ทุจริตวันนี้จะ 'แป๊ะเจี๊ยะ' 'รถหรู' เอาผิดทั้งคนรับคนให้

ทุจริตวันนี้จะ 'แป๊ะเจี๊ยะ' 'รถหรู' เอาผิดทั้งคนรับคนให้

เวลานี้มีเรื่องของการจ่ายสินบนวิ่งเต้น ทุจริตที่อยู่ในความสนใจของประชาชนหลายเรื่องด้วยกัน

 ทั้งเรื่องการศึกษาของเด็กเยาวชนที่ทำเอาผู้อำนวยการโรงเรียนมีชื่อ ต้องออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวชี้แจงตอบโต้กับคนที่กล่าวหาตนเอง ปรากฏเป็นข่าวไปแทบทุกสื่อ ขณะเดียวกันในวงการผู้บังคับใช้กฎหมาย ทั้งตำรวจ ดีเอสไอ ไปกระทั่งบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมบางหน่วยก็ได้รับผลพวงจากข่าวในทำนองคล้ายๆ กัน ซึ่งทุกครั้งที่มีข่าวแบบนี้หัวหน้าหน่วยงานหรือผู้เกี่ยวข้องมักจะต้องออกมาปฏิเสธหรือชี้แจงให้สังคมได้เบาใจ อาจมีบางรายที่ออกมาแบ่งรับแบ่งสู้ไม่ถึงกับปฏิเสธเป็นพัลวันโดยไม่สืบสวนทวนความ

แต่ยอมรับว่า “บรรทัดฐาน” ที่นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวกับนักข่าวสื่อมวลชนว่า กรณีของการจ่ายสินบนให้กับสถานศึกษาดังเป็นข่าว หากเป็นความจริง “เด็กต้องพ้นสถานภาพจากนักเรียนของโรงเรียนนั้นด้วย เพราะถือว่า ผู้ให้สินบนก็ต้องมีส่วนรับผิดด้วย” เป็นเรื่องที่ตรงใจผมมาก ไม่ใช่ว่าเห็นนายกรัฐมนตรีพูดหรือคิดอะไรแล้วต้องรีบพยักหน้ารับ เห็นดีเห็นชอบไปเสียทุกเรื่อง

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้กำหนดให้ทั้ง “รัฐ” และ “ปวงชนชาวไทย" ทุกผู้ทุกนาม “มีหน้าที่” ต้องช่วยกันร่วมมือร่วมใจสนับสนุนป้องกันปราบปรามการทุจริตคอรัปชันให้สิ้นซากไป ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องและจุดมุ่งหมายของการปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม มั่นใจว่าจะไม่ทำตามแบบที่เคยทำกันมาในอดีตที่เอาผิดเฉพาะผู้ไม่อยู่ในร่องในรอยฝ่ายเดียว เหมือน “เกาไม่ถูกที่คัน” หรือ “เดินไม่สุดทาง” ดังที่ผ่านๆ มา แต่ “ทั้งผู้ให้” และ “ผู้รับ” สินบน ไม่ว่าในกรณีใด จะต้องร่วมกันรับผิดในการกระทำ ไม่ต่างกับคดีอาญาร้ายแรง ถ้าจะเปรียบเทียบให้เข้าใจ ยกตัวอย่างเช่น การจ้างวานฆ่า “ผู้จ้างวาน หรือ ผู้เสนอสินจ้างรางวัลในการฆ่า” จะต้องร่วมกันรับผิดกับ “ผู้ลงมือสังหารหรือนักฆ่า” ในฐานะ “ตัวการ” ในการกระทำความผิดไปเต็มๆ

หากยึดหลักเดียวกันนี้แล้ว เชื่อว่า ในกรณีอื่นๆ ทั้งเรื่อง “รถหรู” ที่มีข่าวว่า “ผู้ซื้อบางส่วน” ที่อาจมีส่วนร่วมกับขบวนการนำเข้ารถผิดกฎหมายในทางใดทางหนึ่ง กำลังจะใช้ช่องว่างของกฎหมายในการอ้างความเป็น “ผู้เสียหาย” ให้ตนเองพ้นความรับผิด ซึ่งหากเป็นเหตุผลของการกันตัวไว้เป็นพยานของเจ้าหน้าที่ หรือสืบสาวราวเรื่องแล้วไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องในขบวนการทุจริตโดยชัดเจนก็ไม่ว่ากัน แต่เรื่องนี้ต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะมูลค่าความเสียหายนั้นสูงมาก คนที่จับตามองอยู่ไม่ใช่เฉพาะคนไทย แต่ขบวนการทุจริตนี้ย่ามใจยิ่งนัก เพราะติดบ่วงแห่ง “ความโลภ” เมื่อได้แล้วยังอยากได้มากขึ้นไปอีก จึงไปร่วมมือกับขบวนการมิจฉาชีพในต่างประเทศโดยเฉพาะไปจับมือกับประเทศที่เขามีกลไกธรรมาภิบาลแบบไม่เกรงใจใคร เช่น อังกฤษ ทำให้งานนี้กลายเป็น “งานยาก” หลายฝ่ายกลืนไม่เข้าคลายไม่ออก บางเรื่องลึกๆ แล้ว อาจไม่อยากลงมือลงไม้กันแรงๆ แต่แรงบีบภายนอกสูงมาก “ไม่ทำอะไรเลยก็คงไม่ได้” แต่ถ้าทำแล้วไม่สุดทางก็ยิ่งเสียหาย เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะข่าวล่าสุดเกิดปัญหาภายในหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอย่าง “ดีเอสไอ” มีการระงับยับยั้งการแต่งตั้งผู้ควบคุมคดีหลายคนด้วยเหตุแห่งกระบวนการแต่งตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย มี “ผู้ร้องเรียน” ขอความเป็นธรรมมา

ต้องถือเป็นเรื่องน่าตกอกตกใจที่ “ กระบวนการผิดพลาดเช่นนี้เกิดขึ้นได้ ในสังคมประเทศไทยปี 2560” เป็นปีที่เรากำลังจะปฏิรูปประเทศ หรือแปลงโฉมประเทศ (transformation) ดังได้เคยเขียนถึงในบทความที่แล้วๆ มา แต่กระบวนการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงในระบบราชการ เกิดผิดพลาดขึ้นได้ กระทั่งทำให้การเข้าสู่ตำแหน่งไม่มีผลทางกฎหมายมาตั้งแต่ต้น ความไม่ถูกต้องตรงนี้ เกิดขึ้นใน “กระทรวงยุติธรรม” ซึ่งเคยมีคนตั้งใจจะมอบหมายให้รับผิดชอบดูแลงานของ “ตำรวจ” ที่ตำรวจเองก็เหมือนจะไม่ขัดข้อง แต่เมื่อเห็นข่าวที่เกิดขึ้นนี้ ความน่าเชื่อถือในองค์กร แม้จะอ้างว่าเมื่อพบที่ผิดก็ต้องทำต้องแก้ไขให้ถูกต้อง แต่คงต้องยอมรับว่าเรื่องนี้ได้ทำให้ภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือขององค์กรเสียหายไปไม่น้อยทีเดียว

ย้อนกลับไปดูเรื่องสำคัญอีกเรื่องที่มีการตั้งคณะกรรมการเช้ามาดูแลคดีความ หรือจะเรียกว่า “ตั้งโต๊ะแถลงข่าว” กันมาน่าจะ 2-3 ครั้งแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถติดตามจับกุมตัว บุคคลในคดีดังอีกคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน คือ คดีรถหรูที่ผู้ขับขี่เป็นผู้มีสถานภาพทางสังคม ได้ขับชนตำรวจเสียชีวิตกระทั่งถูกออกหมายจับในเวลาต่อมา แต่ขณะนี้ มีข่าวว่าได้เดินทางอยู่ในต่างประเทศ แต่ก็ยังไร้วี่แววว่าจะสามารถนำตัวมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยได้เมื่อใด เป็นอีกข่าวที่สั่นสะเทือนระบบความยุติธรรมของสังคมโดยรวม ถึงขนาดทาง “พนักงานอัยการ” เคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อเท่าที่จำได้ว่า “หากไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีได้ในกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือพูดภาษาที่เข้าใจง่ายๆ ว่า ปล่อยให้คดีขาดอายุความแล้วทำอะไรไม่ได้เลย ก็ย่อมเหมือนกับเป็น “ความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรม” ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง พวกเราจะมานั่งบ่นๆ ตัดพ้อต่อว่าคงไม่พอ ต้องถามหาคนที่เกี่ยวข้องรับผิดขอบด้วยว่า มีใครบ้างและจะต้องรับโทษกันสถานใด ไม่เช่นนั้นเราคงมีโอกาสได้เห็น “ความล้มเหลวของประบวนการยุติธรรมได้อีกในเร็ววันนี้โดยมิต้องสงสัย