใช้บริการ การกำหนดราคาสินค้า การทำโปรโมชั่น ความปลอดภัยของระบบ รวมไปถึงการบริการต่างๆที่จะสร้างประสบการณ์ที่ดีในการช้อปปิ้งออนไลน์จะทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยบนแพลตฟอร์มเพิ่มมากขึ้น

แต่ยังมีการบ้านสำคัญที่ท้าทายมากขึ้นไปอีก คือ กลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ และพร้อมใช้บริการอีคอมเมิร์ซ ที่ยังมีอีกมากในต่างจังหวัด รวมถึงผู้สูงอายุ เราจะทำอย่างไรให้เขาเกิดการรับรู้ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จากการซื้อสินค้าแบบเดิมๆ ให้หันมาใช้บริการอีคอมเมิร์ซเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถ้าสามารถทำให้คนอีกจำนวนมากนี้ หันมาเป็นผู้ใช้บริการอีคอมเมิร์ซได้สำเร็จ นั่นจะเป็นอีกก้าวกระโดดใหญ่ๆ ของวงการอีคอมเมิร์ซบ้านเราเลยทีเดียว