จะทำอย่างไรดี ระบบราชการเล่นงาน

จะทำอย่างไรดี ระบบราชการเล่นงาน

จากคำกล่าวของพ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 ระบุว่าในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้หยิกยกนิทานเรื่อง“มดน้อย” ที่อ่านเจอทางอินเตอร์เน็ตให้ครม.รับฟัง เพื่อเป็นคติสอนใจในการทำงานของครม. ว่าควรทำตัวอย่างไร ซึ่งยังไม่ทราบการเล่านิทานเรื่องนี้ของนายกรัฐมนตรีว่ามาจากสาเหตุใด แต่ประเด็นที่หยิบยกมาถือว่าเป็นเรื่อง“คลาสสิค”ของระบบราชการ

พ.อ.อธิสิทธิ์ อ้างคำกล่าวของนายกฯว่าเรื่องมีอยู่ว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ทุกวันๆมดน้อย จะมาทำงานแต่เช้า โดยลงมือทำงานทันที ซึ่งสามารถสร้างผลงานมากมาย และมีความสุขกับการทำงาน ต่อมาสิงโต รู้สึกแปลกใจที่มดน้อยทำงานได้ดี โดยไม่ต้องมีใครมาควบคุม ดังนั้นจึงคิดใหม่ทำใหม่ว่า ขนาดไม่มีหัวหน้าดูแล มดน้อยยังทำงานได้ดีเช่นนี้ หากมีหัวหน้ามาดูแลมดน้อยก็ต้องทำงานได้ดีขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงไปจ้างแมลงสาบมาเป็นหัวหน้าเจ้ามดน้อย

ฝ่ายแมลงสาบมีความสามารถในการเขียนรายงานได้ดี โดยเริ่มต้นด้วยการตั้งเครื่องตอกบัตร แต่แมลงสาบก็ต้องการเลขานุการเข้ามาช่วยพิมพ์รายงาน ชงกาแฟ เดินเอกสาร ส่งจดหมาย และคอยจับผิดมดน้อย ดังนั้นจึงไปจ้างควายมาเป็นเลขานุการส่วนตัว ซึ่งสิงโตก็ปลาบปลื้มกับการทำงานของแมลงสาบอย่างมากที่เขียนรายงานการทำงานต่างๆ ให้เห็นความคืบหน้า ซึ่งต่อมา เจ้าแมลงสาบก็ขอซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์ ขอติดตั้งอินเตอร์เน็ต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งทำให้ต้องมีแผนกไอทีตามมา 

จากนั้นจึงไปจ้างเห็บมาเป็นผู้จัดการ ซึ่งเห็บก็ของบประมาณเพื่อจ้างทีมงานและจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์เพิ่มขึ้น  ขณะที่ มดน้อยเห็นสภาพที่เกิดขึ้นก็เริ่มเบื่อกับระบบงานใหม่ เพราะต้องเสียเวลากับการเขียนรายงาน และการประชุมที่เสียเวลามาก  เมื่อแมลงสาบ เห็นมดน้อยทำงานช้าลงจึงให้ ทากเข้ามาเป็นหัวหน้าแผนกคอยดูแลและจดรายงาน เนื่องจากเป็นบุคลากรที่ทำงานล่าช้าจึงดูเหมือนรอบคอบ แต่บรรยากาศในแผนกก็เต็มไปด้วยความโศกเศร้า ไร้เสียหัวเราะ ทุกคนอารมณ์เสียง่าย 

เมื่อทากเห็นดังนั้นจึงของบประมาณเพื่อศึกษาสภาะการทำงาน ที่เหมาะสมของแผนกว่าทำไมประสิทธิภาพในการทำงานจึงแย่ลง ซึ่งสิงโตก็เห็นด้วยจึงได้จ้าง เจ้าตัวเงินตัวทองเข้ามาเป็นที่ปรึกษาเพื่อหาวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งได้ข้อสรุปว่าปัญหามาจากการจ้างคนเข้ามาเยอะเกินไปทำให้คุณภาพงานไม่ดี ซึ่งหลังจากเล่าจบ "นายกฯบอกกับ ครม.ว่าให้ลองคิดดูว่าเราเป็นใครในนิทานเรื่องนี้” และให้ ครม.พิจารณาว่าการทำงานของแต่ละคนได้เพิ่มคนอื่นเข้ามาจนกลายเป็นภาระให้ประสิทธิภาพของงานต่ำลงหรือไม่

นับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างมากที่นายกฯ ไม่ได้ยกตัวอย่างเป็นรายบุคคล หรือยอมรับว่าครม.ของตัวเองมีปัญหาเรื่องนี้ แต่หากตีความเนื้อเรื่องที่นายกฯ นำมาเป็นตัวอย่างก็ไม่ถือว่าน่าประหลาดใจมาก เพราะปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นลักษณะของระบบราชการที่มีอยู่ทั่วโลก ยิ่งประเทศไหนระบบราชการมีอำนาจมากเกินไป ปรากฏการณ์เช่นนี้ก็ยิ่งสร้างภาระกับการทำงานมากขึ้นเป็นเท่านั้น ดังนั้นจึงตั้งข้อสงสัยว่านายกฯ กำลังเผชิญกับระบบราชการเล่นงานในภาวะเร่งด่วนเสียแล้ว แต่ปัญหาก็คือจะแก้กันอย่างไร ก็ในเมื่อให้บทบาทราชการค่อนข้างสูงมากตั้งแต่แรก