'แป๊ะเจี๊ยะ' เงินบริจาค กับภาวะจำยอม

'แป๊ะเจี๊ยะ' เงินบริจาค กับภาวะจำยอม

จริงๆ การจ่ายแป๊ะเจี๊ยะให้กับโรงเรียน แลกรับเด็กเข้าเรียน

 ถ้าถามผู้ปกครองกันจริงๆจังๆ บอกได้เลยไม่ใช่เรื่องใหม่ และดูเหมือนการจ่ายแป๊ะเจี๊ยะ นับวันจะเป็นเรื่องปกติเข้าไปทุกขณะ แต่ที่ไม่ปกติ ราคาเก้าอี้มันแพงขึ้นทุกปี  จะด้วยเหตุผลใดไม่ทราบ

ระบบแป๊ะเจี๊ยะแลกเก้าอี้เข้าเรียน หากจะถามหาใบเสร็จ เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าจ่ายจริง บอกได้เลยคงไม่มีโรงเรียนไหนกล้าโชว์สิ่งเหล่านี้ แต่ดูเหมือนจะเป็นการจ่ายที่พึงพอใจทั้งผู้ให้และผู้รับ ทั้งๆที่มันไม่ถูกต้อง

       การเรียกรับ แป๊ะเจี๊ยะ กำลังจะเหมือนปัญหาโลกแตกเข้าไปทุกที ทุกโรงเรียนควรมีมาตรการขั้นเด็ดขาด จัดการทั้งผู้ให้และผู้รับ น่าจะมีโทษถึงขั้นติดคุกไปซะเลยหากจับได้ แต่บ้านเรามันดันสมยอมทั้งคนให้และคนรับจะเป็นข่าวก็ต่อเมื่อให้แล้วไม่ได้” แต่ยังมีอยู่จำนวนไม่น้อย ที่ให้ไปแล้วสมประโยชน์กัน แต่กลับเงียบไป ทำยังไงที่จะให้ระบบอย่างนี้ล้มหายตายจากไปเสียที เด็กที่มีคุณภาพสอบได้จริงๆ จะได้มีที่เรียนกับเขาบ้าง ไม่ใช่สอบข้อเขียนได้ แต่ตกม้าตายตอนสอบสัมภาษณ์ อย่างนี้ก็มีอยู่ไม่น้อย อาจเป็นเพราะแป๊ะเจี๊ยะไม่ถึงหรืออย่างไร

ปกตินักเรียนแต่ละคนเข้าเรียนแต่ละที่ มีค่าใช้จ่ายจำนวนไม่น้อย บางโปรแกรมมี ค่าแอร์ ค่าเรียนที่แพงกว่าปกติอยู่แล้ว อย่าง English Program แต่ละแห่งเสียค่าเรียนแพงกว่าโปรแกรมธรรมดาหลายเท่าตัว ทุกอย่างเป็นค่าใช้จ่ายผู้ปกครองทั้งสิ้น แต่ด้วยความที่ผู้ปกครองอยากให้ลูกๆเรียนโปรแกรมที่ดี จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนต่างที่เกิดขึ้น

 ไม่เฉพาะแต่ ค่าแป๊ะเจี๊ยะ แต่ละปีเมื่อเริ่มปีการศึกษาใหม่ การประชุมผู้ปกครองก็เกิดขึ้น ทุกครั้งเสียงออดอ้อนจากฝ่ายบริหารโรงเรียนมีอย่างต่อเนื่อง โรงเรียนบางแห่งเวลาประชุมผู้ปกครอง ถึงขั้นหยิบยกยกภาระค่าใช้จ่ายโน้นนี่นั่นขึ้นมายุบยิบ 

เสมือนหนึ่งภาระที่เกิดขึ้นกับโรงเรียน เป็นภาระผู้ปกครองต้องร่วมรับผิดชอบด้วยซะอย่างงั้น บางแห่งถึงขั้นหยิบยกค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าปรับพื้นห้องเรียน ขึ้นมาเป็นดัชนีขอบริจาค ไม่รู้ว่าเรื่องแบบนี้  กระทรวงศึกษาธิการ สมควรจะรับรู้และเข้ามาร่วมแก้ปัญหา โดยนำงบประมาณของรัฐบาลเข้ามาช่วยจะดีกว่าไหม 

ไม่ใช่ปล่อยให้ฝ่ายบริหารโรงเรียนทำหน้าที่เรี่ยไรอยู่อย่างนี้ สุดท้ายก็ต้องนำไปสู่การบริจาคไม่รู้จะมีผู้ปกครองสักกี่คนที่จะร่วมภาระตรงนี้ได้