กสม.ต้องยอมรับ ความเปลี่ยนแปลง

กสม.ต้องยอมรับ ความเปลี่ยนแปลง

หลังจากมีความชัดเจนไปก่อนใคร ในการ“เซ็ตซีโร่” คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่กรรมการทั้ง 7 คน

 คือกรรมการที่จะตั้งทดแทนคนเก่า 5 คน และที่เพิ่มเข้ามาอีก 2 ตามกฎหมายลูก จะต้องถูกสรรหาใหม่พร้อมกันเพื่อให้เป็น“ปลาน้ำเดียว” ในขณะเสียงที่พยายามจะคัดค้านในตอนนี้เริ่มแผ่วลง เพราะยิ่งกรรมการการเลือกตั้งบางคน โดยเฉพาะ สมชัย ศรีสุทธิยากร พยายามออกมาชี้แจงแสดงเหตุผลมากเท่าใด นอกจากจะไร้ประโยชน์แล้ว ยังจะทำให้สังคมมองในเเง่ลบ 

เพราะตลอดอายุการทำงานที่ผ่านมา กกต.ชุดปัจจุบันถูกมองว่ามีผลงานไม่มากนัก และการเรียกร้องก็ทำให้ถูกปักใจเชื่อว่าล้วนยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง รวมทั้งภาพความขัดแย้งภายในองค์กรก็ยังเป็นไปได้มากว่าเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ผู้มีอำนาจเกี่ยวข้อง เห็นพ้องกันให้เซ็ตซีโร่ รวมถึงการให้เหตุผลอย่างมี“หลักการ”ว่าในเมื่อจะเดินหน้าปฏิรูปก็จะต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลง และบนความเปลี่ยนแปลงนั้นก็ต้องมีผู้เสียสละยอมรับความเจ็บปวด เพื่อให้“เปลี่ยน”ไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ดีโมเดลของกกต.ได้สร้างความหวั่นไหว ให้กับองค์กรอิสระอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยเฉพาะ กสม.เอง มีเงื่อนไขเชิงลบแบบเดียวกันกับกกต. ที่มีกระแสข่าวว่าเกิดความแตกแยกภายในองค์กรอย่างรุนแรง จนเป็นสาเหตุให้ สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย กรรมการสิทธิฯ ทำหนังสือถึงประธาน กสม. วัส ติงสมิทธ เพื่อขอลาออกจากการเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

เรื่องนี้ชัดเจนถึงขนาด อังคณา นีละไพจิตร หนึ่งในกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกยอมรับว่า ภายใน กสม.มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันจริง และสิ่งที่จะทำให้อยู่ร่วมกันท่ามกลางความคิดเห็นที่แตกต่าง ได้คือต้องเคารพสิทธิและให้เกียรติซึ่งกันและกัน ซึ่งเหมือนเป็นการบอกเป็นนัยว่าในกลุ่มคนที่ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิของผู้อื่น ได้เกิดการ“ไม่เคารพสิทธิ์”กันเองอย่างนั้นหรือไม่ พร้อมกับทิ้งท้ายว่า เมื่อเกิดบรรยากาศที่ไม่เคารพกันจึงทำให้ไม่สามารถไปต่อได้

มาถึงวันนี้เค้าลางการ“เซ็ตซีโร่กสม.”เริ่มชัดเจนมากขึ้น ท่าทีของ มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรธ.มองว่าแนวทางการคัดค้านของกสม.ไม่มีประเด็นอะไรใหม่ ขณะที่แนวคิดในการเซ็ตซีโร่ ที่กรธ.เขียนไว้ ก็เพื่อให้เป็นไปตามหลักการปารีส ที่ระบุให้กระบวนการสรรหากสม.ต้องมีความหลากหลาย ภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วม ต้องเพิ่มระยะเวลาการสรรหา และต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนด รวมไปถึงการเปิดทางให้มีการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกรรมการ ด้วยการลงมติร่วมในแต่ละเรื่อง 

ที่สำคัญที่เพิ่มเติมเข้ามายังมีระบบการทำงาน แบบอนุกรรมการที่จะตัดให้มีเท่าที่จำเป็น ไม่ให้มีมากมายเหมือนที่ผ่านมา แล้วให้ปรับไปใช้การจ้างผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านมาทำงานแทน โดย กรธ.จะกำหนดแนวทางนี้กับทุกองค์กร ซึ่งประเด็นดังว่านี้กำลังถูกตั้งป้อมค้าน เพราะเท่ากับเป็นการถูกลดบทบาท แต่การเคลื่อนไหวของกสม. ก็พึงควรระวังที่จะ“เสียรังวัด”แบบเดียวกับกกต. ที่ถูกมองว่าไม่ได้เอาส่วนรวมเป็นที่ตั้ง และยังจะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาว่า“เห็นแก่ตัว” ฉุดรั้งความเจริญของประเทศชาติ