จากบริเวณทุ่นระเบิดสงคราม มาเป็นฟาร์มพลังงานลม

จากบริเวณทุ่นระเบิดสงคราม  มาเป็นฟาร์มพลังงานลม

เมื่อวานผมเขียนเล่าถึงโครงการพลังงานจากลม ที่นักธุรกิจไทยไปปักหลักลงทุนที่ สปป. ลาว

 มีหลายประเด็นที่น่าสนใจสำหรับคนไทย โดยเฉพาะคำถามที่ว่าทำไมไม่ทำในเมืองไทยก่อน?

ผมเจอคุณ เป๊กวรมน ขำขนิษฐ์ ซีอีโอของบริษัท Impact Electrons Siam (IES) ที่เวียงจันทน์เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ฟังเรื่องราวนี้แล้ว เห็นควรที่จะเล่าขานต่อให้คนไทยและคนลาว ได้รับรู้ถึงความพยายามที่จะสร้างฐานการผลิตของ พลังงานสะอาดพื่อความยั่งยืนของคนทั้งสองประเทศ

โครงการนี้ชื่อมอนสูน วินด์ พาวเวอร์ ของบริษัท IES ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) และธนาคารโลก ภายใต้นโยบายสนับสนุนโครงการด้านพลังงานทดแทน

บริษัทเริ่มทำงานกับเอดีบี มาตั้งแต่ปี 2551 เอดีบีเคยให้การสนับสนุนเงินกู้ กับโครงการโซลาร์ฟาร์มที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขนาด 84 เมกะวัตต์ ที่ จ.ลพบุรี ทำในลักษณะของ project finance ซึ่งเป็นแนวทางที่เอดีบีชอบ เพราะสัญญาต่างๆ สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงในการลงทุนได้

สำหรับโครงการพลังงานลมลาว ที่ทำสัญญาแบบเทิร์นคีย์ ทางบริษัท Vestas ซึ่งเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีพลังงานลมของเดนมาร์ก) รับผิดชอบตั้งแต่เริ่มต้นจนติดตั้งเสร็จ แล้วส่งมอบให้กับบริษัท แปลว่า Vestas รับความเสี่ยงไปส่วนหนึ่ง

โครงการนี้ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลลาว ให้ใช้พื้นที่ได้ประมาณ 6.8 หมื่นเฮกเตอร์ หรือประมาณ แสนไร่ โดยส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ที่ต้องมีการเก็บกู้กับระเบิด เพราะเคยเป็นสมรภูมิของสงครามอินโดจีนมาก่อน

“การติดตั้งเสากังหันลมนั้นใช้พื้นที่ไม่มาก การติดตั้งเสากังหันลม 1 ต้นใช้พื้นที่ประมาณ 1.5 ไร่ ดังนั้น พื้นที่ส่วนที่เหลือรัฐบาลสามารถจะนำไปใช้ประโยชน์ในทางอื่นได้” คุณเป๊กเล่า

พื้นที่โครงการตั้งอยู่ระหว่างชายแดนประเทศไทยกับเวียดนาม ห่างจากชายแดนกัมพูชาประมาณ 200 กิโลเมตร จึงเป็นเหมือน “สามเหลี่ยมพลังงานสะอาด Clean Energy Triangle”

ข้อสำคัญคือไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโครงการ จะต้องสามารถแข่งขันได้กับราคาเฉลี่ยค่าไฟฟ้าของประเทศที่จะเจรจาซื้อขายไฟฟ้า

“เราอยู่ในขั้นตอนการเจรจากับทั้งรัฐบาลไทยเวียดนาม” เขาบอก

คุณวรมนยอมรับว่าหากโครงการพลังงานลมเริ่มเมื่อ 5 ปีที่แล้วอาจจะยาก เพราะต้นทุนการผลิตยังสูง แต่ปัจจุบันบริษัทเจ้าของเทคโนโลยีมีการออกแบบให้เหมาะสำหรับแรงลมในภูมิภาคเอเชีย ทำให้มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้นและต้นทุนที่ต่ำลง

"เราหวังเต็มที่ว่าโครงการผลิตไฟฟ้าที่มาจากพลังงานสะอาดจะเป็นที่ต้องการ เพราะจุดเด่นของโครงการอยู่ที่การประกอบร่าง คือหนึ่งเราใช้ของที่ดีที่สุดจาก Vestas สอง เราหาที่ที่ดีที่สุดในลาว สาม เรามีสถาบันการเงินที่สนับสนุนซึ่งแข็งแรงมาก นอกจากเราจะจ้างงานแล้ว เมื่อต้นทุนค่าไฟฟ้าเราถูกก็ทำให้ความสามารถในการแข่งขันนั้นดีขึ้น”

โครงการมอนสูน วินด์ พาวเวอร์ ของบริษัท IES มีเริ่มด้วยกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 600 เมกะวัตต์ แต่พื้นที่โครงการที่ได้รับการอนุญาตจากรัฐบาลลาว สามารถที่จะพัฒนากำลังการผลิตเพิ่มขึ้นได้อีก ในเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณเกือบ 50,000 ล้านบาท โดยเป็นส่วนของเงินกู้ทั้งเอดีบีและธนาคารโลก รวม 70% และส่วนของผู้ถือหุ้นอีก 30%

คุณวรมนยืนยันว่ารัฐบาลลาวให้การสนับสนุนอย่างจริงจังโดยหวังว่าจะเป็นโครงการ flagship และเป็นหัวข้อสนวงเสวนาต่างๆ ในประเด็นการพัฒนาพลังงานทดแทนของอาเซียนและเป้าหมายการเป็นแบตเตอรี่ของเอเชีย เพราะเมื่อนำพลังงานลมมาผสมกับพลังงานน้ำได้ จะช่วยระบบสายส่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งไฟฟ้าไปถึงมือผู้บริโภคได้ไกลขึ้น”

ผมถามว่าทำไมจึงไม่เริ่มทำพลังลมที่เมืองไทย คำตอบก็คือรอยยิ้มเจื่อน ๆ... อาจเพราะลมที่ลาวแรงกว่าที่เมืองไทยก็ได้กระมังครับ

อีกกรณีหนึ่งที่ผู้ประกอบไทยที่กล้านำร่อง ต้องเริ่มที่บ้านคนอื่นก่อนที่จะให้รัฐบาลไทยและคนไทยยอมรับ!

เข้าข่ายว่าคนไทยต้องไปพิสูจน์นอกบ้านว่าสำเร็จก่อน แล้วจึงเป็นที่ยอมรับของคนไทยเอง?