Banco Popular แบงก์แรกที่ใช้ 'Bail-in'

Banco Popular แบงก์แรกที่ใช้ 'Bail-in'

สัปดาห์ที่แล้ว ถือเป็นมิติในวงการแบงก์ยุโรปที่การล้มของแบงก์พาณิชย์ ไม่ต้องใช้เงินภาษีหรือจากภาครัฐเข้ามาอุ้ม

 เมื่อ ธนาคารยักษ์ใหญ่ของสเปน Santander เข้ามาซื้อหุ้นของ Banco Popular แบงก์ขนาดกลางของสเปนด้วยสนนราคา 1 ยูโร แถมด้วยการยกเลิกภาระการจ่ายเงินให้กับผู้ถือหุ้นกู้เดิม

ก่อนอื่น ต้องขอเล่าย้อนหลังเรื่องนี้กันสักหน่อย Banco Popular เป็นแบงก์ที่มีปัญหามาจากการเข้าลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ล็อตใหญ่เมื่อสิบปีก่อน จากนั้น ก็ประคองตัวด้วยการของเงินช่วยเหลือจากโครงการเงินช่วยเหลือแบงก์พาณิชย์ของธนาคารกลางยุโรปมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้ว เมื่อธนาคารกลางยุโรปเริ่มจะเข้มการช่วยเหลือ หรือปล่อยกู้ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกับแบงก์พาณิชย์ ตัว Banco Popular ก็เริ่มขาดทุนแบบกระฉูด ล่าสุด เมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว ก็ขาดสภาพคล่องอย่างหนัก แม้ว่าจะได้รับเงินช่วยเหลือ 3.6 พันล้านยูโร ก็ยังไม่สามารถทนต่อแรงต้านการถอนเงินของลูกค้ารายใหญ่ได้ จนคณะกรรมการ Single Supervisory Mechanism ของธนาคารกลางยุโรปที่ดูแลด้านเสถียรภาพสถาบันการเงินของยุโรปต้องออกแรงให้แบงก์ใหญ่ต่างๆในสเปนอันประกอบด้วย Caixa Bank BBVA และ Santander เข้ามาประมูลว่ารายใดสนใจแบงก์เจ้าปัญหาดังกล่าวหรือไม่ ปรากฏว่าเป็น Santander ที่ตอบรับด้วยราคาและเงื่อนไขดังกล่าว

มาถึงตรงนี้ อาจจะกล่าวไม่เกินเลยความจริงว่า Banco Popular ถือเป็นแบงก์แรกที่มิได้ใช้เงินภาษีของประชาชนแม้แต่ยูโรเดียวในการเข้ามาอุ้ม หรือ การให้ผู้ถือหุ้นและผู้ถือหุ้นกู้เป็นผู้ได้รับความเสียหายก่อนเพื่อนในการเข้าช่วยเหลือ หรือที่เรียกว่า ‘Bail-in’ ดูไปแล้ว ถือว่าน่าเสียดายที่กฎหมาย Dodd Frank ของอเมริกา เมื่อล่าสุดแก้ไขให้ผ่อนคลายลงในหลายจุดได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนหนึ่งก็มีการยกเลิกหลายหัวข้อเกี่ยวกับการ ‘Bail-in’ ด้วย ผมจึงมองว่าแบงก์ยุโรปมีแนวโน้มในแง่เสถียรภาพที่เป็นบวกกว่าของอเมริกา ณ วันนี้

หากเปรียบเทียบกันระหว่างประเทศต่างในยุโรป ประเทศที่มีปัญหาหนี้เสียในยุโรปที่หนักๆมีอยู่ 4 ประเทศ ได้แก่ อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส และ กรีซ ตอนนี้ที่ถือว่าหนักกว่าเพื่อนในแง่ของแนวทางการแก้ไขที่ยังดูช้ากว่าเพื่อน คือ อิตาลี เมื่อปีที่แล้ว ธนาคาร MPS ของอิตาลี ก็ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐบาลอิตาลี แบงก์ที่มีปัญหาอีกหลายแห่งก็ยังต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐบาลอยู่ในตอนนี้

หากมอง Santander กับ Banco Popular ทำให้อดไม่ได้ที่จะนึกถึงแบงก์อังกฤษ 2 แห่งที่มีความคล้ายคลึงกันในแง่ของการซื้อกิจการด้วยราคาที่ถูกมาก นั่นคือ Lloyds ที่เข้าเทคโอเวอร์ HBOS แบงก์อังกฤษ เมื่อกว่า 10 ปีก่อน โดยที่ทั้งสองแบงก์นี้ มีขนาดที่ใหญ่ใกล้เคียงกัน นั่นคือส่วนแบ่งตลาดที่ 25% และ 20% ตามลำดับ สิ่งที่น่าสนใจคือหลังจากที่ Lloyds เข้าเทคโอเวอร์ HBOS ไม่ถึงปี ก็ปรากฏว่า Lloyds ก็ต้องขอรับความช่วยเหลือจากธนาคารกลางอังกฤษ ถึงขนาดต้องให้เข้ามาอุ้มกันเลยทีเดียว ส่วนหนึ่งมาจากพิษของหนี้เสียของ HBOS ที่เข้ามาอยู่ในพอร์ตของตนเอง อย่างไรก็ดีในกรณีของ Santander กับ Banco Popular อาจจะถือว่ามีตวามแตกต่างในหลายมิติ เริ่มจากขนาดของ Banco Popular เพียงแค่หนึ่งในสิบของ Santander อีกทั้ง ในช่วงที่แบงก์อังกฤษที่กอดคอกันล้ม ก็อยู่ในช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ในขณะที่แบงก์สเปนคู่นี้ มาอยู่ในยุคของที่ธนาคารกลางยุโรปกำลังจะถอน QE และยกเลิกนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ

แม้จะถือว่าเป็นข่าวร้ายของวงการแบงก์สเปน ทว่าการที่เกณฑ์กำกับสถาบันการเงินของธนาคารกลางยุโรป ที่เพิ่งออกมาใช้ได้ไม่ถึง 2 ปี สามารถถูกนำมาใช้ได้แบบที่ถูกที่ถูกเวลา ก็ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีว่าการแก้ปัญหาแบงก์ต่างๆของยุโรปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอิตาลีและกรีซ จะสามารถแก้ไขได้ในแนวทางที่ไม่ต้องใช้เงินภาษีของประชาชน โดยหันมาให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงอย่างผู้ถือหุ้น และผู้ที่ซื้อตราสารหนี้ของแบงก์ดังกล่าว มาเป็นผู้รับความเสียหายจากการตัดสินใจลงทุนในการลงทุนที่ตนเองเลือก

ผมว่าอีก 10 ปีข้างหน้า แบงก์ยุโรปจะเปลี่ยนโฉมจนดูดีขึ้นกว่าในปัจจุบันมาก ในขณะที่แบงก์สหรัฐจะเสี่ยงกว่าตอนนี้เยอะครับ