การแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

การแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

(กฎหมายระบบ 30 บาท) 4

การแก้ไขมาตรา 18 อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ มีการเพิ่มการคำนึงถึงต้นทุนการให้บริการ ใน(3) และเพิ่มการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้ผู้รับบริการใน(7) และเพิ่มให้มีการเสนอแนะความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีใน(12)

ข้อคิดเห็นของผู้เขียน ผู้เขียนเห็นว่าการกำหนดบทบัญญัติในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฉบับที่ ..พ.ศ. .... นี้ จะต้องไม่ขัดกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 47 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ

บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา 258 ให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศอย่างน้อยในด้านต่างๆให้เกิดผล ดังต่อไปนี้

ช. (4) ปรับระบบประกันสุขภาพให้ประชาชนได้รับสิทธิและประโยชน์จากการบริหารจัดการและการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและสะดวกทัดเทียมกัน

และคำนึงถึงเหตุผลในการออกกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่า มีวัตถุประสงค์จะช่วยเป็น “หลัก”หรือความมั่นคงให้แก่ประชาชนว่าจะไม่ล้มละลาย(ทางการเงิน)จากการเจ็บป่วย รวมทั้งแนวทางการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 258 ช. (4)

คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงไม่ควรมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา

18 (1)คือไม่ควรมีอำนาจกำหนดมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุข

18 (3) กำหนดประเภทและขอบเขตการให้บริการสาธารณสุข

คณะกรรมการไม่ควรกำหนดการจำกัดขอบเขตการให้บริการสาธารณสุข แต่คณะกรรมการต้องขยายขอบเขตการให้บริการสาธารณสุขให้ครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่การสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ตรวจคัดกรองก่อนเกิดโรค รักษาและฟื้นฟู ไม่ควรโฆษณา “รักษาทุกโรค” เท่านั้น แต่ต้องให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้ประชาชนสร้างสุขภาพ ป้องกันโรค และตรวจคัดกรองก่อนเกิดอาการเจ็บป่วย เพราะการคัดกรองโรค เช่นการตรวจสุขภาพ จะทำให้สามารถตรวจพบโรคในระยะแรกเริ่ม และให้การรักษาได้ผลดีและต้นทุนในการรักษาต่ำกว่าเมื่อเจ็บป่วยมากแล้ว การรักษาโรคหรือการเจ็บป่วยแต่เนิ่นๆ ยังเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความพิการหรือสูญเสียสมรรถภาพทางกายอีกด้วย

18 (6) ไม่ควรมีหน้าที่จัดหาผลประโยชน์จากกองทุน

18 (8) ไม่ควรมีหน้าที่ไปสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดบริการสาธารณสุข แต่มีหน้าที่ “จ่ายค่าบริการสาธารณศุขแก่ประชาชนที่ไปรับบริการจากสถานพยาบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น

18 (9) ไม่ต้องมีหน้าที่ไปสนับสนุนองค์กรเอกชน หน้าที่นี้ควรเป็นของกระทรวงสาธารณสุขหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการ

ฉะนั้น ในการกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ต้องยึดหลักการที่ว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่เหมือนบริษัทประกันสุขภาพเท่านั้น ไม่ต้องไปก้าวก่ายเรื่องขอบเขตและมาตรฐานของการบริการสาธารณสุข คณะกรรมการ จะต้องกำหนดเพียงว่า ประชาชนกลุ่มใด ที่ควรได้รับบริการสาธารณสุขโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และประชาชนกลุ่มใดที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายบางส่วนในการไปรับบริกาสาธารณสุข และควรให้ความครอบคลุมในการรับบริการสาธารณสุข ทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันการเจ็บป่วย(อุบัติเหตุและเป็นโรค) ตรวจคัดกรองก่อนเกิดโรค (ตรวจสุขภาพ) ตรวจรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ

และคณะกรรมการมีหน้าที่กำหนดอัตราค่าใช้จ่ายที่ประชาชนจะต้องมีหน้าที่ร่วมรับผิดชอบในการดูแลรักษาสุขภาพตนเอง

 แต่การกำหนดคุณภาพมาตรฐานการบริการนั้น เป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข (ผ่านมติครม.)สถานพยาบาล และสภาวิชาชีพกำหนดเท่านั้น

มาตรา 26 เพิ่ม ใน (5) จ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุข

ความเห็น ไม่ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายนี้ เนื่องจากการจัดบริการสาธารณสุขไม่ใช่หน้าที่ของบริษัทประกันสุขภาพหรือสปสช. แต่เป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขตามกฎหมาย

มาตรา 29 งบประมาณรายจ่ายประจำปีของสำนักงาน มีเพิ่มเติมว่า ให้ได้รับเงินอุดหนุนจาก(1)หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หรือองค์กรอื่น รวมทั้งจากต่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ และเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้

(2) ค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการจากการดำเนินงานของสำนักงาน

(3) ดอกผลของเงินหรือรายได้จากทรัพย์สินของสำนักงาน

เงินและทรัพย์สินของสำนักงานไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ

ความเห็น ไม่ควรเพิ่มในมาตรานี้ ทำให้เห็นว่าสปสช.ต้องการใช้อำนาจตามที่เพิ่มใหม่นี้ ไปขอเงินบริจาคเพื่อเอามาใช้จ่ายตามอำเภอใจ เพราะเป็นเงินบริจาค และไม่ต้องคืนคลังอีกด้วย

มาตรา 32 คุณสมบัติของเลขาธิการ

มีความเห็นเพิ่มเติมว่า เลขาธิการ รองเลขาธิการและผู้ช่วยเลขาธิการควรกำหนดให้เป็นบุคคลตามมาตรา 100 ของปปช.

เนื่องจากเดิมพบว่า เรื่องบางเรื่องที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดของบุคคลตามมาตรา 100 เลขาธิการก็มอบให้รองเลขาธิการทำแทน

..............................................................................

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา

กรรมการแพทยสภา

ที่ปรึกษาสำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข